Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (57)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (8)

จิตร ภูมิศักดิ์ (ขวาสุด) ในคุกลาดยาวขณะกินข้าวกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ถูกจับในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

ถนอม กิตติขจร: นายกฯ สมัยที่สี่
ก่อนและหลังรัฐประหาร 2514

ก่อนรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514: ในระหว่างรอยต่อของการขึ้นครองอำนาจในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 และสมัยที่ 4 เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญในภาคประชาชน ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือความเปลี่ยนแปลงนั้นก่อรูปขึ้นในหมู่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ที่จะว่าไปถูกจำกัดบทบาทแม้กระทั่งความรับรู้ทางการเมืองของไทยหลังกึ่งพุทธกาล ด้วยเงื่อนไขของอำนาจคณะรัฐประหารต้นพุทธศตวรรษ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ยุคมืดบอดทางปัญญา"

"อำนาจคณะปฏิวัติ" ดังกล่าวครอบครองการเมืองการปกครองและครอบงำบริบททางสังคมทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเป็นเวลาถึง 1 ทศวรรษ ผลก็คือพัฒนาการทางการเมืองของไทยตกอยู่ในภาวะชะงักงันเกือบจะโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญ หลักประกันของระบอบประชาธิปไตยที่ประกอบด้วย "รัฐธรรมนูญ" และ "สิทธิของประชาชน" ในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กลายเป็นเสมือนคำและวลี "ต้องห้าม" ไปโดยปริยาย ด้วยนโยบาย "ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก" โดยรัฐบาลคณะปฏิวัติ (หรือเรียกให้ถูกว่าคณะรัฐประหาร) ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร อันได้มาด้วยการสืบทอดต่อมาจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

บรรยากาศการรวมกลุ่มของประชาชนวงการต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย พากัน "สูญหาย" ไปจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น "พรรคการเมือง" "สมาคมกรรมกร-ชาวนา" และรวมทั้ง "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

ความบีบคั้นและนโยบาย "กวาดล้าง-จับกุมคุมขัง" ผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร ส่งผลให้บางส่วนของนักการเมือง ผู้นำกรรมกร-ชาวนา และแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ดำเนินชีวิตสนิทแนบกับคนชั้นล่าง อาทิครูประชาบาลในชนบทห่างไกลโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ตลอดจนปัญญาชน นักคิดนักเขียน ถูกผลักไสให้เดินทางเข้าร่วมกับ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)" ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมความเข้มแข็งและขยายการเติบโตแก่ขบวนการ จากประชาชนที่ "ปราศจากเสรีภาพ" และ "ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับการเอาชีวิตรอด"

จนกระทั่งนำไปสู่ "วันเสียงปืนแตก" คือวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังในนาม "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)" ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พร้อมกับการประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง"

ช่วงเวลานี้เอง ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ถูกกดดันให้เข้าร่วมกับการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และโดนฟ้องศาลในข้อหาดังกล่าว ยังศาลทหารในปี พ.ศ. 2506 ตาม พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเมื่อปี พ.ศ. 2496 ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้วในคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงตัดสินให้การกระทำเช่นนั้นไม่มีความผิดต่อไป ศาลจึงยกฟ้องคดีที่จิตรเป็นจำเลย แต่จิตรก็ถูกกักตัวไว้ที่เรือนจำลาดยาวนานถึง 8 ปี กว่าจะได้รับอิสรภาพในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508

เพียงปีถัดมา นักคิดนักเขียนสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ หรือชื่อจัดตั้งในเขตต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า "สหายปรีชา" ก็จบชีวิตลง จากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่ ตำบลบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลงเหลือเพียงตำนานของเสรีชนนักสู้กับระบอบเผด็จการ และนักคิดนักเขียนที่ยืนหยัดเคียงผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า ไร้สิทธิไร้เสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม ตราบเท่าทุกวันนี้

และดังกล่าวมาแล้ว ช่วงนี้เองที่ความร่วมมือ (?) ระหว่างไทยกับ "พี่เบิ้มโลกเสรี" สหรัฐฯ ก็พัฒนามาจนถึงจุดเข้มข้นที่สุดในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อสหรัฐอเมริกาเร่งส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นกว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ช่วงปี พ.ศ. 2509 ที่กระแสสงครามเวียดนามขึ้นสูงสุด จำนวนเที่ยวบินที่ออกจากฐานทัพไทยไปทิ้งระเบิดในเวียดนามอยู่ระหว่าง 875-1,500 เที่ยวต่อสัปดาห์ ระหว่างปี 2508-11 เฉพาะเครื่องบินจากฐานทัพโคราชและตาคลี ได้ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือมากถึง 75 ตัน ขณะที่จำนวนทหารสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 48,000 นาย ในปี พ.ศ. 2512

นอกจากนั้น บรรยากาศในหมู่นิสิตนักศึกษา "ในสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า (จอมพลสฤษดิ์)" ถือว่าตกอยู่ใน "ยุคมืดทางปัญญา" ที่กิจกรรมของนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนส่วนใหญ่ สะท้อนถึง "วัฒนธรรมยุคสายลมแสงแดด" ที่แยกตัวนิสิตนักศึกษาออกจากสภาพสังคมที่แวดล้อม กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจำกัดอยู่ในวงแคบรอบๆ และเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิง และพิธีกรรมที่ไม่ส่งเสริมให้ตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไป

จนถึงปี พ.ศ. 2508 สภาวการณ์ดังกล่าวได้มาถึงจุดอิ่มตัว เริ่มมีการรวมกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์สังคม และตั้งคำถามโดยกลุ่มนักศึกษาที่เป็น "ขบถ" ในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจาก ชุมนุมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานเขียนที่เป็นบทกวีหลากหลายรูปแบบที่มีลักษณะ "ทวนกระแส" ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระใหม่ๆ เช่นเรื่องปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรม สงคราม (ตัวแทนที่มีลักษณะจำกัดพื้นที่ในยุคสงครามเย็นของสองมหาอำนาจ สหรัฐและสหภาพโซเวียต จนกระทั่งกลายเป็นการส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงโดยตรง) และความยากจน บรรยากาศ "สายลมแสงแดด" ถูกชำแหละและเข้าสู่สภาวะ "ปฏิกิริยาแห่งยุคสมัย" แม้ว่ากิจกรรมบันเทิงรูปแบบเดิมจะยังอยู่ในฐานะครอบงำสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ก็ตาม

ในที่สุดก็รัฐบาลคณะรัฐประหารก็ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2511 กำหนดจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 หลังจากที่ว่างเว้นมาถึง 11 ปี

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครของ พรรคสหประชาไทย ที่จัดตั้งโดยจอมพลถนอม ได้รับเลือกมากที่สุดคือ 76 คนจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 219 ที่นั่ง แต่นั่นก็เพียงพอแล้วเพราะการซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทำร่วมกัน ระหว่างสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยคนของจอมพลถนอมฯ เกือบทั้งสิ้น และจอมพลถนอม ก็ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับควบ 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง

รัฐบาลชุดที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2512 นี้ มี นายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 รวมอยู่ด้วย.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (56)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (7)

ถนอม กิตติขจร - ผู้สืบทอดอำนาจหมายเลขหนึ่งของสฤษดิ์ เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในคราวกบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 ผู้ประดิษฐ์คำ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ขึ้นแทนที่ "สภาร่างรัฐธรรมนูญ"

ยึดอำนาจตนเองสู่นายกฯ สมัยที่สี่
กำเนิด "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ"


หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศในนามคณะปฏิวัติ (ทำรัฐประหารรัฐบาลตนเอง) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ต่อมาในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ก็ประกาศจัดตั้ง "สภาบริหารคณะปฏิวัติ" ที่อาจถือได้ว่าเป็นการริ่เริ่มใช้คำว่า "สภา" กับการได้มาซึ่งอำนาจรัฐด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขึ้น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ขึ้นปกครองประเทศเพื่อใช้อำนาจแทนรัฐบาล โดยจอมพลถนอมขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติโดยอัตโนมัติ (และมีข้อโต้แย้งไม่ได้) มีผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ 1. พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 2. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง 3. พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ 4. พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนพันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและลูกเขยจอมพลประภาส ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากมายในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของข้าราชการ โดยสร้างความสนใจของประชาชนด้วยการเพ่งเล็งไปที่ปราบทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทั้งนี้ ทันทีที่คณะรัฐประหาร 2514 ขึ้นบริหารประเทศ ก็ต้องเผชิญกับความเรียกร้องต้องการจากหลายฝ่ายในประเทศ ให้เร่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศให้ถูกต้องตามขั้นตอน ประจวบกับในปี พ.ศ. 2515 เป็นปีที่จะสถาปนาสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม เพราะจะจัดให้มีพระราชพิธีในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร) ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 299 คน โดยสมาชิกมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ที่สำคัญคือสมาชิกไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ มีมติเลือก พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการครองอำนาจของจอมพลถนอมก็ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ก็มีมติให้จอมพลถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และตามบทบัญญัติของธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร กำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (?) ที่ไม่เคยรักษาความเป็น "ถาวร" ไว้ได้แม้แต่ฉบับเดียวในรัฐสยาม/ไทย แม้จนปัจจุบัน
**********
หมายเหตุ:

จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า มีบทความที่เท่ากับเป็นการรับรองกระบวนการประชาธิปไตยที่ยังเป็นข้อกังขาในหมู่นักประชาธิปไตยทั่วไป (ไม่นับนิติบริกรที่รับใช้ระบอบรัฐประหาร) โดย (ชี้นำในหมู่ผู้อ่านและนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยสยามด้วยข้อมูลด้านเดียว) ยอมรับและให้ความสำคัญต่อ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (ประดิษฐ์คำขึ้นใช้แทน "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่ใช้ใน "สมัยปฏิวัติ" ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ในบทความ หัวข้อ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สถิตย์ ส่งศรีบุญสิทธิ์)" [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(สถิตย์_ส่งศรีบุญสิทธิ์)] ที่ให้ความหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้ (อย่างสวยหรู) ว่า
"สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสภาระดับชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหาร ลักษณะเป็นสภาเดียว มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งตามธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว โดยให้มีอำนาจ หน้าที่ ตามที่ธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา"
ซึ่งมีด้วยกัน 5 ชุด (ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) คือ
  1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 1 (ระหว่าง พ.ศ. 2515-2516)
  2. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (ระหว่าง พ.ศ. 2516-2518)
  3. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 3 (ระหว่าง พ.ศ. 2520–2522)
  4. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 4 (ระหว่าง พ.ศ. 2534-2535)
  5. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 5 (ระหว่าง พ.ศ. 2549–2550)
(จะได้ทยอยขยายความตามลำดับในเวลาต่อไป)
**********
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 1 พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2515 เป็นสภาที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ รัฐสภา ตามมาตรา 6 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ภายหลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ปฏิวัติรัฐบาลของตนเองแล้ว ซึ่งกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ โดยให้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติรวมจำนวนทั้งสิ้น 299 คน ทำหน้าที่รัฐสภา ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2515 - วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 โดยมี พลตรีศิริ สิริโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ระหว่าง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2516 - วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2516) นายทวี แรงขำ เป็นรองประธานคนที่ 1 และพลเรือเอก กมล สีตกะลิน เป็นรองประธานคนที่ 2

สภานิติบัญญัติฯ ชุดนี้สิ้นสุดลงโดย พระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 มีสาเหตุมาจากการเกิดเหตุการณ์มีนักศึกษาและกับประชาชนจำนวนมาก ได้ร่วมกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีนักศึกษาและประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ยังผลให้สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ขอลาออกจำนวน 288 คน เป็นเหตุให้มีองค์ประชุมไม่เพียงพอที่จะเรียกประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (55)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (6)

ผู้นำคนสำคัญในสภาบริหารคณะปฏิวัติที่ตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 34 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 จากซ้ายไปขวา พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์, พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์, ขอมพลประภาส จารุเสถียร, จอมพลถนอม กิตติขจร, นายพจน์ สารสิน, พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา

จุดจบของนายกฯ สมัยที่สาม
กับการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญ 2511


ดังได้กล่าวมาแล้ว หลังจากที่พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 มีผลบังคับใช้ในฐานะกฎหมายประกอบรัฐธรรามนูญแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ร้องขอจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ไล่มาตั้งแต่

พรรคสหประชาไทย ของนายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร?) มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค 3 คน คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และ นายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมี พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของสยามและยืนยงคงทนมาจนถึงปัจจุบัน (รอดปากเหยี่ยวปากการการยึดอำนาจของทหารมาทุกยุคทุกสมัย) จดทะเบียนใหม่ในปี พ.ศ. 2511 หัวหน้าพรรคในขณะนั้นคือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และต่อมาได้แต่งตั้ง นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นเลขาธิการพรรคฯ (26 กันยายน 2513 - 6 ตุลาคม 2518)

พรรคประชาชน จดทะเบียน พ.ศ. 2511 มี นายเลียง ไชยกาล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรคและนาย เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค (พรรคประชาชนเคยก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2490 มาแล้ว โดยนายเลียง ไชยกาล และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีก 16 คน) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งในสภา

พรรคแนวร่วม-เศรษฐกร มี นายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรคและ นายแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธิการพรรค โดยที่นโยบายและอุดมการณ์ของพรรคฯ (จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2511) นั้น ไม่ต่างไปจาก พรรคเศรษฐกร (จดทะเบียนทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดย มี นายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรคและ นายแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 พรรคเศรษฐกร ส่งผู้สมัครและได้ที่นั่งในสภา 9 ที่นั่ง โดยนายเทพหัวหน้าพรรคและนายแคล้วเลขาธิการพรรคก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภา 7 ที่นั่ง) คือสนับสนุนแนวความคิดแบบสังคมนิยม และในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 พรรคแนวร่วม-เศรษฐกรได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ปรากฎว่าทางพรรคได้ที่นั่งในสภาเพียง 4 ที่นั่งและตัวนายเทพหัวหน้าพรรคเองก็ยังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ

พรรคเสรีประชาธิปไตย มี นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคแนวประชาธิปไตย มี นายไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา มี พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคชาวนาชาวไร่ มี นายไพบูลย์ อารีชน เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคสยามใหม่ มี พลตรีกระแส เสนาพลสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคประชาพัฒนา มี ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์วีรพงศ์ ทองแถม เป็นหัวหน้าพรรค

พรรคแรงงาน จดทะเบียนก่อตั้งพรรคในปี พ.ศ. 2511 มี นายกาฬ เชื้อแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและ นายวีระ ถนอมเลี้ยง เป็นเลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 พรรคแรงงานส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแต่ไม่ได้ที่นั่งในสภาแม้แต่ที่นั่งเดียว; พรรคอิสรธรรม จดทะเบียนก่อตั้งพรรคในปี พ.ศ. 2511 มี หลวงชัยสุภา (ส่วน ภมรศิริ) เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคชาติประชาธิปไตย (พ.ศ. 2499) จดทะเบียนใหม่ พ.ศ. 2512 พันเอก หม่อมราชวงศ์น้ำเพชร เกษมสันต์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นต้น

ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านและมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มีเพียงสองพรรค คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นเป็นพรรคขนาดเล็กซึ่งหาได้มีฐานในทางการเมืองเข้มแข็งเท่าสองพรรคแต่อย่างใดไม่

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1512 เป็น การเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งโดยตรง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนทั้งหมด 219 คน มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 14,820,180 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 7,285,832 คน คิดเป็นร้อยละ 49.10 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง คิดเป็นร้อยละ 73.95 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และจังหวัดพระนครมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.66

ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมากส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครครบทุกที่นั่งมีเพียง 2 พรรคเท่านั้น คือ พรรคสหประชาไทยและพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งผลการเลือกตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง นั่นคือต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 219 คน ซึ่งเท่ากับ 110 คนขึ้นไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกเข้ามามากถึง 70 คน อย่างไรก็ตาม พรรคสหประชาไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด เนื่องจากพรรคนี้เป็นพรรครัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรค และสมาชิกที่แปรพรรคมาให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (เป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก) แต่การบริหารประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร สมัยที่ 3 นี้ หาได้ "ราบรื่น" เช่นในสมัยที่เป็นรัฐบาล "คณะปฏิวัติ" ต้องเผชิญปัญหาหลายประการ อาทิ ร่างกฎหมายให้ถ่ายทอดเสียงการประชุมรัฐสภา ต่อมาได้มีสมาชิกกลุ่มหนึ่งเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ และเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ซึ่งแม้จำดำเนินการเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ แต่ต่อมาได้มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทสลาออกจากตำแหน่ง จึงทำให้คะแนนของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เริ่มลดน้อยลงเพราะไม่อาจแก้ปัญหาภายในที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปได้ โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2515 เกิดปัญหา "แบ่งเค้ก" ไม่ลงตัว เกิดการ "ตีรวน" และ "โรคเลื่อน" จนถูกโจมตีจากพรรคฝ่ายค้านรวมถึง ส.ส. บางกลุ่มของรัฐบาลที่ไม่พอใจ ลุกลามมีแนวโน้มว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่านสภาฯ

และตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ (ที่ยกร่างมาเอง) นั้น รัฐบาลจะต้องลาออกทันที หรือต้องยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งห้วงนั้นความนิยมรัฐบาลจอมพลถนอมตกต่ำลงมากในทุกด้าน หากรัฐบาลลาออกหรือยุบสภาก็ไม่อาจมีหลักประกันว่าจอมพลถนอมจะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 ได้อีก ดังนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จึงตัดสินใจทำรัฐประหาร (แต่เรียกปฏิวัติอีกจนได้) ยึดอำนาจการปกครองของตนเอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 รวมถึงยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ที่ยกร่างมาตั้งแต่การรัฐประหารช่วงกึ่งพุทธกาลและมาสเำร็จ ประกาศใช้ในสมัยการปกครองจากการรัฐประหารของตนเอง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (54)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (5)

สถานะและบทบาทสำคัญ (ในการอภิแรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล) ของวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8

เส้นทางสู่นายกฯ สมัยที่สาม
ภายใต้ "รัฐธรรมนูญ 2511" (ต่อ)

ปมเงื่อนที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจที่ใกล้เคียงกับความ "เบ็ดเสร็จเด็ดขาด" ของ "คณะปฏิวัติ (คณะรัฐประหาร)" ใน "รัด-ทำ-มะ-นูนฯ-2511" คือ การกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจค่อนข้างมาก นอกจากจะสามารถยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ยังมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารได้เท่ากับสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือการเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ว่าด้วย "สมาชิกวุฒิสภา"
ตาม "รัด-ทำ-มะ-นูนฯ-2511"

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 กำหนดให้รัฐสภาเป็นระบบสองสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กล่าวคือ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร (ตามที่คณะรัฐมนตรีนำขึ้นกราบบังคมทูล ถวายเพื่อทรงเห็นชอบและลงพระปรมาภิไธย?) วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี แล้วให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามอัตราส่วนประชากร 150,000 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทน 1 คน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจค่อนข้างมาก กล่าวคือ นอกจากจะสามารถยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว ยังมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารได้เท่ากับสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือการเสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 เวลา 19.00 นาฬิกา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้เชิญสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกรรมาธิการของสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดมารับประทานอาหารร่วมกัน ณ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อฉลองความสเร็จในการปฏิบัติภารกิจลุล่วงตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหาร หรือกล่าวให้ถึงที่สุดของผู้นำในการรัฐประหาร ที่เรียกตัวเองว่า "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" และแสดงความยินดีในการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จนเสร็จสิ้นลง

หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 แล้ว ในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2511 จึงได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 120 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภา [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title==การเลือกตั้ง_ส.ส._และการแต่งตั้ง_ส.ว._ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย_พ.ศ._2511]

การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในการประกาศใช้ "รัด-ทำ-มะ-นูน" ฉบับนี้ แบ่งเป็นสามช่วง เนื่องจากมีการแต่งตั้งเพิ่มเติมอีก 2 กรณี

สำหรับรายชื่อที่น่าสนใจแยกตามประเภท "อาชีพ" ของสมาชิกวุฒิสภา พอจะคัดแยกมาได้ดังนี้ (เรียงตามลำดับพยัญชนะ)

ทหารบก: พลโท กฤษณ์ สีวะรา, พลตรี เกรียงไกร อัตตะนันท์, พลโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลโท จำเป็น จารุเสถียร, พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์, พลโท โชติ หิรัญยัษฐิติ, พลโท บุญชัย บำรุงพงศ์, พลตรี ประจวบ สุนทรางกูร, พลตรี ประเสริฐ ธรรมศิริ, พลโท ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, พันเอก เปรม ติณสูลานนท์, พลตรี ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พลโท สายหยุด เกิดผล, พลเอก สุรกิจ มัยลาภ, พันเอก อรุณ ทวาทศิน ฯลฯ

ทหารเรือ: พลเรือตรี กมล สีตกะลิน, พลเรือโท กวี สิงหะ, พลเรือโท เฉิดชาย ถมยา, พลเรือเอก ถวิล รายนานนท์, พลเรือโท สงัด ชลออยู่ ฯลฯ

ทหารอากาศ: พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ, พลอากาศเอก บุญชู จันทรุเบกษา, พลอากาศเอก หะริน หงสกุล ฯลฯ

ตำรวจ: พลตำรวจตรี ชุมพล โลหะชาละ, พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ ยมนาค, พลตำรวจโท พจน์ เภกะนันท์, พลตำรวจโท พิชัย กุลละวณิชย์, พลตำรวจโท เยื้อน ประภาวัต, พลตำรวจตรี ศรีสุข มหินทรเทพ, พลตำรวจตรี สง่า กิตติขจร ฯลฯ

พลเรือน: หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายถวิล สุนทรศารทูล, หม่อมราชวงศ์ทองแท่ง ทองแถม, นายบุญรอด บิณฑสันต์, นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, นายพ่วง สุวรรณรัฐ, นายวิทย์ ศิวะศริยานนท, นายสุวรรณ รื่นยศ

ทั้งนี้โดยมี พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) อดีตประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานวุฒิสภา และพระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และครวญ สุทธานินท์ฅพลเอก ครวญ สุทธานินท์ เป็นรองประธานสภาคนที่ 2

แต่หลังจากในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้ผู้แทนฯ จำนวน 219 คน จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มเติมอีก 44 คน รวมเป็น 164 คน เพื่อให้มีจำนวนเท่ากับ 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 รายชื่อผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ (เรียงลำดับตามพยัญชนะ ไม่จำแนกอาชีพ)

พลโท เจริญ พงษ์พานิช, นายเฉลิม วุฒิโฆสิต, นายดุสิต พานิชพัฒน์,พลเอก เต็ม หอมเศรษฐี, พันเอก เทียนชัย ศิริสัมพันธ์, นายประหยัด เอี่ยมศิลา, จอมพล ผิน ชุณหะวัณ, พลตรี ไพฑูรย์ อิงคตานุวัฒน์, นายสุริยน ไรวา, พลโท เสริม ณ นคร, พันเอก แสง จุละจาริตต์, พันโท อำนวย ไชยโรจน์, นายโอสถ โกศิน ฯลฯ

ต่อมาเนื่องจากมีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 6 คน ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นไป ประกอบด้วย นายมนูญ บริสุทธิ์, พลตำรวจโทพิชัย กุลละวณิชย์, พลโทแสวง เสนาณรงค์, นายถวิล สุนทรศารทูล, พลเอก กฤษณ์ ศรีวะรา และหม่อมราชวงศ์ ทองแท่ง ทองแถม

ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2512 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพิ่ม 6 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลง ดังนี้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, พลอากาศโท มุนีมหาสันทนะเวชยันตรังสฤษดิ์, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล, พลตรี ชาญ อังศุโชติ และนายสนิท วิไลจิตต์
*****
ประเด็นที่น่าที่จะติดตามสำหรับการวิเคราะห์การเมืองไทยหลังกึ่งพุทธกาล ซึ่งเริ่มต้นด้วยการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือการสืบทอด/ผ่องถ่ายอำนาจทางการเมืองของกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกเป็นสำคัญ จะเห็นว่า "ตัวละครหลัก" ที่ยืนยงคงทนมาเป็นลำดับนั้น อาจถือว่าเป็นบุคคลระดับ "กุญแจ" ไขปริศนา "ระบอบ" และ "ระบบ" เสียยิ่งกว่าการวิเคราะห์เชิงชี้นำอย่างสิ่งที่เรียกว่า "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์" เป็นไหนๆ.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (53)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (4)

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย 2 คนสุดท้าย ที่ครองยศจอมพล

เส้นทางสู่นายกฯ สมัยที่สาม
ภายใต้ "รัฐธรรมนูญ 2511"

สำหรับการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของ จอมพลถนอม กิตติขจร - ซึ่ง - มีที่มาจากการเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512) นั้น จำเป็นต้องย้อนกล่าวถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้เวลายกร่างนานที่สุดในโลก (ใช้เวลายาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511)

เมื่อมีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เองเรียกว่า "ระบอบปฏิวัติ" เนื่องจากเป็นระบอบที่อาศัยรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 240 คน ที่แต่งตั้งมาจากทหารและข้าราชการประจำเกือบทั้งหมด ทำให้หัวหน้าคณะปฏิวัติสามารถควบคุมการทำงานของสภาฯ ได้เกือบจะ 100 เปอร์เซนต์ จึงจัดตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเป็นสภานิติบัญญัติไปพร้อมกัน

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้นับเป็นชุดที่ 2 จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 (เป็นของคณะปฏิวัติ โดยคณะปฏิวัติ เพื่อ...) ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน โดยมีประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และและมีรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และนายทวี บุณยเกตุ และก็สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เอง ที่ทำหน้าที่ในการเลือก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวนอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้นอีกด้วย แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน ในเวลาต่อมามีการเลือกตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือ นายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 เนื่องจากการอสัญกรรมของพลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
*****
หมายเหตุ:

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1 จัดตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ต่อสภา เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 4 ประเภท ๆ ละ 5 คน คือ 1) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน (ประเภททั่วไป) 2) ผู้ที่ดำรง หรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือเทียบเท่า 3) ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี 4) ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และยังกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 จากนั้นดำเนินการเปิดการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต โดยที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2492 เสนอโปรดเกล้าและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492
*****
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 คณะปฏิวัติประกาศตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 240 คน เป็นสภาทหารและข้าราชการเกือบทั้งหมด มีนายทหารประจำการเป็นสมาชิกสภาฯ มากถึง 150 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารบก 104 คน เหตุที่ทหารบกเป็นสมาชิกสภาฯ มากกว่าเหล่าทัพอื่น เพราะเป็นกำลังหลักของการทำรัฐประหาร โดยเฉพาะนายทหารจากกองพลที่ 1 อันเป็นฐานกำลังที่สำคัญที่สุดในสายบังคับบัญชากองทัพบกไทยอันมีที่ตั้งอยู่ที่จดยุทธศาสตร์สำคัญของพระนครมาทุกยุคทุสมัย นับเป็นการสืบทอดประเพณี "ปูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึก" อย่างมีนัยสำคัญของการรัฐประหารในประเทศไทยหลังกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา

[สำหรับฉายา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ของจอมพลสฤษดิ์ มีที่มาจากการเป็นอาภรณ์เพียงชิ้นเดียวสำหรับต้อนรับ สาวแก่แม่ม่าย (ผู้มักจะได้รับการปรับสถานภาพเป็น อนุภรรยา ในเวลาต่อมา) ที่คนสนิทพามาพบที่ วิมานสีชมพู อันเป็นบ้านพักหลังกองพล 1 หรือกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) ซึ่ง จอมพล 3 คนสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย เคยมาเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น คือ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2491-2493) [ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 อีกตำแหน่งหนึ่ง และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2497] พลตรี ถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2493-2495) และ พลตรี ประภาส จารุเสถียร (พ.ศ.2495-2500)

ต่อมาเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญร่งรัฐธรรมนูญเสร็จ ผ่านการลงมติเห็นชอบ (เขียนเอง รับเอง) จึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 และได้มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 นอกจากนั้น ยังได้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และ พระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นระบบสองสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กล่าวคือ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี แล้วให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามอัตราส่วนประชากร 150,000 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทน 1 คน

และการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในคราวนั้น มีข้อบ่งชี้ทางการเมืองสืบเนื่องมาอีกนานแสนนาน.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (52)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (3)

นักรบ (ทหาร) กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ในค่ายแห่งหนึ่ง (ไม่ทราบที่ตั้งและปีที่ถ่าย)

นายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง
ผ่องถ่ายอำนาจคณะปฏิวัติ (?)

ในบทความ "ถนอม กิตติขจร (ปรียวรรณ สุวรรณสูนย์)" ในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า [https://bit.ly/2NaFgrD] เขียนถึงการดำรงตำแหน่งนากรัฐมนตรีของจอมพล ถนอมกิตติขจร ตรั้งที่สองไว้เพียงสั้นๆ: 

การอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ถือว่าเป็นสมัยที่ 2 โดยในช่วงนี้จอมพลถนอม กิตติขจร มีอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารอย่างแท้จริง ประกอบกับระยะเวลาผ่านมา 5 ปี ที่อยู่ในทางการเมืองจึงมีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ได้พยายามดำเนินนโยบายเจริญรอยตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ภายหลังการทำรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 (ฉบับที่ 8) ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลจึงได้รักษาการในระหว่างรอการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 เป็นวันเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักรไทย 

ดังนั้น เพื่อเตรียมตัวในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2511 คือ พรรคสหประชาไทย โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคสหประชาไทยนับเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นหลังจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ถูกยุบไปเมื่อคราวที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยสมาชิกพรรคสหประชาไทยส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเดิมสมัยมี พรรคเสรีมนังคศิลา เรื่อยมาจนถึง พรรคสหภูมิ และ พรรคชาติสังคม ผลจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มี ส.ส. จากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ ดังนี้ สหประชาไทย 76 คน ประชาธิปัตย์ 57 คน แนวร่วมเศรษฐกร 4 คน แนวประชาธิปไตย 7 คน ประชาชน 2 คน เสรีประชาธิปไตย 1 คน ชาวนาชาวไร่ 1 คน และไม่สังกัดพรรค 71 คน รวมทั้งสิ้น 219 คน แม้พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกเข้ามามากที่สุดถึง 76 คน แต่จะต้องมีสมาชิกสนับสนุนกึ่งหนึ่งคือ ต้องเกิน 109 เสียงขึ้นไปจึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรคทั้ง 71 เรื่อง การดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลและกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของจอมพลถนอม กิตติขจร จึงประสบความสำเร็จโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จึงได้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2512 [ธนากิต (นามแฝง). "ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย". กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด, 2545, หน้า 227-229.] 
***** 
ในทัศนะของผู้เขียน ห้วงระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ ของการครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เต็มเวลา) แห่งราชอาณาจักรไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร จากปี พ.ศ. 2506 ถึงปี พ.ศ. 2516 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีความสัมพันธ์ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองภายในประเทศ 5 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ

1. การส่งกำลังทหาร (แม้จะใช้ชือกองพลอาสาสมัคร แต่ก็มีสายบังคัญชาของนายทหารอาชีพ/ประจำการ) เข้าสู่สมรภูมิสงครามเวียดนาม (สมัยใหม่) ร่วมกับพันธมิตรที่นำโดย "มหามิตร" สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2506 [เขียนถึงไว้แล้วใน โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 พฤษภาคม 2558 (ฉบับที่ 515)]

2. พรรคคอมมิวสต์แห่งประเทศไทยประกาศยกระดับการต่อสู้กับรัฐบาลไทย เป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ "วันเสียงปืนแตก" [ได้เขียนถึงจุดกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไว้โดยสังเขปใน โลกวันนี้ เริ่มจากฉบับวันสุข 6-12 กันยายน 2557 (ฉบับที่ 480) - ฉบับวันสุข 20-26 กันยายน 2557 (ฉบับที่ 482)] ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก กองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เหตุเกิดที่บ้านนาบัว ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. เริ่มจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งโดยทั่วไปถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีความยากจนค่นแค้นมากที่สุดของประเทศ ต่อมาจึงมีการขยายเขตปฏิบัติการทางทหารไปทางภาคเหนือตอนบน ติดกับประเทศพม่า

สำหรับ "วันเสียงปืนแตก" เป็นวันที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการล้อมปราบ และ พคท.ได้ใช้กำลังอาวุธ ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่เป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ซึ่ง พคท. ถือว่าเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชน ซึ่งในช่วงแรกยังจำกัดพื้นที่อยู่แค่บริเวณเขตงานภาคอิสาน ส่วนพื้นที่ในภาคอื่น ๆ ในขณะนั้น เป็นเพียงเป้าหมายต่อไปในการกวาดล้างปและจากเหตุการณ์ปะทะที่ "เราเสียสหายคนหนึ่ง ศัตรูชั้นนายสิบตำรวจตาย 1 คน นายพันตำรวจโทขาหัก 1 คน นี่เป็นกรณีใหญ่ ข่าวดังไปทั่วประเทศ ศัตรูได้รู้แน่ชัดว่าพรรคคอมมิวนิสต์เตรียมต่อสู้ด้วยอาวุธ" เอกสารภายในของฝ่ายนำพรรคคอมมิวนิสต์ เรื่อง "ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา" ของ วิรัช อังคถาวร หนึ่งในผู้นำระดับสำคัญของพรรคฯ [ดู ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1, มกราคม 2546, หน้า 188]

จากนั้นในเวลาต่อมา ภาคใต้จึงมีการ "แตกเสียงปืน" ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2509 และ ภาคเหนือ "แตกเสียงปืน" ในปี พ.ศ. 2511 แต่ทาง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็น "วันเสียงปืนแตก" และเป็น "วันกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย" พร้อมกับประกาศ ยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมืองในที่สุด"

3. การประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512)

4. การรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ตัวเอง) นำโดยจอมพลถนอม กิติขจร (นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง) มีการยุบสภา และยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าใช้เวลายกร่างยาวนนานที่สุดในโลก

5. การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ที่นำโดยปัญญาชน นิสิตนักศึกษา และประชาชน รัฐบาลคณะปฏิวัติดำเนินการจับกุม มีการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว จนกระทั่งนำไปสู่ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ที่ยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (51)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (2)

จอมพลรุ่นสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย (จากซ้ายไปขวา) ประภาส จารุเสถียร, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจรร 

จากผู้บังคับหมวดก่อนการอภิวัฒน์สยาม
สู่วีรกรรมสำคัญในการปราบกบฏวังหลวง (ต่อ
)

ชื่อ พ.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศในเวลานั้น) โดดเด่นขึ้นมาในท่ามกลางนายทหารรุ่นถัดจากคณะผู้ก่อการฯ 2475 ในการบุกโจมตีพระบรมมหาราชวังในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นั้นเอง

หลังจากเกิดการปะทะกันหลายจุดระหว่างกองกำลังฝ่ายก่อการกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาล (จากการยึดอำนาจสองครั้ง) และประมาณเวลา 24.00 น. ฝ่ายก่อการได้เปิดฉากยิงเข้าไปใน ร.พัน 1 ทหารรัฐบาลเสียชีวิตและบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง เกิดการยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ ฝ่ายรัฐบาลพยายามเจรจาให้ฝ่ายก่อการวางอาวุธและถอนกำลังจากพระบรมมหาราชวัง แต่การเจรจาล้มเหลว

ในที่สุด พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อำนวยการปราบปรามการกบฏ ตัดสินใจใช้กำลังเข้าบุก โดยมีคำสั่งให้ พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ ผบ.กรมรบ และ พ.ท.ถนอม กิตติขจร ผบ.ราบ 11 เตรียมนำรถถังการ์เด้นลอยด์ หรือที่เรียกกันว่า "อ้ายแอ้ด" บุกเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ส่วนทางทหารรัฐบาลสังกัด ร.พัน 1 สวนเจ้าเชต เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และล้อมพระบรมมหาราชวังไว้อีกทางหนึ่ง เตรียมบุกเข้าไปประตูสวัสดิโสภา ครั้นรุ่งเช้า ทหารรัฐบาลบุกเข้าทุกทางตามแผน จุดปะทะที่หนักที่สุดเป็นด้านประตูวิเศษไชยศรี รถถังเคลื่อนตัวเข้าไปหลายคัน โดยมีทหารราบประกบตามไปด้วย ฝ่ายกบฏต้านด้วยบาซูก้า รถถังคันหนึ่งถูกยิงเข้าอย่างจังไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ทำให้ทหารราบถึงกับชะงัก พ.ท.ถนอม กิตติขจร ต้องสั่งการให้รถถังวิคเกอร์อาร์มสตรองวิ่งเข้าชนบานประตูจนเปิดออก ปืนกลรถถังไล่ยิงกราด ทหารราบขยายปีกหาที่กำบังยิงเข้าใส่อย่างดุเดือด สุดที่พลพรรคฝ่ายก่อการจะต้านไว้ได้ เรือเอกวัชรชัยตัดสินใจดึงนายปรีดีหนีออกทางประตูราชวรดิษฐ์ โดยที่ฝ่ายทหารเรือช่วยพาหนีอีกทอดหนึ่ง

จนกระทั่ง 09.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พล.ร.ต.ประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดการเจรจาหยุดยิง ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการสู้รบกันในเวลา 10.15 น. ก่อนจะเคลื่อนกำลังกลับเข้าสู่ที่ตั้งของตน.
*****
และนั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ล้ำลึกในเวลาต่อมาระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ จอมพลถนอม กิติขจร ในเวลาต่อมา จนถึงกับ "จับพลัดจับผลู" เป็นทายาททางการเมืองที่สืบทอดอำนาจ "คณะปฏิวติ" พ.ศ. 2500 ไปในที่สุด

ที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากอำนาจทางทหารของนายทหารระดับสูงของกองหัพไทย โดยเฉพาะกองทัพบก ที่เป็นหลักสำคัญในการ "รัฐประหาร" ยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง รวมทั้งรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอีกต่อหนึ่ง คือย่างก้าวในการเข้ามาสู่แวดวงอำนาจทางการเมือง

เส้นทางจากทหารอาชีพสู่ทหารการเมือง

พล.ต.ถนอม กิตติขจร (รองแม่ทัพกองทัพที่ 1) ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494 ต่อมาเข้าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 7) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2498 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 8) อีกครั้งหนึ่ง

ครั้นเกิดเหตุการณ์การเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 อันนำไปสู่การกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.สิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พล.ท.ถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ท.ประภาส จารุเสถียร และพล.อ.ท.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2508 ตามมาด้วยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลาออกจากสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยพล.ท.ถนอม กิตติขจร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ประจำการอีก 40 กว่านายลาออกตามไปด้วย

