Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (6)

จาก "ครอบครัวความจริงวันนี้" สู่ "แดงทั้งแผ่นดิน"

วันที่ 2 ธันวาคม 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยโดย มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค
เป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นั่นหมายถึงการสิ้นสุดสถานภาพการในการเป็นแกนนำรัฐบาลและการดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีรักษาการณ์ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ซึ่งในช่วงรอยต่อ การการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นช่วงสูญญากาศทางการเมืองของฝ่ายบริหาร เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่นั้นเอง ทางเอ็นบีทีกลับงดรายการ "ความจริงวันนี้" ประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม โดยมิได้แจ้งล่วงหน้าดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังทำการโดยพลการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม จนกระทั่ง วันอังคารที่ 16 ธันวาคม เอ็นบีทีจึงเริ่มปรับผังรายการ ในช่วงเวลาดังกล่าวเสียใหม่ จึงถือได้ว่า รายการ "ความจริงวันนี้" ออกอากาศเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2551 นั้นเอง

ระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศถอดรายการ "ความจริงวันนี้" มีสื่อมวลชนบางกระแสวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยทางผู้บริหารเอ็นบีทีใช้นโยบาย ดูทิศทางลม ระหว่างการผ่องถ่ายอำนาจทางการเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนขั้ว สลับข้างขึ้น จึงพักรายการไว้รอดูสถานการณ์ก่อน ประกอบกับเพื่อตัดช่องทางการประชาสัมพันธ์งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจรที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 13 ธันวาคม ไปโดยปริยาย

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งในคณะผู้ร่วมก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ถูกสื่อมวลชนรายงานว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนหรือบีบบังคับให้ ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามแปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส.ส.เหล่านั้นมาจากพรรคเพื่อไทย (พรรคพลังประชาชนเดิม) สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนานำโดย พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ (พรรคชาติไทยเดิม) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และกลุ่ม "เพื่อนเนวิน" อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน ทำให้ให้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงข้างมากในสภาสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงสนับสนุนให้อภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และชนะการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 ธันวาคม 2551

สำหรับงานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่สนามศุภชลาศัย ภายใต้หัวข้อ "ความจริงวันนี้ ความจริงประเทศไทย" เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2551 ปรากฏว่ามีคนเสื้อแดงไปร่วมงานประมาณ 80,000 คน ซึ่งผู้ปราศรัยบนเวทีก้ยังคงเป็นแกนนำ นปช. ชุดที่ 1 เช่น 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยในงานครั้งนี้ ไม่มีการโฟนอินจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการฉายวีซีดี ทั้งนี้ นายวีระ มุสิกพงศ์ ในฐานะผู้ปราศรัยและพิธีกร แจ้งต่อมวลชนที่ชุมนุมกันอยู่ว่า มีการขอร้อง ขอแลกการโฟนอิน กับการให้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า หากวันจันทร์นี้ มีการหักหลังเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะพบกับการรวมตัวของคนเสื้อแดงทั้งประเทศ

หลังจากนั้นนายวีระแจ้งแก่ผู้ชุมนุมด้วยว่า มีผู้พยายามจะบล็อกสัญญาณการถ่ายทอดสด ทั้งทางอินเทอร์เน็ต, วิทยุชุมชน, เคเบิลทีวี (สถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี ช่อง 5) เพื่อปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้ชมการปราศรัย ทั้งยังปล่อยข่าวว่า เกิดเหตุปะทะกัน ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดง กับนักเรียนช่างกลด้วย เพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ชุมนุม

งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "ความจริงประเทศไทย ไม่ไว้วางใจอภิสิทธิ์" จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2551 โดยประกาศจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ และเคลื่อนการชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการแถลงนโยบาย ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกดดันให้นายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนมากของประชาชน ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป

งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ "แดงทั้งแผ่นดิน" จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันเสาร์ที่ 31 มกราคม 2552 มีจุดหมายหลักเพื่อปราศรัยโจมตีความไม่ชอบธรรมของการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเคลื่อนพลออกจากท้องสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล

งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจรครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ "แดงทั้งแผ่นดิน" จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อทวงคำตอบ 4 ข้อ จากรัฐบาล ที่เคยเรียกร้องให้ (1) ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง และทำเนียบรัฐบาล (2) การปลดนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง (3) การให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ (4) การยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยขอให้รัฐบาลเตรียมคำตอบให้ดี

ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 21.00 น. นายวีระประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 2 โดยระบุว่าเพื่อยกระดับการต่อสู้ในการขับไล่รัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดจากการแทรกแซงสถาบัน องค์กรอิสระ ทั้งตุลาการ ทหาร และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้จึงขาดความชอบธรรมโดยถือเป็นการชุมนุมตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 จึงมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้อย่างถึงที่สุด และจะเริ่มต้นการใช้ยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการขับไล่รัฐบาลทั้งในสภาและนอกสภา ในเมืองและในชนบท ในประเทศและต่างประเทศ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ขอเรียกร้องให้ประชาชนไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร ให้ออกมาร่วมกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แถลงมาตรการขั้นต่อไปว่า กลุ่ม นปช.จะยุติการชุมนุมในตอนเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้คนเสื้อแดงขอสงวนสิทธิในการแสดงออกอย่างเปิดเผย เพื่อขับไล่รัฐบาลในทุกกรณี โดยสันติปราศจากอาวุธ และจะจัดตั้งเครือข่ายแนวร่วมให้แดงทั้งแผ่นดิน โดยแกนนำจะใช้เวลาหนึ่ง เดือนนับจากนี้ เดินทางไปพบประชาชนทุกภาคของประเทศ เพื่อระดมมวลชน และจะกลับมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล แบบยืดเยื้อ ไม่กลับบ้าน ไม่ชนะไม่เลิก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (33)

สฤษดิ์ ธนะรัชต์: นายกรัฐมนตรีจนวาระสุดท้าย

สำหรับที่มาของฉายา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ซึ่งเจ้าตัวภูมิใจนักหนา ทั้งนี้เพราะมีที่มาจากการเป็นอาภรณ์เพียงชิ้นเดียวสำหรับต้อนรับ "สาวแก่แม่ม่าย" (ผู้มักจะได้รับการปรับสถานภาพเป็น "อนุภรรยา" ในเวลาต่อมา) ที่คนสนิทพามาพบที่ "วิมานสีชมพู" อันเป็นบ้านพักหลังกองพล 1 หรือกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) ซึ่ง "จอมพล 3 คนสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย" เคยมาเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทังสิ้น คือ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2491-2493) พลตรี ถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2493-2495) และ พลตรี ประภาส จารุเสถียร (พ.ศ.2495-2500)

ผลประการหนึ่งจากนโยบาย "เชือดไก่ให้ลิงดู" ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเหตุให้ขบวนการนิสิตนักศึกษายุคหลังกึ่งพุทธกาล ตกอยู่ในสภาพชะงักงันต่อเนื่องกว่า 1 ทศวรรษ เป็นการยุติบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลจากช่วงก่อนหน้านั้นนับจากปี 2490 จนถึงการชุมนุมเดินขบวนคัดค้าน "เลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500" โดยสิ้นเชิง ถึงขนาดนายกรัฐมนตรีกล่าวชมเชยในการปราศรัยแสดงความยินดีต่อบัณฑิต 2503 ของนายกรัฐมนตรี ว่า "...ในยุคหลังนี้ได้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในมหาวิทยาลัยและทำตนเป็นนักศึกษาอย่างแท้จริง คือตั้งใจศึกษาหาความรู้ เหตุการณ์ไม่เรียบร้อยที่เคยมีมาในครั้งก่อนๆได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก ซึ่งนับเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่สถาบันการศึกษาสูงสุดของชาติ" (จาก เอกสารประกอบการสังคายนาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระงาน 50 ปี ธรรมศาสตร์ โดยมีชาญวิทย์เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ธงชัย วินิจจะกูลฯลฯ ร่วมเป็นกรรมการ)

นอกจากนั้น นักศึกษาที่เคยมีบทบาทในช่วงที่ผ่านมา จะถูกจับตามองด้วยความไม่ไว้วางใจ รัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการเข้าควบคุมกิจกรรมนิสิตนักศึกษาได้อย่างเด็ดขาด ขบวนการนักศึกษามีความอ่อนแอที่สุด ไม่มีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ใดๆออกมาให้เห็น ความเข้าใจต่ออุดมการทางสังคมที่เคยมีการปฏิบัติการมาตลอดขาดช่วงลงอย่างสิ้นเชิง

ในขณะเดียวกันจากคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์การเมืองระดับโลกภายหลังสงครามเกาหลี (2493-2496) นำไปสู่ยุค "สงครามเย็น" ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยไทยกับสหรัฐอเมริกาอย่างแบแน่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรับรองจนประเทศไทยไม่ต้องตกเป็น "ประเทศแพ้สงคราม" หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือ หลังจากสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 การร่วมมือที่มีลักษณะแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เริ่มจากการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเริ่มในปี 2504 เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นบนพื้นฐานทุนเอกชน อันเป็นการขยายตลาดการค้าและวัตถุดิบและนโยบายเศรษฐกิจชนิดที่ต้องพึงพาและขึ้นต่อสหรัฐไปโดยปริยาย

ในขณะเดียวกัน การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชของขบวนการประชาชนในอินโดจีนที่นำโดย "พรรคคอมมิวนิสต์" ในแต่ละประเทศ ทำให้ไทยมีความสำคัญต่อการวางนโยบายของสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นตาม "ทฤษฎีโดมิโน" ซึ่งเคยเป็นความคิดชี้นำทางการเมืองของ "โลกเสรี" ที่ว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นๆจะต้องถูกยึดครองแล้วกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไป ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ สหรัฐมองว่าประเทศไทยเป็นปราการสำคัญที่สุดในการป้องกันการแผ่ขยายอำนาจของ "ค่ายสังคมนิยม" หรือ "คอมมิวนิสต์" จึงต้องทุ่มเทความช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านกำลังอาวุธจำนวนมากให้ไทย ช่วยฝึกทหารไทย และความช่วยเหลืออื่นๆด้านการทหารเพิ่มขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐฯ ยังเข้ามาสร้างและขยายปรับปรุงฐานทัพในประเทศไทยหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนการขนส่ง ปฏิบัติการด้านข่าวกรองและระบบเตือนภัย เป็นฐานสำหรับเครื่องบินขับไล่สู้รบทางอากาศและเครื่องบินทิ้งระเบิด และเป็นฐานสำหรับควบคุมสงครามสมัยใหม่ในยุคอิเลกทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่ติด ตั้งระบบควบคุมอากาศยานและระบบเตือนภัยที่สนามบินดอนเมือง และสร้างสนามบินตาคลีจังหวัดนครสวรรค์ในปี 2504 มีการพัฒนาฐานทัพที่โคราชในปี 2505 มีการปรับปรุงฐานทัพอากาศที่จังหวัดนครพนมในปี 2506

แต่กระนั้นก็ตาม ภายหลังการเสียชีวิตของนายกรัฐมนตรีคนเดียวในขณะที่ดำรงตำแหน่งของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ด้วยโรคไตพิการที่เรื้อรังที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และถือว่าเป็นการสิ้นสุดลงของ "ระบอบสฤษดิ์" รัฐบาลสหรัฐก็ยังคงทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง คือ ฐานทัพที่อุดรธานี ซึ่งเป็นกองบัญชาการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยถูกสร้างขึ้นในปี 2507 ฐานทัพที่อู่ตะเภาสร้างเสร็จในปี 2509 และมีการปรับปรุงสนามบินน้ำพอง ที่จังหวัดขอนแก่น ก็ได้รับการปรับปรุง ในปี 2515 เพื่อรองรับหน่วยบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ที่ย้ายมาจากเวียดนาม

