Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ผมก็มีความฝัน

ผมก็มีความฝัน



3 วันมานี้ผมมีนัดหมายสนทนาในวงเสวนาย่อมๆ 2 วัน; ผมมาถึงบ้างอ้อ... แต่เป็นบางอ้อที่อาจมีหลายคนหมั่นไส้ผม; เมินผมพลางเบ้ปาก; หันขวับมาโต้แย้งปากคอสั่น; หรือหนักข้อกว่านั้น คือหันหลังให้ผมแล้วเลิกพูดกันไปเลยก็ได้ อย่างที่ใน 8 เดือนมานี้มีบางคนทำไปแล้ว...

บางอ้อที่ว่าคือ เราเข้าใจแค่ไหนกับคำว่า ลัทธิการปกครองในระบอบประชาธิปไตย; ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม; ลัทธิเลือกตั้ง; เราพอจะมองออกไหมถึงความแตกต่างระหว่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน 2 ระบบ คือ "ระบบรัฐสภา" กับ "ระบบประธานาธิบดี"

ก็แล้ว "การอภิวัฒน์สยาม 2475" ตั้งใจจะสถาปนาอะไรกันละหรือ? แล้วเมื่อมาถึงตอนนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเจตนารมณ์คณะราษฎร?

ผมเขียนไว้ในหมวดบทความว่าด้วย "พุทธปรัชญาที่เป็นอเทวนิยม" ว่า "ทิฏฐิ" นั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานชี้ขาดขององค์ประกอบอีก 7 ประการส่วนที่เหลือของ "มรรค" นั่นคือผมพยายามอธิบายว่า หาก "ทิฏฐิ" เป็น "มิจฉา" เสียแล้ว อีก 7 ประการจะเป็น "สัมมา" ไปไม่ได้

การล่วงทุกข์ของบุคคลเป็นเช่นนั้นฉันใด การล่วงทุกข์ของสังคมย่อมเป็นไป เช่นนั้นด้วยฉันนั้น

ผมเสนอว่าเรามาพิจารณา "อริยสัจ 4" ของสังคมไทยกันดูทีหรือ เพื่อจะได้กำหนด "มรรค" สำหรับสังคมไทยกันเสียที...

หยุดพฤติกรรม "ตาบอดคลำช้าง" กัน ด้วยว่าไหนๆก็ประดิษฐ์วาทกรรม "ตาสว่าง" กันมาร่วมครึ่งค่อนปีกันแล้ว

ผมเคยเสวนาในวงสนทนาเล็กๆของคนเขียนหนังสือ หรือจะพูดให้เจาะจงลงไปคือคนเขียนหนังสือในสาย "สัจจสังคม" ว่า เรามาพินิจตัวเราแต่ละคนว่าเรากล้ายอมรับ "ความจริง" ส่วนตัวของเรา โดยการ "พิจารณา" ร่างเปลือยของเราเองต่อหน้ากระจกกันหรือไม่; นั่นคือ เรากล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริงตามภาพปรากฏเป็นเบื้องต้นหรือไม่ สำหรับตัวเราเอง ทุกความเป็นธรรมดา ทุกความอัปลักษณ์ และทุกๆประการที่ประกอบกันเข้าเป็น "สังขาร" ก่อนที่จะไปพิจารณา "ขันธ์" อีก 4 ประการซึ่งยากและลึกซึ้งยิ่งกว่า

"อัตตา" ของเราก็แค่นั้นแหละครับ; และเราคงก้าวไปไม่พ้นวงวัฏฏะของ "พระ ไตรลักษณ์" ได้เลย เพียงเพราะเรามัวหลงใหลได้ปลื้มกับการฝืนกฎ "อนตฺตลกฺขณ" อยู่นั่นแล้ว; ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น เราจะก้าวข้าม "อนิจฺจลกฺขณ" และ "ทุกฺขลกฺขณ" ได้อย่างไรกัน

พูดให้ถึงที่สุด เราจะล่วงทุกข์ของสังคมได้อย่างไร เมื่อเราไม่เข้าใจสภาะแห่งทุกข์ของสังคม ซึ่งย่ิอมไม่มีทางเข้าใจหนทางแห่งการล่วงทุกข์ได้อย่างจริงแท้แน่นอน

