Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (53)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
ถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจระบบสฤษดิ์? (4)

สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย 2 คนสุดท้าย ที่ครองยศจอมพล

เส้นทางสู่นายกฯ สมัยที่สาม
ภายใต้ "รัฐธรรมนูญ 2511"

สำหรับการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของ จอมพลถนอม กิตติขจร - ซึ่ง - มีที่มาจากการเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512) นั้น จำเป็นต้องย้อนกล่าวถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้เวลายกร่างนานที่สุดในโลก (ใช้เวลายาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน คือ ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511)

เมื่อมีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เองเรียกว่า "ระบอบปฏิวัติ" เนื่องจากเป็นระบอบที่อาศัยรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 240 คน ที่แต่งตั้งมาจากทหารและข้าราชการประจำเกือบทั้งหมด ทำให้หัวหน้าคณะปฏิวัติสามารถควบคุมการทำงานของสภาฯ ได้เกือบจะ 100 เปอร์เซนต์ จึงจัดตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเป็นสภานิติบัญญัติไปพร้อมกัน

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้นับเป็นชุดที่ 2 จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 (เป็นของคณะปฏิวัติ โดยคณะปฏิวัติ เพื่อ...) ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน โดยมีประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และและมีรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2 คน คือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และนายทวี บุณยเกตุ และก็สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้เอง ที่ทำหน้าที่ในการเลือก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวนอกจากอำนาจหน้าที่ที่กล่าวมาแล้วยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้นอีกด้วย แต่ไม่มีอำนาจในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน ในเวลาต่อมามีการเลือกตำแหน่งประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่ คือ นายทวี บุณยเกตุ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 เนื่องจากการอสัญกรรมของพลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
*****
หมายเหตุ:

สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ 1 จัดตั้งขึ้นตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 รัฐบาลในขณะนั้นได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 ต่อสภา เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน โดยกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เลือกจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 10 คน และจากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 4 ประเภท ๆ ละ 5 คน คือ 1) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน (ประเภททั่วไป) 2) ผู้ที่ดำรง หรือเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือเทียบเท่า 3) ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี 4) ผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และยังกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 จากนั้นดำเนินการเปิดการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต โดยที่ประชุมมีมติเลือกเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2492 เสนอโปรดเกล้าและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2492
*****
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 คณะปฏิวัติประกาศตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 240 คน เป็นสภาทหารและข้าราชการเกือบทั้งหมด มีนายทหารประจำการเป็นสมาชิกสภาฯ มากถึง 150 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารบก 104 คน เหตุที่ทหารบกเป็นสมาชิกสภาฯ มากกว่าเหล่าทัพอื่น เพราะเป็นกำลังหลักของการทำรัฐประหาร โดยเฉพาะนายทหารจากกองพลที่ 1 อันเป็นฐานกำลังที่สำคัญที่สุดในสายบังคับบัญชากองทัพบกไทยอันมีที่ตั้งอยู่ที่จดยุทธศาสตร์สำคัญของพระนครมาทุกยุคทุสมัย นับเป็นการสืบทอดประเพณี "ปูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึก" อย่างมีนัยสำคัญของการรัฐประหารในประเทศไทยหลังกึ่งพุทธกาลเป็นต้นมา

[สำหรับฉายา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ของจอมพลสฤษดิ์ มีที่มาจากการเป็นอาภรณ์เพียงชิ้นเดียวสำหรับต้อนรับ สาวแก่แม่ม่าย (ผู้มักจะได้รับการปรับสถานภาพเป็น อนุภรรยา ในเวลาต่อมา) ที่คนสนิทพามาพบที่ วิมานสีชมพู อันเป็นบ้านพักหลังกองพล 1 หรือกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) ซึ่ง จอมพล 3 คนสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย เคยมาเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น คือ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2491-2493) [ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 อีกตำแหน่งหนึ่ง และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ. 2497] พลตรี ถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2493-2495) และ พลตรี ประภาส จารุเสถียร (พ.ศ.2495-2500)

ต่อมาเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญร่งรัฐธรรมนูญเสร็จ ผ่านการลงมติเห็นชอบ (เขียนเอง รับเอง) จึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 และได้มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 นอกจากนั้น ยังได้มีการประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 และ พระราชบัญญัติเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน พ.ศ. 2511

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นระบบสองสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กล่าวคือ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี แล้วให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งตามอัตราส่วนประชากร 150,000 คนต่อสมาชิกสภาผู้แทน 1 คน

และการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในคราวนั้น มีข้อบ่งชี้ทางการเมืองสืบเนื่องมาอีกนานแสนนาน.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 มิถุนายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8