Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (56)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (7)

ถนอม กิตติขจร - ผู้สืบทอดอำนาจหมายเลขหนึ่งของสฤษดิ์ เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในคราวกบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 ผู้ประดิษฐ์คำ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ขึ้นแทนที่ "สภาร่างรัฐธรรมนูญ"

ยึดอำนาจตนเองสู่นายกฯ สมัยที่สี่
กำเนิด "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ"


หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศในนามคณะปฏิวัติ (ทำรัฐประหารรัฐบาลตนเอง) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ต่อมาในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ก็ประกาศจัดตั้ง "สภาบริหารคณะปฏิวัติ" ที่อาจถือได้ว่าเป็นการริ่เริ่มใช้คำว่า "สภา" กับการได้มาซึ่งอำนาจรัฐด้วยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขึ้น เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ขึ้นปกครองประเทศเพื่อใช้อำนาจแทนรัฐบาล โดยจอมพลถนอมขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติโดยอัตโนมัติ (และมีข้อโต้แย้งไม่ได้) มีผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ 1. พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 2. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง 3. พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ 4. พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

ส่วนพันเอกณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและลูกเขยจอมพลประภาส ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากมายในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของข้าราชการ โดยสร้างความสนใจของประชาชนด้วยการเพ่งเล็งไปที่ปราบทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวง

ทั้งนี้ ทันทีที่คณะรัฐประหาร 2514 ขึ้นบริหารประเทศ ก็ต้องเผชิญกับความเรียกร้องต้องการจากหลายฝ่ายในประเทศ ให้เร่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศให้ถูกต้องตามขั้นตอน ประจวบกับในปี พ.ศ. 2515 เป็นปีที่จะสถาปนาสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม เพราะจะจัดให้มีพระราชพิธีในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร) ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 299 คน โดยสมาชิกมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ที่สำคัญคือสมาชิกไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ มีมติเลือก พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการครองอำนาจของจอมพลถนอมก็ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ

จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ก็มีมติให้จอมพลถนอม กิตติขจร เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และตามบทบัญญัติของธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร กำหนดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (?) ที่ไม่เคยรักษาความเป็น "ถาวร" ไว้ได้แม้แต่ฉบับเดียวในรัฐสยาม/ไทย แม้จนปัจจุบัน
**********
หมายเหตุ:

จากเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า มีบทความที่เท่ากับเป็นการรับรองกระบวนการประชาธิปไตยที่ยังเป็นข้อกังขาในหมู่นักประชาธิปไตยทั่วไป (ไม่นับนิติบริกรที่รับใช้ระบอบรัฐประหาร) โดย (ชี้นำในหมู่ผู้อ่านและนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยสยามด้วยข้อมูลด้านเดียว) ยอมรับและให้ความสำคัญต่อ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (ประดิษฐ์คำขึ้นใช้แทน "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ที่ใช้ใน "สมัยปฏิวัติ" ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ในบทความ หัวข้อ "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สถิตย์ ส่งศรีบุญสิทธิ์)" [http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สภานิติบัญญัติแห่งชาติ_(สถิตย์_ส่งศรีบุญสิทธิ์)] ที่ให้ความหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้ (อย่างสวยหรู) ว่า
"สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสภาระดับชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อมีการปฏิวัติ รัฐประหาร ลักษณะเป็นสภาเดียว มีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งตามธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว โดยให้มีอำนาจ หน้าที่ ตามที่ธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา"
ซึ่งมีด้วยกัน 5 ชุด (ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) คือ
  1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 1 (ระหว่าง พ.ศ. 2515-2516)
  2. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (ระหว่าง พ.ศ. 2516-2518)
  3. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 3 (ระหว่าง พ.ศ. 2520–2522)
  4. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 4 (ระหว่าง พ.ศ. 2534-2535)
  5. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 5 (ระหว่าง พ.ศ. 2549–2550)
(จะได้ทยอยขยายความตามลำดับในเวลาต่อไป)
**********
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 1 พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2515 เป็นสภาที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ รัฐสภา ตามมาตรา 6 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ภายหลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ปฏิวัติรัฐบาลของตนเองแล้ว ซึ่งกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ โดยให้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติรวมจำนวนทั้งสิ้น 299 คน ทำหน้าที่รัฐสภา ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2515 - วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 โดยมี พลตรีศิริ สิริโยธิน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ระหว่าง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2516 - วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2516) นายทวี แรงขำ เป็นรองประธานคนที่ 1 และพลเรือเอก กมล สีตกะลิน เป็นรองประธานคนที่ 2

สภานิติบัญญัติฯ ชุดนี้สิ้นสุดลงโดย พระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 มีสาเหตุมาจากการเกิดเหตุการณ์มีนักศึกษาและกับประชาชนจำนวนมาก ได้ร่วมกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ทำให้จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มีนักศึกษาและประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ยังผลให้สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ขอลาออกจำนวน 288 คน เป็นเหตุให้มีองค์ประชุมไม่เพียงพอที่จะเรียกประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 กรกฎาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8