ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (6)
ผู้นำคนสำคัญในสภาบริหารคณะปฏิวัติที่ตั้งขึ้นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 34 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 จากซ้ายไปขวา พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์, พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์, ขอมพลประภาส จารุเสถียร, จอมพลถนอม กิตติขจร, นายพจน์ สารสิน, พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา
กับการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญ 2511
ดังได้กล่าวมาแล้ว หลังจากที่พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 มีผลบังคับใช้ในฐานะกฎหมายประกอบรัฐธรรามนูญแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ร้องขอจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ไล่มาตั้งแต่
พรรคสหประชาไทย ของนายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากนายกรัฐมนตรีหัวหน้าคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร?) มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค มีรองหัวหน้าพรรค 3 คน คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร, พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และ นายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมี พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของสยามและยืนยงคงทนมาจนถึงปัจจุบัน (รอดปากเหยี่ยวปากการการยึดอำนาจของทหารมาทุกยุคทุกสมัย) จดทะเบียนใหม่ในปี พ.ศ. 2511 หัวหน้าพรรคในขณะนั้นคือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และต่อมาได้แต่งตั้ง นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นเลขาธิการพรรคฯ (26 กันยายน 2513 - 6 ตุลาคม 2518)
พรรคประชาชน จดทะเบียน พ.ศ. 2511 มี นายเลียง ไชยกาล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าพรรคและนาย เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค (พรรคประชาชนเคยก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2490 มาแล้ว โดยนายเลียง ไชยกาล และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีก 16 คน) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ได้ ส.ส. 1 ที่นั่งในสภา
พรรคแนวร่วม-เศรษฐกร มี นายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรคและ นายแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธิการพรรค โดยที่นโยบายและอุดมการณ์ของพรรคฯ (จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2511) นั้น ไม่ต่างไปจาก พรรคเศรษฐกร (จดทะเบียนทะเบียนก่อตั้งพรรคเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2498 ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 โดย มี นายเทพ โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรคและ นายแคล้ว นรปติ เป็นเลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 พรรคเศรษฐกร ส่งผู้สมัครและได้ที่นั่งในสภา 9 ที่นั่ง โดยนายเทพหัวหน้าพรรคและนายแคล้วเลขาธิการพรรคก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ที่นั่งในสภา 7 ที่นั่ง) คือสนับสนุนแนวความคิดแบบสังคมนิยม และในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 พรรคแนวร่วม-เศรษฐกรได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ปรากฎว่าทางพรรคได้ที่นั่งในสภาเพียง 4 ที่นั่งและตัวนายเทพหัวหน้าพรรคเองก็ยังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งที่บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ
พรรคเสรีประชาธิปไตย มี นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคแนวประชาธิปไตย มี นายไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา มี พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคชาวนาชาวไร่ มี นายไพบูลย์ อารีชน เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคสยามใหม่ มี พลตรีกระแส เสนาพลสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคประชาพัฒนา มี ร้อยเอก หม่อมราชวงศ์วีรพงศ์ ทองแถม เป็นหัวหน้าพรรค
พรรคแรงงาน จดทะเบียนก่อตั้งพรรคในปี พ.ศ. 2511 มี นายกาฬ เชื้อแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและ นายวีระ ถนอมเลี้ยง เป็นเลขาธิการพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 พรรคแรงงานส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแต่ไม่ได้ที่นั่งในสภาแม้แต่ที่นั่งเดียว; พรรคอิสรธรรม จดทะเบียนก่อตั้งพรรคในปี พ.ศ. 2511 มี หลวงชัยสุภา (ส่วน ภมรศิริ) เป็นหัวหน้าพรรค; พรรคชาติประชาธิปไตย (พ.ศ. 2499) จดทะเบียนใหม่ พ.ศ. 2512 พันเอก หม่อมราชวงศ์น้ำเพชร เกษมสันต์ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นต้น
ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านและมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 มีเพียงสองพรรค คือ พรรคสหประชาไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นเป็นพรรคขนาดเล็กซึ่งหาได้มีฐานในทางการเมืองเข้มแข็งเท่าสองพรรคแต่อย่างใดไม่
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1512 เป็น การเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์ โดยถือเอาหนึ่งจังหวัดเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง และเป็นการเลือกตั้งโดยตรง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละเขตคำนวณโดยถือเอาจำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนทั้งหมด 219 คน มีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 14,820,180 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 7,285,832 คน คิดเป็นร้อยละ 49.10 จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดระนอง คิดเป็นร้อยละ 73.95 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และจังหวัดพระนครมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.66
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะมีพรรคการเมืองจำนวนมากส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครครบทุกที่นั่งมีเพียง 2 พรรคเท่านั้น คือ พรรคสหประชาไทยและพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งผลการเลือกตั้งก็ไม่ปรากฏว่ามีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้โดยลำพัง นั่นคือต้องมีคะแนนเสียงสนับสนุนในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 219 คน ซึ่งเท่ากับ 110 คนขึ้นไป สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่สังกัดพรรคได้รับเลือกเข้ามามากถึง 70 คน อย่างไรก็ตาม พรรคสหประชาไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด เนื่องจากพรรคนี้เป็นพรรครัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัดพรรค และสมาชิกที่แปรพรรคมาให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (เป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก) แต่การบริหารประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร สมัยที่ 3 นี้ หาได้ "ราบรื่น" เช่นในสมัยที่เป็นรัฐบาล "คณะปฏิวัติ" ต้องเผชิญปัญหาหลายประการ อาทิ ร่างกฎหมายให้ถ่ายทอดเสียงการประชุมรัฐสภา ต่อมาได้มีสมาชิกกลุ่มหนึ่งเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ และเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ซึ่งแม้จำดำเนินการเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ แต่ต่อมาได้มีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทสลาออกจากตำแหน่ง จึงทำให้คะแนนของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เริ่มลดน้อยลงเพราะไม่อาจแก้ปัญหาภายในที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปได้ โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2515 เกิดปัญหา "แบ่งเค้ก" ไม่ลงตัว เกิดการ "ตีรวน" และ "โรคเลื่อน" จนถูกโจมตีจากพรรคฝ่ายค้านรวมถึง ส.ส. บางกลุ่มของรัฐบาลที่ไม่พอใจ ลุกลามมีแนวโน้มว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่านสภาฯ
และตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ (ที่ยกร่างมาเอง) นั้น รัฐบาลจะต้องลาออกทันที หรือต้องยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งห้วงนั้นความนิยมรัฐบาลจอมพลถนอมตกต่ำลงมากในทุกด้าน หากรัฐบาลลาออกหรือยุบสภาก็ไม่อาจมีหลักประกันว่าจอมพลถนอมจะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 4 ได้อีก ดังนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร จึงตัดสินใจทำรัฐประหาร (แต่เรียกปฏิวัติอีกจนได้) ยึดอำนาจการปกครองของตนเอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 รวมถึงยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ที่ยกร่างมาตั้งแต่การรัฐประหารช่วงกึ่งพุทธกาลและมาสเำร็จ ประกาศใช้ในสมัยการปกครองจากการรัฐประหารของตนเอง.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน