ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (2)
3 จอมพลรุ่นสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย (จากซ้ายไปขวา) ประภาส จารุเสถียร, สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ถนอม กิตติขจรร
สู่วีรกรรมสำคัญในการปราบกบฏวังหลวง (ต่อ)
ชื่อ พ.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศในเวลานั้น) โดดเด่นขึ้นมาในท่ามกลางนายทหารรุ่นถัดจากคณะผู้ก่อการฯ 2475 ในการบุกโจมตีพระบรมมหาราชวังในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นั้นเอง
หลังจากเกิดการปะทะกันหลายจุดระหว่างกองกำลังฝ่ายก่อการกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาล (จากการยึดอำนาจสองครั้ง) และประมาณเวลา 24.00 น. ฝ่ายก่อการได้เปิดฉากยิงเข้าไปใน ร.พัน 1 ทหารรัฐบาลเสียชีวิตและบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง เกิดการยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ ฝ่ายรัฐบาลพยายามเจรจาให้ฝ่ายก่อการวางอาวุธและถอนกำลังจากพระบรมมหาราชวัง แต่การเจรจาล้มเหลว
ในที่สุด พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อำนวยการปราบปรามการกบฏ ตัดสินใจใช้กำลังเข้าบุก โดยมีคำสั่งให้ พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ ผบ.กรมรบ และ พ.ท.ถนอม กิตติขจร ผบ.ราบ 11 เตรียมนำรถถังการ์เด้นลอยด์ หรือที่เรียกกันว่า "อ้ายแอ้ด" บุกเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ส่วนทางทหารรัฐบาลสังกัด ร.พัน 1 สวนเจ้าเชต เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และล้อมพระบรมมหาราชวังไว้อีกทางหนึ่ง เตรียมบุกเข้าไปประตูสวัสดิโสภา ครั้นรุ่งเช้า ทหารรัฐบาลบุกเข้าทุกทางตามแผน จุดปะทะที่หนักที่สุดเป็นด้านประตูวิเศษไชยศรี รถถังเคลื่อนตัวเข้าไปหลายคัน โดยมีทหารราบประกบตามไปด้วย ฝ่ายกบฏต้านด้วยบาซูก้า รถถังคันหนึ่งถูกยิงเข้าอย่างจังไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ทำให้ทหารราบถึงกับชะงัก พ.ท.ถนอม กิตติขจร ต้องสั่งการให้รถถังวิคเกอร์อาร์มสตรองวิ่งเข้าชนบานประตูจนเปิดออก ปืนกลรถถังไล่ยิงกราด ทหารราบขยายปีกหาที่กำบังยิงเข้าใส่อย่างดุเดือด สุดที่พลพรรคฝ่ายก่อการจะต้านไว้ได้ เรือเอกวัชรชัยตัดสินใจดึงนายปรีดีหนีออกทางประตูราชวรดิษฐ์ โดยที่ฝ่ายทหารเรือช่วยพาหนีอีกทอดหนึ่ง
จนกระทั่ง 09.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พล.ร.ต.ประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดการเจรจาหยุดยิง ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการสู้รบกันในเวลา 10.15 น. ก่อนจะเคลื่อนกำลังกลับเข้าสู่ที่ตั้งของตน.
*****
และนั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ล้ำลึกในเวลาต่อมาระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ จอมพลถนอม กิติขจร ในเวลาต่อมา จนถึงกับ "จับพลัดจับผลู" เป็นทายาททางการเมืองที่สืบทอดอำนาจ "คณะปฏิวติ" พ.ศ. 2500 ไปในที่สุด ที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากอำนาจทางทหารของนายทหารระดับสูงของกองหัพไทย โดยเฉพาะกองทัพบก ที่เป็นหลักสำคัญในการ "รัฐประหาร" ยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง รวมทั้งรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจอีกต่อหนึ่ง คือย่างก้าวในการเข้ามาสู่แวดวงอำนาจทางการเมือง
เส้นทางจากทหารอาชีพสู่ทหารการเมือง
พล.ต.ถนอม กิตติขจร (รองแม่ทัพกองทัพที่ 1) ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494 ต่อมาเข้าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 7) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2498 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 8) อีกครั้งหนึ่ง
ครั้นเกิดเหตุการณ์การเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 อันนำไปสู่การกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.สิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พล.ท.ถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ท.ประภาส จารุเสถียร และพล.อ.ท.เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2508 ตามมาด้วยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลาออกจากสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยพล.ท.ถนอม กิตติขจร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ประจำการอีก 40 กว่านายลาออกตามไปด้วย
วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก นำคณะทหารจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยได้มอบหมายให้นายพจน์ สารสิน มารั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป (ครั้งที่ 8) ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 คณะรัฐมนตรีชุดขัดตาทัพจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500
หลังการเลือกตั้งพรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้การสนับสนุน แม้จะมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44 เสียง แต่ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับปรารถนาที่จะรวมสมาชิกทั้ง 2 ประเภท (สมาชิกประเภท 2 คือสมาชิกแต่งตั้ง) เข้าด้วยกัน จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือ พรรคชาติสังคม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคชาติสังคมมี ส.ส. ในสังกัด 202 คน มาจากพรรคสหภูมิที่ยุบไป 44 คน รวมกับ ส.ส. ประเภทที่ 1 จากพรรคต่าง ๆ และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาเข้าพรรคด้วย เมื่อมีจำนวนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง พรรคชาติสังคมจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นหัวหน้ารัฐประหาร ได้ประกาศว่าจะไม่ยอมรับตำแหน่งทางการเมือง ขอคุมกำลังทางทหารด้านเดียว ประกอบกับมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของประเทศไทย คือ พล.ท.ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร
นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 1
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พลโทถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีตามประกาศ ซี่งในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของพลโทถนอมนี้ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร เพราะนอกจากต้องต่อสู้กับเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. บางคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคแล้ว ซึ่งบางส่วนเป็นอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา ที่เคยให้การสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในอดีต อีกทั้งยังประสบปัญหาในพรรค (ในอาณัติของจอมพลสฤษดิ์) เองที่เกิดจากการยุบรวม พรรคสหภูมิ มาอยู่กับ พรรคชาติสังคม แม้จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ความวุ่นวายก็ยังไม่ดีขึ้น กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางกลับจากการรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา และเข้ายึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพล.ท.ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (?) ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ และผลที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ก้าวออกมาจากหลังฉากขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ให้พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นรองนายกรัฐมนตรี (แต่งตั้งโดยอำนาจคณะรัฐประหารครั้งที่ 2 จากนากยกรัฐมนตรีเลือกตั้งใต้อำนาจคณะรัฐประหารครั้งที่ 1 ที่มีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นคนคนเดียวกัน) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 1 [https://bit.ly/2NaFgrD]
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 พฤษภาคม-5 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
หมายเหตุ บรรยายภาพเพิ่มเติม: 3 จอมพลรุ่นสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย (จากซ้ายไปขวา) ประภาส จารุเสถียร (พ.ศ. 2516 รับพระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ) สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2499 รับพระราชทานยศจอมพล; พ.ศ. 2502 รับพระราชทานยศจอมพลเรือ จอมพลอากาศ) ถนอม กิตติขจร(พ.ศ. 2507 รับพระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ)