Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (49)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(18)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเยี่ยมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงป่วยหนักใกล้วาระสุดท้ายในปี พ.ศ. 2506

ฉากจบและควันหลงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
บนเส้นทางการยึดอำนาจและรัฐบาลคณะปฏิวัติ

ชีวิตทางการเมืองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่รับหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวด (ยศร้อยตรี) ของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรในคราวปราบกบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2476 จนเข้าร่วมการรัฐประหารขณะที่ครองยศพันเอก ที่นำโดยจอมพล ผิน ชุณหะวัน ในปี พ.ศ. 2490 ตามมด้ด้วยการได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนถือเป็น "มือขวา" และจอมพล ป. เป็นเจ้าภาพแต่งงานให้ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เวลา 20.00 น. ในงานพิธีมงคลสมรสของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ต่อเนื่องมาจนป่วยและเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ซึ่งนอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีฐานะเป็น "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาประเทศไทย

ในช่วงการปกครองและการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต่อมาได้รับฉายาว่า "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ประกาศกร้าวในบริบทการใช้ "อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด" ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ (และคงเป็นวาทกรรมที่ผู้เผด็จอำนาจหลายคนในเวลาต่อมาอาจถึงขั้น "โหยหา" แต่ "ทำไม่ได้") ว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว"

ทั้งนี้ ดังได้กล่าวมาแล้ว "หัวใจ" ของการใช้อำนาจที่ว่านั้น อยู่ที่ "มาตรา 17" แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่ง นอกเหนือจากการใช้ในลักษณะ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หรือ "หาเสียง" กับประชาชน โดยเฉพาะคนชั้นกลางในมืองที่ต้องการวิถีชีวิตที่ "ราบเรียบ" และสามารถทำมหากิน ไต่เต้าฐานะตำแหน่ง และสะสมโภคทรัพย์กันได้อย่างราบรื่นแล้ว ยังนำมาใช้เพื่อกวาดล้างทำลายศัตรูทางการเมือง เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ไม่ให้สามารถตรวจสอบกลุ่มผู้กุมอำนาจการปกครอง ตลอดจนการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยภาพรวม [https://bit.ly/39Uqnmf: ศรีพนม สิงห์ทอง, "6 จอมพลไทยยุคระบอบประชาธิปไตย". กรุงเทพฯ : มติชน.]

ยิ่งไปกว่านั้น "นโยบายปราบคอมมิวนิสต์" ของรัฐบาลสฤษดิ์ เปิดโอกาสให้มหามิตร "พี่เบิ้มโลกเสรี" สหรัฐฯ เข้ามาสร้างและขยายปรับปรุงฐานทัพในประเทศไทยหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนการขนส่ง ปฏิบัติการด้านข่าวกรองและระบบเตือนภัย เป็นฐานสำหรับเครื่องบินขับไล่สู้รบทางอากาศและเครื่องบินทิ้งระเบิด ในยุคสงครามเย็นที่มีแนวหน้าในเอชียอาคเนย์อยู่ที่ "สงครามเวียดนาม" เริ่มตั้งแต่ติดตั้งระบบควบคุมอากาศยานและระบบเตือนภัยที่สนามบินดอนเมือง และสร้างสนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ในปี พ.ศ. 2504, มีการพัฒนาฐานทัพที่โคราชในปี พ.ศ. 2505 และปรับปรุงฐานทัพอากาศที่จังหวัดนครพนมในปี พ.ศ. 2506

และรัฐบาลไทยในสมัย "ทายาท" ทางการเมืองหมายเลขหนึ่งของ จอมพลสฤษดิ์ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ก็นำพาประเทศไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำสงครามกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ) ในปี พ.ศ. 2507 หรือหนึ่งปีหลังการเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ตามมาด้วยกาส่งกำลังในชื่อ "กองพลอาสาสมัคร" เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารกับสหรัฐอเมริกาถึงสองครั้ง

ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2510 โดยตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้น เรียกว่า "กรมทหารอาสาสมัคร" (กรม อสส.) มีภารกิจในการรบเป็นหลัก และปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเป็นรอง มีสมญานามว่า "จงอางศึก" (Queen's Cobras Regiment) หลังจากนั้นอีก 1 ปี กองทัพบกจึงมอบให้คณะกรรมการพิจารณาเตรียมการส่งกำลังไปผลัดเปลี่ยนกรมทหารอาสาสมัคร และเพิ่มเป็น 1 กองพลทหารอาสาสมัคร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2511 จึงมีคำสั่งจัดตั้ง "กองพลทหารอาสาสมัคร" เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก มีที่ตั้งปกติ ณ ค่ายกาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และไปปฏิบัติการรบในสาธารณรัฐเวียดนาม เป็นที่รู้จักกันในนาม "กองพลเสือดำ"(Black Panther Division)

ผลงานที่หลายฝ่ายถือว่าเป็นผลงานอันสำคัญของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือการรื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น [รุ่งโรจน์ ณ นคร, "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์". นนทบุรี : อนุรักษ์, 2539.]

สำหรับการเสียชีวิตของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ด้วยโรคไตพิการเรื้อรังที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมอายุ 55 ปี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในตำแหน่ง

ต่อมา พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดพิธีศพแก่นายกรัฐมนตรี อย่างมีเกียรติสูง โดยทรงพระราชดำริว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย จึงสมควรให้จัดพิธีการศพให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิเช่นพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกฏกุดั่นทองน้อย เทียบเท่าพระบรมวงศ์เธอ (ทรงกรม) และให้ตั้งศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร, ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก และให้ข้าราชการไว้ทุกข์ เป็นเวลา 21 วัน, ให้ลดธงครึ่งเสา 7 วัน, โปรดเกล้าฯให้งดงานพิธีต่างๆ คือ งานพระราชอุทธยานสโมสรวันที่ 9 ธันวาคม งานพิธีวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม และงานกาชาดในวันที่ 27 ธันวาคม 2506 ด้วย ทั้งยังให้เลื่อนการเสด็จเยี่ยมประเทศไทยของกษัตริย์มาเลเซียและการเยี่ยมของคณะทูตเวียดนามติออกไป

หลังจากนั้นไม่นาน บรรดาทายาทและภรรยา โดยเฉพาะภรรยาคนสุดท้าย คือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา เกิดมีเรื่องฟ้องร้องเป็นคดีความใหญ่โตเกี่ยวกับกองมรดกซึ่งมีมูลค่ามหาศาล (ในเวลานั้น) ถึง 2,874,009,794 บาท รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับไม่ถ้วนแปลงทั้งในพระนครและต่างจังหวัดอีกประเมินค่ามิได้ รวมทั้งผลประโยชน์ในธุรกิจการค้าถึง 45 บริษัท

ในเวลาต่อมา คณะกรรมการสอบสวนทรัพยสินฯ ที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ก็สรุปว่าทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์มีจำนวนมากที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และรัฐบาลได้ประกาศริบเข้าพินัยหลวงเป็นจำนวน 574,328,078 บาท ซึ่งเป็นการยึดทรัพย์นักการเมืองเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นต้นมา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 16-22 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8