ต่อมา พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดพิธีศพแก่นายกรัฐมนตรี อย่างมีเกียรติสูง โดยทรงพระราชดำริว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย จึงสมควรให้จัดพิธีการศพให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิเช่นพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกฏกุดั่นทองน้อย เทียบเท่าพระบรมวงศ์เธอ (ทรงกรม) และให้ตั้งศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร, ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก และให้ข้าราชการไว้ทุกข์ เป็นเวลา 21 วัน, ให้ลดธงครึ่งเสา 7 วัน, โปรดเกล้าฯให้งดงานพิธีต่างๆ คือ งานพระราชอุทธยานสโมสรวันที่ 9 ธันวาคม งานพิธีวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม และงานกาชาดในวันที่ 27 ธันวาคม 2506 ด้วย ทั้งยังให้เลื่อนการเสด็จเยี่ยมประเทศไทยของกษัตริย์มาเลเซียและการเยี่ยมของคณะทูตเวียดนามติออกไป

หลังจากนั้นไม่นานบรรดาทายาทและภรรยา โดยเฉพาะภรรยาคนสุดท้าย คือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา (นามสกุลเดิม "ชลทรัพย์") เกิดมีเรื่องฟ้องร้องเป็นคดีความใหญ่โตเกี่ยวกับกองมรดกซึ่งมีมูลค่ามหาศาล 2,874,009,794 บาท รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับแปลงไม่ถ้วนทั้งในและทั่วพระนครที่ประเมินค่ามิได้ รวมทั้งผลประโยชน์ในธุรกิจการค้า ถึง 45 บริษัท

ท้ายที่สุด คณะ กรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ก็สรุปว่าทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์มีจำนวนมากที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และรัฐบาลได้ประกาศริบทรัพย์เป็นจำนวน 574,328,078 บาท ซึ่งเป็นการยึดทรัพย์นักการเมืองเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การต่อสู้แบบสันติ อหิงสา: วาทกรรมว่างเปล่าในสังคมไทย? (5)

"ความจริงวันนี้" และ "ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร"

ช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชนซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพรรค และของการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่การบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่เริ่มต้นถูกโจมตีด้วยข้อกล่าวหาต่อเนื่อง ตลอดเวลาจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือแม้แต่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองในขั้วหรือที่มีความสัมพันธ์แนบ แน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรัก และถูกทำรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ต่อมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 2551 ว่า จะมอบหมายให้กลุ่มโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผลิตรายการโทรทัศน์ ในทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 22.15-23.00 น. เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหา ที่ผู้บริหารองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เช่น คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ปฏิบัติราชการแทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ตลอดจนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำมาโจมตีรัฐบาล ผ่านสื่อในเครือผู้จัดการ โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ช่องนิวส์วัน

ทว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่ากลุ่มโฆษกรัฐบาลไม่สามารถผลิตรายการดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของรายการ "ข่าวหน้าสี่" ซึ่งมี บริษัท นิวไทม์ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตอยู่แต่เดิมแล้ว ทางรัฐบาลจึงทาบทามให้ บริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์พีทีวี ในปี 2550 และผู้ผลิตรายการ "เพื่อนพ้องน้องพี่" และ "มหาประชาชน" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี ช่อง 5 มาผลิตรายการร่วมกับ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) โดยมี นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกรรมการ บจก.เพื่อนพ้องน้องพี่ เป็นผู้ดำเนินรายการหลัก พร้อมทั้งเชิญ นายจตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 6 พรรคพลังประชาชน และนายณัฐวุฒิ มาเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ

โดยในชั้นต้นมีการประกาศจะใช้ชื่อรายการว่า "ชาวสนามหลวง" แต่แล้วในการออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม มีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "ความจริงวันนี้" และในสัปดาห์แรกนั้นเอง ก็ได้รับเวลาออกอากาศเพิ่มในวันอาทิตย์ เวลา 22.00-23.00 น. จากนั้นประมาณกลางเดือนกันยายน รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ เข้าดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรแทนนายจักรภพ เพ็ญแข ในรายการ "เพื่อนพ้องน้องพี่" และ "มหาประชาชน" มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงเข้ามาแทนที่