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก นำคณะทหารจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยได้มอบหมายให้นายพจน์ สารสิน มารั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งที่ 8) ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 คณะรัฐมนตรีชุดขัดตาทัพจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500

หลังการเลือกตั้งพรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้การสนับสนุน แม้จะมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44 เสียง แต่ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับปรารถนาที่จะรวมสมาชิกทั้ง 2 ประเภท (สมาชิกประเภท 2 คือสมาชิกแต่งตั้ง) เข้าด้วยกัน จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือ พรรคชาติสังคม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคชาติสังคมมี ส.ส. ในสังกัด 202 คน มาจากพรรคสหภูมิที่ยุบไป 44 คน รวมกับ ส.ส. ประเภทที่ 1 จากพรรคต่าง ๆ และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาเข้าพรรคด้วย เมื่อมีจำนวนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง พรรคชาติสังคมจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นหัวหน้ารัฐประหาร ได้ประกาศว่าจะไม่ยอมรับตำแหน่งทางการเมือง ขอคุมกำลังทางทหารด้านเดียว ประกอบกับมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของประเทศไทย คือ พล.ท.ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร

นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลโทถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศ ซี่งในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของพลโทถนอมนี้ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร เพราะนอกจากต้องต่อสู้กับเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. บางคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคแล้ว ซึ่งบางส่วนเป็นอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา ที่เคยให้การสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในอดีต อีกทั้งยังประสบปัญหาในพรรค (ในอาณัติของจอมพลสฤษดิ์) เองที่เกิดจากการยุบรวม พรรคสหภูมิ มาอยู่กับ พรรคชาติสังคม แม้จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ความวุ่นวายก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางกลับจากการรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา และเข้ายึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพล.ท.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (?) ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ และผลที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ก้าวออกมาจากหลังฉากขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ให้พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นรองนายกรัฐมนตรี (แต่งตั้งโดยอำนาจคณะรัฐประหารครั้งที่ 2 จากนากยกรัฐมนตรีเลือกตั้งใต้อำนาจคณะรัฐประหารครั้งที่ 1 ที่มีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นคนคนเดียวกัน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 1 [https://bit.ly/2NaFgrD]

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน


หมายเหตุ บรรยายภาพเพิ่มเติม: 3 จอมพลรุ่นสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย (จากซ้ายไปขวา) ประภาส จารุเสถียร (พ.ศ. 2516 รับพระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ) สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2499 รับพระราชทานยศจอมพล; พ.ศ. 2502 รับพระราชทานยศจอมพลเรือ จอมพลอากาศ) ถนอม กิตติขจร(พ.ศ. 2507 รับพระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ)

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (50)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (1)

กบฏวังหลวงเกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ระหว่างรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม กับ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" ซึ่งเป็นการรวมตัวของฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์

จากผู้บังคับหมวดก่อนการอภิวัฒน์สยาม
สู่วีรกรมมสำคัญในการปราบกบฏวังหลวง

จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายทหารที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาจากสถาบันการทหารสมัยใหม่นอกประเทศ (ในยุโรป) และไม่ได้มีบทบาทระดับนำในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยตรงในปีพุทธศักราช 2475 นั่นคือ ในครั้งที่เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก นนร.ถนอม ย่อิมไม่เคยผ่านประสบการณ์กองทัพแบบตะวันตก ในท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากราชาธิปไตยสู่ประชาธิปไตยในยุโรป เช่นที่ผู้นำคนสำคัญๆ ในคณะราษฎรสายทหาร ซึ่งอาจมีผลต่อ "จิตสำนึกในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ" เช่นที่มีอยู่ในผู้ก่อการฯ ระดับผู้นำ

สังเขปชีวิตของจอมพลถนอม กิตติขจร ลำดับได้ดังนี้ [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ถนอม_กิตติขจร_(ปรียวรรณ_สุวรรณสูนย์)]

จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ณ บ้านหนองพลวง อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นบุตรขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กับนางโสภิตบรรณารักษ์ (ลิ้นจี่ กิตติขจร) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนประชาบาล วัดโคกพลู จังหวัดตาก หลังจากนั้น ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อย ชั้นเตรียม 1 ข. โรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในช่วงปี พ.ศ. 2463-2472 และในระหว่างรับราชการได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนแผนที่ทหาร กองทัพบก ในช่วงปี พ.ศ. 2474-2477 โรงเรียนทหารราบ กองทัพบก ในปี พ.ศ. 2481 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นที่ 1) กระทรวงกลาโหม ในปี พ.ศ. 2498 สมรสกับท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร มีบุตร ธิดารวมทั้งสิ้น 6 คน ในด้านการรับราชการนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวด กรมทหารราบที่ 8 กองพันที่ 1 พ.ศ. 2472-2474 (ยศร้อยตรี) และได้เติบโตในหน้าที่ราชการโดยลำดับ คือ นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนแผนที่ พ.ศ. 2474-2477 นายทหารประจำแผนกวางโครงหลักฐาน กรมแผนที่ พ.ศ. 2477 นายทหารประจำ กองบัญชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2478 ครูแผนกวิชาการ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2479-2481 นายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนทหารราบ พ.ศ. 2481 ครูแผนที่ กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2482-2484 ผู้บังคับกองร้อยปืนกลหนัก ร.พัน.34 พ.ศ. 2484-2486 อาจารย์แผนกที่ 2 กรมยุทธศึกษาทหารบก พ.ศ. 2486-2489 อาจารย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2489-2490 ผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองการปกครอง โรงเรียนนายร้อยทหารบก พ.ศ. 2490 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 พ.ศ. 2490-2491 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 พ.ศ. 2491-2492 รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พ.ศ. 2492 ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 พ.ศ. 2493 รองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. 2494 แม่ทัพภาคที่ 1 พ.ศ. 2497 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2500 รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2502 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก พ.ศ. 2506 โดยได้รับยศทางทหารสูงสุดคือยศ จอมพลคุมสามเหล่าทัพ ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดยุคนั้น

ในปี พ.ศ. 2492 นั้นเอง ที่ พันโทถนอม ได้ฉายแววความเป็น "นายทหารคู่ใจ" ของพลตรีสฤษดิ์ เมื่อเกิด "กบฏวังหลวง" ขึ้น

ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ลอบกลับเข้าประเทศหลังจากที่ลี้ภัยไปเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากดำเนินการติดต่ออย่างลับๆมาก่อนหน้า เพื่อรวบรวมกำลังอันประกอบด้วยกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" โดยตั้งกองบัญชาการในเขตทหารเรือที่วัดบ้านเขาชลบุรี ซึ่งในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพาเคยเป็นที่ซ่องสุมกำลังของเสรีไทย แต่ปฏิบัติการที่ประกอบด้วยกำลังจากหลายฝ่ายมีอันต้องรั่วไหลไปถึงหูตาของฝ่ายรัฐบาลได้ จนเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าก่อนวันก่อการถึง 3 วัน

เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีนำกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยประมาณ 60 คน รวบรวมเอาอาวุธที่สะสมไว้ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นเมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา เข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ ทั้งนี้นายทหารเรือซึ่งสนับสนุนนายปรีดี ก็มี พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ, พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินสัตหีบ, พล.ร.ต.ชาลี สินธุโสภณ ผู้บัญชาการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งจะนำทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบเข้ากรุงเทพฯ นอกจากนี้กลุ่มเสรีไทยตามภาคต่างๆเข้าสมทบกับกองกำลังฝ่ายก่อการอีกด้วย

เวลาประมาณ 20.00 น. เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ยกกองกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยติดอาวุธออกจากธรรมศาสตร์ไปยังพระบรมมหาราชวัง จู่โจมควบคุมตัว ร.ท.พร เลิศล้ำ นายทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับปลดอาวุธทหารรักษาการ นอกจากนั้นยังจัดกำลังเตรียมสนับสนุนไปตั้งมั่นที่กองสัญญาณทหารเรือ ตำบลศาลาแดง อีกหน่วยหนึ่งไปตรึงกำลัง ร.พัน 1 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิท่าเตียน)

