Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (48)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(17)

อนุสาร อ.ส.ท. โดยมี พลตรี เฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นบรรณาธิการ ฉบับปีที่ 2 ฉบับที่ 11 เดือนมิถุนายน 2505 สู่อีสาน-ถิ่นภูไท ฉบับพิเศษที่ระลึกเนื่องในวันเกิด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด (3)

ในย่อหน้าสุดท้ายของหัวข้อ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง" ในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" (http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) สุมาลี พันธุ์ยุรา เขียนโยงให้เห็นถึงการยึดโยงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวเจาะจงไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งหมายถึงการสร้าง "ความชอบธรรม" ให้ถึงที่สุด ต่อระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาล "คณะปฏิวัติ (?)" และธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฯ ที่ร่างและประกาศใช้ภายหลังการรัฐประหารหลังกึ่งพุทธกาลทั้งสองครั้ง

ผลลัพธ์ประการสำคัญจากนโยบายดังกล่าว คือการหันเหความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะก่อนอื่นชาวพระนคร ไปจากภาพการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ การใช้รถถังและอื่นๆ เข้าควบคุมเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในเขตพระนคร รวมทั้งมองข้ามการใช้อำนาจเผด็จการและวิธีการเด็ดขาด (รุนแรง) ตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองของ "คณะปฏิวัติ (?)" ต่อความผิดในคดีอาชญากรรมทั่วไป และกำจัด "ศัตรูทางการเมือง" และ "ผู้ที่มีความเห็นต่าง" ไปจากบริบทต่างต่างที่เป็นกระแสหลักในสังคมไทย อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างพลังประชาธิปไตยกับพลังปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย:
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบารมีมากขึ้น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยลง ตัวอย่างเช่น จอมพลสฤษดิ์สนับสนุนให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ ซึ่งทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นสัญญลักษณ์ตัวแทนของชาติอย่างชัดแจ้ง และส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์ให้ดูดีขึ้นในสายตาของชาวต่างชาติ [ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ต่างประเทศบรรยายว่า "จอมพลสฤษดิ์เป็นนายทหารที่ห้าวหาญ เด็ดขาด ด้อยความรู้ทางภาษาอังกฤษ และมิใช่เป็นคนนิ่มนวลแบบจอมพลป." จอมพลสฤษดิ์จึงหันไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เจริญพระชนมพรรษาขึ้นมาในยุโรปตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และรับสั่งได้หลายภาษา อ้างถึงใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 355-356] การเสด็จประพาสต่างประเทศอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงกระทำในนามของประชาชนชาวไทย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตระหนักว่าการปรากฏพระองค์ต่อชาวต่างชาตินั้น จะทำให้ต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยว่าเป็นเผด็จการน้อยลง ด้วยการหันเหความสนใจให้ไปสู่พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แทน ประชาชนก็จะได้ลดการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลไปได้ นอกจากนี้ การจัดพระราชพิธีและพิธีการสังคมต่าง ๆ ขึ้นมายังจะช่วยให้ชื่อเสียงของรัฐบาลมีเพิ่มขึ้นในต่างประเทศและช่วยสมานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างบุคคลในกลุ่มของรัฐบาลและประชาชนให้เกิดขึ้น เช่น การรื้อฟื้นพระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีทอดพระกฐินทางชลมารค พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
**********
แล้วบทความของสุมาลี ก็มาถึง "บทสรุป" ในหัวข้อ "ผลกระทบ" ในตอนจบของบทความ
**********
ผลกระทบ

ตลอดยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจจะมีเสียงชื่นชมจากประชาชน ผู้นิยมการพัฒนาแบบจอมพลสฤษดิ์ ตลอดจนยอมรับวิธีการความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งใช้คติเดิมของพ่อขุน รวมทั้งชื่นชมต่อความเอาใจใส่ในทุกข์สุขของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งของมุมมืด คือ ผลที่เกิดจากการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ที่ทำให้เกิดการเสียดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาการเมืองในระบบเปิดแบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งยากที่ระบบการเมืองแบบปิดแบบจารีตนิยมจะรับไว้ได้ ผลสุดท้ายก็เกิดแรงผลักดันต่อระบบการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทยในเวลาต่อมา คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 [ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, หน้า 172-173]

นอกจากนี้ ความคิดเห็นที่รุนแรงซึ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่หลังเดือนตุลาคม 2516 ได้กลายเป็นเครื่องแสดงอย่างดีถึงปัญหาของสังคมไทย ทั้งจากแง่คิดในเนื้อหาและนัยของการกดขี่ทางปัญญา ความเฟื่องฟูทางปัญญาหลังพ.ศ.2516 ที่เห็นได้จากความกระหายทางความคิดใหม่ ๆ ที่ขัดแย้งกับหลักการเก่า ๆ ของอดีตที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งในบรรยากาศเช่นนี้ ส่งผลให้ผลงานต่าง ๆ ที่ถูกกดขี่ทางปัญญาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ติดตลาดได้อย่างง่ายดาย และเพิ่มอาหารสมองให้แก่ความหิวโหยของอนุชนรุ่นหลังที่มีหัวรุนแรงจนอิ่ม จึงทำให้เกิดการไม่ ลงรอยกันขึ้นในคนระหว่างรุ่นและคนรุ่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าการกดขี่ทางปัญญาและทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์และผู้นำคนอื่น ๆ ต่อมา ตลอดจนผลจากนโยบายการพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์และการเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนามของประเทศไทย รวมทั้งการที่มีแนวความคิดทางเมืองอย่างรุนแรงเกิดขึ้นอันเป็นการท้าทายหลักการเดิมและโหมด้วยการรื้อฟื้นความคิดนอกรีตนอกรอยที่เคยมีมาก่อน และการแสวงหาหลักการใหม่ทางการเมืองที่ถูกต่อต้านจากการรื้อฟื้นหลักการเดิม ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการแบ่งความคิดออกเป็นสองแนว ได้นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยที่จอมพลสฤษดิ์เองก็อาจจะมิได้คาดการณ์ล่วงหน้าหรือคาดหมายถึงผลระยะยาวของการกดขี่ทางปัญญาของตนเลย [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 252-253] ในขณะที่ผู้ที่สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งก็คือจอมพลถนอม กิตติขจร ได้พยายามที่จะสวมบทบาท "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวระบบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการเอง ไม่อาจนำมาใช้ได้กับสังคมไทยที่พัฒนาสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและการเมืองไทย
**********
สิ่งที่ผู้อ่านบทความและใช้ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองของสถาบันพระปกเกล้า อาจจะต้องใช้วิจารณญาณเพื่อทบทวนและแยกย่อยหลากหลาย "ข้อมูล" ทั้งในบริบททางประวัติศาสตร์ และบริบทที่คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ร่วมสมัย (ปรากฏการณ์ในห้วงเวลา 50 ปี ในทางวิชาการยังไม่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์) นั้น ชวนให้คิดไปว่า "สถาบัน" ที่ก่อตั้งขึ้น "ใน" และ "ภายใต้" การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" หรือ "ระบอบรัฐสภา" นี้ มีเหตุผลรองรับอย่างไร แค่ไหน ต่อการ "เห็นด้วย" หรือ "คัดค้าน" ระบอบประชาธิปไตย และ/หรือ ระบอบเผด็จการ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความเคลื่อนไหว "กระแสรอง" ซึ่งบางห้วงเวลาในท่ามกลางการรณรงค์ทางประชาธิปไตยชั่วเวลากึ่งศตวรรษมานี้ อาจยกระดับเป็น "กระแสหลัก" นั่นคือความรู้สึก "โหยหาเผด็จการ".

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8