3 วันมานี้ ผมแสดงทัศนะค่อนข้างมากในวงเสวนา มีทั้งการรับฟังและอภิปราย และมีทั้งคอแข็งและตั้งแง่;  จุดอ่อนอยู่ที่ผม ที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น และน้อมใจไปสู่การรับฟัง

ผมมีเวลาปรับตัวเองมากกว่านี้อีกขนาดไหน ในเมื่อแรงไฟในเตาเผาเหล็กกำลังโหมกระพือยิ่งกว่ายุคใดสมัยใด... ข้อสำคัญผมมีเวลาให้ทำอย่างนั้น แค่ไหนกัน?

เราจะสร้างประชาธิปไตย หรือจะสางบุญคุณความแค้นส่วนตัว หลังการนองเลือด 19 พฤษภาคม 2553 เราแต่ละคนทำอะไรกันบ้างครับ... กบฏวังหลวง; กบฏแมนฮัตตัน; กบฏสันติภาพ; กรณี 6 ตุลาคม 2519; กรณีพฤษภาทมิฬ 2535; กรณีสงกรานต์เลือด 2552; กรณีล้อมสังหาร 2553; ฝ่ายประชาธิปไตยเราไปถึงไหนกันแล้วครับ... เราพูดถึงประชาธิปไตยกันแค่ไหนแล้ว

เรายังหายใจอยู่ใต้ "กฎโจร" ซึ่งเป็นผลผลิตของ "โจรกบฏ" อยู่หรือมิใช่ แล้วเรารู้สึกรู้สาอะไรบ้าง นอกจากเต้นไปตาม "กรอบ" ที่เป็นปฏิปักษ์กับ "เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรม" เราไปไกลจากจุดมุ่งหมายยิ่งขึ้นทุกที และหลายเดือนมานี้ ก็เราเองนั่นแหละ ที่ไม่เคยทบทวน "ประชาธิปไตย" ว่ามีมิติที่เป็นเป็นทั้ง "จุดมุ่ง หมาย" และ "วิธีการ" ในเวลาเดียวกัน

ผมทบทวนสุนทรพจน์ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคผิวสีผู้ยิ่งใหญ่ชาวอเมริกันที่ ว่า...

เมื่อเราลั่นระฆังแห่ง เสรีภาพ จากทุกหมู่บ้านและทุกชุมชน จากทุกรัฐและทุกเมือง นั่นหมายความว่าพวกเรานั้นเองที่ได้ปลุกเร้าลูกหลานของพระเจ้า ทั้งคนดำและคนขาว ทั้งที่เป็นชาวยิวและมิใช่ชาวยิว ทังโปรแตสแตนท์และแคทอลิก ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจักประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วขับขานถ้อยคำแห่งจิตวิญญาณเก่าแก่ของนีโกร "เสรีในที่สุด! เสรีในที่สุด! ขอบคุณพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ, สุดท้ายเราก็เป็นอิสระ"; มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, 28 สิงหาคม 1963

ด้วยความน้อมใจต่อจิตใจที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์คนเล็กๆคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ผมขออนุญาตแทนที่ความหมายบางส่วนซึ่งสอดคล้องกับความใฝ่ฝันส่วนตัวของผมเอง ลงไปในวาทกรรมอันยิ่งใหญ่ ดังนี้...

นั่นหมายความว่าพวกเรานั้นเองที่ได้ปลุกเร้าผู้คนพลเมืองของปิตุภูมินี้ ทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง ผู้คนทุกตรอกซอกซอยของมหานครและชนบททุกขอบเขตปริมณฑลของประเทศ ทุกเชื้อชาติและศาสนา ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจักประสานมือเข้าด้วยกัน แล้วขับขานถ้อยคำแห่งจิตวิญญาณเก่าแก่ในความหมายของเผ่าไทว่า "สุดท้ายแล้วเราคือไทใช่คือทาส"; รุ่งโรจน์ วรรณศูทร, 14 มิถุนายน 2010


ปรับปรุงจากโพสต์ข้อความใน facebook; ช่วงรอยต่อของวันที่ 13-14 มิถุนายน 2553
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8