Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (57)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (8)

จิตร ภูมิศักดิ์ (ขวาสุด) ในคุกลาดยาวขณะกินข้าวกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ถูกจับในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

ถนอม กิตติขจร: นายกฯ สมัยที่สี่
ก่อนและหลังรัฐประหาร 2514

ก่อนรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514: ในระหว่างรอยต่อของการขึ้นครองอำนาจในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 และสมัยที่ 4 เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญในภาคประชาชน ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือความเปลี่ยนแปลงนั้นก่อรูปขึ้นในหมู่นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ที่จะว่าไปถูกจำกัดบทบาทแม้กระทั่งความรับรู้ทางการเมืองของไทยหลังกึ่งพุทธกาล ด้วยเงื่อนไขของอำนาจคณะรัฐประหารต้นพุทธศตวรรษ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "ยุคมืดบอดทางปัญญา"

"อำนาจคณะปฏิวัติ" ดังกล่าวครอบครองการเมืองการปกครองและครอบงำบริบททางสังคมทุกด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเป็นเวลาถึง 1 ทศวรรษ ผลก็คือพัฒนาการทางการเมืองของไทยตกอยู่ในภาวะชะงักงันเกือบจะโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญ หลักประกันของระบอบประชาธิปไตยที่ประกอบด้วย "รัฐธรรมนูญ" และ "สิทธิของประชาชน" ในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กลายเป็นเสมือนคำและวลี "ต้องห้าม" ไปโดยปริยาย ด้วยนโยบาย "ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก" โดยรัฐบาลคณะปฏิวัติ (หรือเรียกให้ถูกว่าคณะรัฐประหาร) ที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร อันได้มาด้วยการสืบทอดต่อมาจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

บรรยากาศการรวมกลุ่มของประชาชนวงการต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย พากัน "สูญหาย" ไปจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น "พรรคการเมือง" "สมาคมกรรมกร-ชาวนา" และรวมทั้ง "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง

ความบีบคั้นและนโยบาย "กวาดล้าง-จับกุมคุมขัง" ผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร ส่งผลให้บางส่วนของนักการเมือง ผู้นำกรรมกร-ชาวนา และแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ดำเนินชีวิตสนิทแนบกับคนชั้นล่าง อาทิครูประชาบาลในชนบทห่างไกลโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ตลอดจนปัญญาชน นักคิดนักเขียน ถูกผลักไสให้เดินทางเข้าร่วมกับ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)" ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมความเข้มแข็งและขยายการเติบโตแก่ขบวนการ จากประชาชนที่ "ปราศจากเสรีภาพ" และ "ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับการเอาชีวิตรอด"

จนกระทั่งนำไปสู่ "วันเสียงปืนแตก" คือวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังในนาม "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)" ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พร้อมกับการประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง"

ช่วงเวลานี้เอง ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ถูกกดดันให้เข้าร่วมกับการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และโดนฟ้องศาลในข้อหาดังกล่าว ยังศาลทหารในปี พ.ศ. 2506 ตาม พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเมื่อปี พ.ศ. 2496 ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้วในคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงตัดสินให้การกระทำเช่นนั้นไม่มีความผิดต่อไป ศาลจึงยกฟ้องคดีที่จิตรเป็นจำเลย แต่จิตรก็ถูกกักตัวไว้ที่เรือนจำลาดยาวนานถึง 8 ปี กว่าจะได้รับอิสรภาพในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2508

เพียงปีถัดมา นักคิดนักเขียนสามัญชนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทย จิตร ภูมิศักดิ์ หรือชื่อจัดตั้งในเขตต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยว่า "สหายปรีชา" ก็จบชีวิตลง จากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่ ตำบลบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลงเหลือเพียงตำนานของเสรีชนนักสู้กับระบอบเผด็จการ และนักคิดนักเขียนที่ยืนหยัดเคียงผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า ไร้สิทธิไร้เสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม ตราบเท่าทุกวันนี้

และดังกล่าวมาแล้ว ช่วงนี้เองที่ความร่วมมือ (?) ระหว่างไทยกับ "พี่เบิ้มโลกเสรี" สหรัฐฯ ก็พัฒนามาจนถึงจุดเข้มข้นที่สุดในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อสหรัฐอเมริกาเร่งส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นกว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ช่วงปี พ.ศ. 2509 ที่กระแสสงครามเวียดนามขึ้นสูงสุด จำนวนเที่ยวบินที่ออกจากฐานทัพไทยไปทิ้งระเบิดในเวียดนามอยู่ระหว่าง 875-1,500 เที่ยวต่อสัปดาห์ ระหว่างปี 2508-11 เฉพาะเครื่องบินจากฐานทัพโคราชและตาคลี ได้ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือมากถึง 75 ตัน ขณะที่จำนวนทหารสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 48,000 นาย ในปี พ.ศ. 2512

นอกจากนั้น บรรยากาศในหมู่นิสิตนักศึกษา "ในสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า (จอมพลสฤษดิ์)" ถือว่าตกอยู่ใน "ยุคมืดทางปัญญา" ที่กิจกรรมของนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนส่วนใหญ่ สะท้อนถึง "วัฒนธรรมยุคสายลมแสงแดด" ที่แยกตัวนิสิตนักศึกษาออกจากสภาพสังคมที่แวดล้อม กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจำกัดอยู่ในวงแคบรอบๆ และเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิง และพิธีกรรมที่ไม่ส่งเสริมให้ตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไป

จนถึงปี พ.ศ. 2508 สภาวการณ์ดังกล่าวได้มาถึงจุดอิ่มตัว เริ่มมีการรวมกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์สังคม และตั้งคำถามโดยกลุ่มนักศึกษาที่เป็น "ขบถ" ในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจาก ชุมนุมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานเขียนที่เป็นบทกวีหลากหลายรูปแบบที่มีลักษณะ "ทวนกระแส" ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระใหม่ๆ เช่นเรื่องปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรม สงคราม (ตัวแทนที่มีลักษณะจำกัดพื้นที่ในยุคสงครามเย็นของสองมหาอำนาจ สหรัฐและสหภาพโซเวียต จนกระทั่งกลายเป็นการส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงโดยตรง) และความยากจน บรรยากาศ "สายลมแสงแดด" ถูกชำแหละและเข้าสู่สภาวะ "ปฏิกิริยาแห่งยุคสมัย" แม้ว่ากิจกรรมบันเทิงรูปแบบเดิมจะยังอยู่ในฐานะครอบงำสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ก็ตาม

ในที่สุดก็รัฐบาลคณะรัฐประหารก็ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 และประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2511 กำหนดจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 หลังจากที่ว่างเว้นมาถึง 11 ปี

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครของ พรรคสหประชาไทย ที่จัดตั้งโดยจอมพลถนอม ได้รับเลือกมากที่สุดคือ 76 คนจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 219 ที่นั่ง แต่นั่นก็เพียงพอแล้วเพราะการซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทำร่วมกัน ระหว่างสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยคนของจอมพลถนอมฯ เกือบทั้งสิ้น และจอมพลถนอม ก็ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับควบ 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง

รัฐบาลชุดที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2512 นี้ มี นายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 รวมอยู่ด้วย.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8