เวลา 21.00 น. กลุ่มเสรีไทยในชุดเครื่องแบบทหารสื่อสารตรงไปยึดสถานีวิทยุพญาไทบังคับเจ้าหน้าที่กระจายข่าวออกแถลงการณ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ (ข้ออ้างฝ่ายก่อการ) ให้ปลด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากนายกรัฐมนตรีและปลดคณะรัฐมนตรีทุกคน แต่งตั้ง นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว

นอกจากนั้น ฝ่ายก่อการยังได้แต่งตั้งให้ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, พล.ร.ท.หลวงสินธุสงครามชัย ผบ.ทร. เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพใหญ่, พล.ร.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่, พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก นอกจากนี้ยังปลด พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ., พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผบ.ทบ., พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการสันติบาล ให้ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ให้ พล.ร.ท.สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วประเทศ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และปลด พล.ต.ท.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ออกจากตำแหน่ง ย้าย หลวงอุตรดิตถาพิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี มาประจำอยู่กระทรวง ให้ น.ท.ประดิษฐ์ พูลเกษม ผู้บังคับกรมนาวิกโยธิน เป็นข้าหลวงฯแทน ฝ่ายก่อการฯ ยังได้ประกาศห้ามมีการเคลื่อนไหวและ/หรือเคลื่อนย้ายกำลังทหารทุกหน่วยจากที่ตั้งเด็ดขาด นอกจากจะได้รับคำสั่งจากแม่ทัพใหญ่ พล.ร.ท. หลวงสินธุสงครามชัย

จนถึงเวลาดังกล่าว ดูเหมือนฝ่ายก่อการฯ จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง รัฐบาลก็ตั้งตัวติด พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปรามการกบฏ และเริ่มยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้เป็นลำดับ.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23-29 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (49)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(18)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงป่วยหนักใกล้วาระสุดท้ายในปี พ.ศ. 2506

ฉากจบและควันหลงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
บนเส้นทางการยึดอำนาจและรัฐบาลคณะปฏิวัติ

ชีวิตทางการเมืองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่รับหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวด (ยศร้อยตรี) ของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรในคราวปราบกบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2476 จนเข้าร่วมการรัฐประหารขณะที่ครองยศพันเอก ที่นำโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัน ในปี พ.ศ. 2490 ตามมด้ด้วยการได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนถือเป็น "มือขวา" และจอมพล ป. เป็นเจ้าภาพแต่งงานให้ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. ในงานพิธีมงคลสมรสของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ต่อเนื่องมาจนป่วยและเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ซึ่งนอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีฐานะเป็น "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศไทย

ในช่วงการปกครองและการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต่อมาได้รับฉายาว่า "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ประกาศกร้าวในบริบทการใช้ "อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ (และคงเป็นวาทกรรมที่ผู้เผด็จอำนาจหลายคนในเวลาต่อมาอาจถึงขั้น "โหยหา" แต่ "ทำไม่ได้") ว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว"

ทั้งนี้ ดังได้กล่าวมาแล้ว "หัวใจ" ของการใช้อำนาจที่ว่านั้น อยู่ที่ "มาตรา 17" แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่ง นอกเหนือจากการใช้ในลักษณะ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หรือ "หาเสียง" กับประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลางในมืองที่ต้องการวิถีชีวิตที่ "ราบเรียบ" และสามารถทำมหากิน ไต่เต้าฐานะตำแหน่ง และสะสมโภคทรัพย์กันได้อย่างราบรื่นแล้ว ยังนำมาใช้เพื่อกวาดล้างทำลายศัตรูทางการเมือง เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ไม่ให้สามารถตรวจสอบกลุ่มผู้กุมอำนาจการปกครอง ตลอดจนการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยภาพรวม [https://bit.ly/39Uqnmf: ศรีพนม สิงห์ทอง, "6 จอมพลไทยยุคระบอบประชาธิปไตย". กรุงเทพฯ : มติชน.]

ยิ่งไปกว่านั้น "นโยบายปราบคอมมิวนิสต์" ของรัฐบาลสฤษดิ์ เปิดโอกาสให้มหามิตร "พี่เบิ้มโลกเสรี" สหรัฐฯ เข้ามาสร้างและขยายปรับปรุงฐานทัพในประเทศไทยหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนการขนส่ง ปฏิบัติการด้านข่าวกรองและระบบเตือนภัย เป็นฐานสำหรับเครื่องบินขับไล่สู้รบทางอากาศและเครื่องบินทิ้งระเบิด ในยุคสงครามเย็นที่มีแนวหน้าในเอชียอาคเนย์อยู่ที่ "สงครามเวียดนาม" เริ่มตั้งแต่ติดตั้งระบบควบคุมอากาศยานและระบบเตือนภัยที่สนามบินดอนเมือง และสร้างสนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ในปี พ.ศ. 2504, มีการพัฒนาฐานทัพที่โคราชในปี พ.ศ. 2505 และปรับปรุงฐานทัพอากาศที่จังหวัดนครพนมในปี พ.ศ. 2506

และรัฐบาลไทยในสมัย "ทายาท" ทางการเมืองหมายเลขหนึ่งของ จอมพลสฤษดิ์ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็นำพาประเทศไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสงครามกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) ในปี พ.ศ. 2507 หรือหนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ตามมาด้วยกาส่งกำลังในชื่อ "กองพลอาสาสมัคร" เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารกับสหรัฐอเมริกาถึงสองครั้ง

ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2510 โดยตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้น เรียกว่า "กรมทหารอาสาสมัคร" (กรม อสส.) มีภารกิจในการรบเป็นหลัก และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเป็นรอง มีสมญานามว่า "จงอางศึก" (Queen's Cobras Regiment) หลังจากนั้นอีก 1 ปี กองทัพบกจึงมอบให้คณะกรรมการพิจารณาเตรียมการส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยนกรมทหารอาสาสมัคร และเพิ่มเป็น 1 กองพลทหารอาสาสมัคร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2511 จึงมีคำสั่งจัดตั้ง "กองพลทหารอาสาสมัคร" เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นที่รู้จักกันในนาม "กองพลเสือดำ"(Black Panther Division)

ผลงานที่หลายฝ่ายถือว่าเป็นผลงานอันสำคัญของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการรื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น [รุ่งโรจน์ ณ นคร, "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์". นนทบุรี : อนุรักษ์, 2539.]

สำหรับการเสียชีวิตของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ด้วยโรคไตพิการเรื้อรังที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุ 55 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในตำแหน่ง

ต่อมา พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดพิธีศพแก่นายกรัฐมนตรี อย่างมีเกียรติสูง โดยทรงพระราชดำริว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย จึงสมควรให้จัดพิธีการศพให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิเช่นพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกฏกุดั่นทองน้อย เทียบเท่าพระบรมวงศ์เธอ (ทรงกรม) และให้ตั้งศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร, ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก และให้ข้าราชการไว้ทุกข์ เป็นเวลา 21 วัน, ให้ลดธงครึ่งเสา 7 วัน, โปรดเกล้าฯให้งดงานพิธีต่างๆ คือ งานพระราชอุทธยานสโมสรวันที่ 9 ธันวาคม งานพิธีวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม และงานกาชาดในวันที่ 27 ธันวาคม 2506 ด้วย ทั้งยังให้เลื่อนการเสด็จเยี่ยมประเทศไทยของกษัตริย์มาเลเซียและการเยี่ยมของคณะทูตเวียดนามติออกไป

หลังจากนั้นไม่นาน บรรดาทายาทและภรรยา โดยเฉพาะภรรยาคนสุดท้าย คือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา เกิดมีเรื่องฟ้องร้องเป็นคดีความใหญ่โตเกี่ยวกับกองมรดกซึ่งมีมูลค่ามหาศาล (ในเวลานั้น) ถึง 2,874,009,794 บาท รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับไม่ถ้วนแปลงทั้งในพระนครและต่างจังหวัดอีกประเมินค่ามิได้ รวมทั้งผลประโยชน์ในธุรกิจการค้าถึง 45 บริษัท

ในเวลาต่อมา คณะกรรมการสอบสวนทรัพยสินฯ ที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ก็สรุปว่าทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์มีจำนวนมากที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และรัฐบาลได้ประกาศริบเข้าพินัยหลวงเป็นจำนวน 574,328,078 บาท ซึ่งเป็นการยึดทรัพย์นักการเมืองเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นต้นมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (48)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(17)

อนุสาร อ.ส.ท. โดยมี พลตรี เฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นบรรณาธิการ ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 11 เดือนมิถุนายน 2505 สู่อีสาน-ถิ่นภูไท ฉบับพิเศษที่ระลึกเนื่องในวันเกิด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด (3)

ในย่อหน้าสุดท้ายของหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง" ในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) สุมาลี พันธุ์ยุรา เขียนโยงให้เห็นถึงการยึดโยงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวเจาะจงไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งหมายถึงการสร้าง "ความชอบธรรม" ให้ถึงที่สุด ต่อระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาล "คณะปฏิวัติ (?)" และธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ ที่ร่างและประกาศใช้ภายหลังการรัฐประหารหลังกึ่งพุทธกาลทั้งสองครั้ง

ผลลัพธ์ประการสำคัญจากนโยบายดังกล่าว คือการหันเหความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะก่อนอื่นชาวพระนคร ไปจากภาพการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ การใช้รถถังและอื่นๆ เข้าควบคุมเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในเขตพระนคร รวมทั้งมองข้ามการใช้อำนาจเผด็จการและวิธีการเด็ดขาด (รุนแรง) ตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองของ "คณะปฏิวัติ (?)" ต่อความผิดในคดีอาชญากรรมทั่วไป และกำจัด "ศัตรูทางการเมือง" และ "ผู้ที่มีความเห็นต่าง" ไปจากบริบทต่างต่างที่เป็นกระแสหลักในสังคมไทย อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย:
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมีมากขึ้น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง ตัวอย่างเช่น จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ซึ่งทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญญลักษณ์ตัวแทนของชาติอย่างชัดแจ้ง และส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ให้ดูดีขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ [ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบรรยายว่า "จอมพลสฤษดิ์เป็นนายทหารที่ห้าวหาญ เด็ดขาด ด้อยความรู้ทางภาษาอังกฤษ และมิใช่เป็นคนนิ่มนวลแบบจอมพลป." จอมพลสฤษดิ์จึงหันไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เจริญพระชนมพรรษาขึ้นมาในยุโรปตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และรับสั่งได้หลายภาษา อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 355-356] การเสด็จประพาสต่างประเทศอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตระหนักว่าการปรากฏพระองค์ต่อชาวต่างชาตินั้น จะทำให้ต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าเป็นเผด็จการน้อยลง ด้วยการหันเหความสนใจให้ไปสู่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แทน ประชาชนก็จะได้ลดการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลไปได้ นอกจากนี้ การจัดพระราชพิธีและพิธีการสังคมต่าง ๆ ขึ้นมายังจะช่วยให้ชื่อเสียงของรัฐบาลมีเพิ่มขึ้นในต่างประเทศและช่วยสมานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างบุคคลในกลุ่มของรัฐบาลและประชาชนให้เกิดขึ้น เช่น การรื้อฟื้นพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีทอดพระกฐินทางชลมารค พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
**********
แล้วบทความของสุมาลี ก็มาถึง "บทสรุป" ในหัวข้อ "ผลกระทบ" ในตอนจบของบทความ
**********
ผลกระทบ

ตลอดยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจจะมีเสียงชื่นชมจากประชาชน ผู้นิยมการพัฒนาแบบจอมพลสฤษดิ์ ตลอดจนยอมรับวิธีการความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งใช้คติเดิมของพ่อขุน รวมทั้งชื่นชมต่อความเอาใจใส่ในทุกข์สุขของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งของมุมมืด คือ ผลที่เกิดจากการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ที่ทำให้เกิดการเสียดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาการเมืองในระบบเปิดแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งยากที่ระบบการเมืองแบบปิดแบบจารีตนิยมจะรับไว้ได้ ผลสุดท้ายก็เกิดแรงผลักดันต่อระบบการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทยในเวลาต่อมา คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 172-173]

นอกจากนี้ ความคิดเห็นที่รุนแรงซึ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังเดือนตุลาคม 2516 ได้กลายเป็นเครื่องแสดงอย่างดีถึงปัญหาของสังคมไทย ทั้งจากแง่คิดในเนื้อหาและนัยของการกดขี่ทางปัญญา ความเฟื่องฟูทางปัญญาหลังพ.ศ.2516 ที่เห็นได้จากความกระหายทางความคิดใหม่ ๆ ที่ขัดแย้งกับหลักการเก่า ๆ ของอดีตที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งในบรรยากาศเช่นนี้ ส่งผลให้ผลงานต่าง ๆ ที่ถูกกดขี่ทางปัญญาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ติดตลาดได้อย่างง่ายดาย และเพิ่มอาหารสมองให้แก่ความหิวโหยของอนุชนรุ่นหลังที่มีหัวรุนแรงจนอิ่ม จึงทำให้เกิดการไม่ ลงรอยกันขึ้นในคนระหว่างรุ่นและคนรุ่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าการกดขี่ทางปัญญาและทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์และผู้นำคนอื่น ๆ ต่อมา ตลอดจนผลจากนโยบายการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์และการเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามของประเทศไทย รวมทั้งการที่มีแนวความคิดทางเมืองอย่างรุนแรงเกิดขึ้นอันเป็นการท้าทายหลักการเดิมและโหมด้วยการรื้อฟื้นความคิดนอกรีตนอกรอยที่เคยมีมาก่อน และการแสวงหาหลักการใหม่ทางการเมืองที่ถูกต่อต้านจากการรื้อฟื้นหลักการเดิม ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการแบ่งความคิดออกเป็นสองแนว ได้นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยที่จอมพลสฤษดิ์เองก็อาจจะมิได้คาดการณ์ล่วงหน้าหรือคาดหมายถึงผลระยะยาวของการกดขี่ทางปัญญาของตนเลย [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 252-253] ในขณะที่ผู้ที่สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร ได้พยายามที่จะสวมบทบาท "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการเอง ไม่อาจนำมาใช้ได้กับสังคมไทยที่พัฒนาสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและการเมืองไทย
**********
สิ่งที่ผู้อ่านบทความและใช้ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองของสถาบันพระปกเกล้า อาจจะต้องใช้วิจารณญาณเพื่อทบทวนและแยกย่อยหลากหลาย "ข้อมูล" ทั้งในบริบททางประวัติศาสตร์ และบริบทที่คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ร่วมสมัย (ปรากฏการณ์ในห้วงเวลา 50 ปี ในทางวิชาการยังไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์) นั้น ชวนให้คิดไปว่า "สถาบัน" ที่ก่อตั้งขึ้น "ใน" และ "ภายใต้" การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" หรือ "ระบอบรัฐสภา" นี้ มีเหตุผลรองรับอย่างไร แค่ไหน ต่อการ "เห็นด้วย" หรือ "คัดค้าน" ระบอบประชาธิปไตย และ/หรือ ระบอบเผด็จการ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความเคลื่อนไหว "กระแสรอง" ซึ่งบางห้วงเวลาในท่ามกลางการรณรงค์ทางประชาธิปไตยชั่วเวลากึ่งศตวรรษมานี้ อาจยกระดับเป็น "กระแสหลัก" นั่นคือความรู้สึก "โหยหาเผด็จการ".

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8