ทว่านับจากเดือนตุลาคมเป็นต้นมา รายการมักถูกงดอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากทางเอ็นบีทีจะนำเวลาไปถ่ายทอดรายการพิเศษ ถึงกระนั้นก็จะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าทุกครั้ง จนกระทั่งหลังจากวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคพลังประชาชนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นอันต้องยุติลง และศาลยังตัดสินให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากอุปสรรคที่เริ่มปรากฏให้เห็นในการทำรายการ "ความจริงวันนี้" ออกอากาศทางโทรทัศน์เสรีหรือฟรีทีวี จึงนำไปสู่การจัด "งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1" ที่อาคารธันเดอร์โดม ภายในเมืองทองธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม 2551 ระหว่างเวลา 12.00-18.00 น. โดยประกาศจุดประสงค์สำคัญเพื่อรำลึกถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยมีกลุ่มพิธีกร และแกนนำ นปช.ขึ้นปราศรัยหลายคน ไล่ลำดับมาตั้งแต่ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวีระ มุสิกพงศ์, นายจักรภพ เพ็ญแข, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย, นายอดิศร เพียงเกษ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 40,000 คน ทั้งนี้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำศูนย์เฝ้าระวังการรัฐประหารแห่งชาติ ยังได้นำสติ๊กเกอร์ "เบื่อม็อบพันธมิตร" มาแจกจ่ายภายในงานด้วย

การตอบรับของมวลชนเสื้อแดงเกินความคาดหมายจาก "งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1" จึงเป็นที่มาของการจัดรายการในลักษณะดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพื่อให้คนเสื้อแดง ซึ่งพัฒนามาจากกลุ่มประชาชนผู้รักประชาธิปไตย กับส่วนที่ศรัทธาในผลงานของรัฐบาลและตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยงาน "ครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 2" ภายใต้หัวข้อ "ความจริงวันนี้ ต้านรัฐประหาร" จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ระหว่างเวลา 17.00-23.00 น. ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ภายในสนามกีฬาหัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ถนนรามคำแหง ซึ่งในครั้งนี้ ประเมินกันว่ามีผู้ร่วมงานถึง 100,000 คน ทั้งนี้ช่วงไฮไลท์ของงาน อยู่ที่การปราศรัยทางโทรศัพท์ ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีนายวีระ มุสิกพงษ์ ทำหน้าที่พิธีกรและผู้สัมภาษณ์เนื้อหาที่สำคัญ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ กล่าวถึงการสร้างความสามัคคี ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ

นอกจากนั้นนอกเหนือจากแผนการดำเนินการของคณะทำงาน ยังมีการจัด "งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ภาคพิเศษ" คณะผู้จัดรายการฯ ได้รับความอนุเคราะห์จาก พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) ให้จัดขึ้นที่วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. โดยพระราชธรรมนิเทศได้วางข้อกำหนดว่า ต้องไม่มีการปราศรัยเพื่อปลุกระดมทางการเมือง ไม่มีการโทรศัพท์ข้ามประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี และไม่อนุญาตให้นำ "ตีนตบ" เข้ามาในวัด หากฝ่าฝืน พระพะยอมสามารถใช้สิทธิเจ้าอาวาส ในฐานะเจ้าของสถานที่ ยุติรายการครั้งนี้ได้ทันที มีการประเมินจากจำนวนผู้คนที่เข้าไปร่วมงานจนแน่นพื้นที่ของวัดสวนแก้วว่าผู้ร่วมงานอาจจะสูงถึง 30,000 คน

งานเริ่มต้นด้วยการทอดผ้าป่าสามัคคีเมื่อเวลา 12.30 น. จากนั้น พระพยอมได้ขึ้นเวที เพื่อเทศน์เตือนสติกลุ่มการเมืองทั้งสองฝ่าย จากนั้นเป็นการเสวนาของผู้ดำเนินรายการและพระพยอม ต่อด้วยการปราศรัยของวิทยากรหลายท่าน ได้แก่ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, นายอดิศร เพียงเกษ, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายก่อแก้ว พิกุลทอง และนายจักรภพ เพ็ญแข

ทั้งนี้ก่อนที่งานจะสิ้นสุด เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. พระพยอม กัลยาโณ ได้ขึ้นเวที เพื่อเทศน์ให้เหล่าประชาชนได้รับฟังอีกครั้ง โดยในงานนี้ ไม่มีการปราศรัยทางโทรศัพท์ ของทั้ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (32)

สฤษดิ์กับมาตรา 17:
เป้าหมายคือปราบปรามประชาชน


แม้จะดูเหมือนว่าในทางนิติ-รัฐศาสตร์ อำนาจทางการเมืองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะมาจาก ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รากฐานอำนาจอย่างแท้จริงของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" นั้นมาจาก "ปากกระบอกปืน" นั้นคือคืออำนาจทางการทหาร หรือชี้ชัดลงไปได้โดยไม่อ้อมค้อมว่า มาจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง จะเห็นได้ว่าตลอดเวลา 5 ปีเศษในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะปฏิวัติ 2 ตำแหน่งสูงสุดสำหรับข้าราชการทหารที่ไม่วางใจให้บริษัทบริวารคนใดรับช่วงไปถือบังเหียนแทน คือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ดร.เสนีย์ คำสุข ได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ลักษณะของผู้นำทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางการเมือง กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยระบุว่า "เป็นช่วงของการเมืองไทยยุค 'พ่อขุนอุปถัมภ์' เผด็จการ และเผด็จการทหารอำนาจนิยม หลังจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจแล้ว เน้นการปกครองบริหารราชการแผ่นดินแบบระบบพ่อขุน กล่าวคือ ระบบการเมืองประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.รัฐบาล 2.ข้าราชการ คั่นกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และ 3.ประชาชน" (เอกสารการสอนชุด วิชาปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 1 (ฉบับปรับปรุง), นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545. เล่ม 2 หน่วยที่ 9. ปัญหาการเมืองไทยด้านกระบวนการทางเมือง / วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ, เสนีย์ คำสุข, ธโสธร ตู้ทองคำ)

สำหรับการใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองฯ ฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ จะด้วยจุดประสงค์จะเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หรือจะโดยเจตนาอื่นใดเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย การตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติตามหลักสากลเยี่ยงอารยะประเทศ ส่งผลให้มีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าผู้ต้องหาคดีเพลิงไหม้ ถึง 4 คดีในเวลาเพียง 2 เดือนหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร ที่แต่งตั้งมากับมือ คดีแรกวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ตำบลบางยี่เรือ คดีที่ 2 วันที่ 8 พฤศจิกายน เพลิงไหม้ที่ตลาดพลูมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาทในสมัยนั้น คดีต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน เพลิงไหม้โรงเลื่อยจักรบ้วนเฮงหลง ตำบลวัดพระยาไกร และในวันที่ 19 ธันวาคมปีเดียวกัน เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเกือบ 300 หลังคาเรือนที่ตลาดท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบัญชาการดับไฟและสอบสวนผู้ต้องหาด้วยตนเอง และมีคำสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาทันที ณ ที่เกิดเหตุนั้นเอง

อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจาก "คทาจอมพล" กลายเป็นอาญาสิทธิ์การปกครองที่ไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดละเมิดหรือโต้แย้งได้

ในส่วนการควบคุมประชาชนนั้น การกำจัดเสรีภาพในการคิด การพูด และการแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งในเวลานั้นสื่อที่สำคัญที่สุดคือ "หนังสือพิมพ์" คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ถือเป็นการดำเนินการเร่งด่วน เริ่มจากการกวาดล้างจับกุม นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียน นักศึกษา อาจารย์และปัญญาชน ผู้นำกรรมกรและผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกจับสึกในเวลาต่อมา รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนหลายร้อยคนโดยไม่มีการไต่สวนตามกฎหมายแต่อย่างใด อาทิเช่น นายอุทธรณ์ พลกุล, นายอิศรา อมันตกุล, นายกรุณา กุศลาศัย, นายจิตร ภูมิศักดิ์, นายแคล้ว นรปติ, นายทองใบ ทองเปาด์, นายอุดม ศรีสุวรรณ, นายทวีป วรดิลก, นายสุพจน์ ด่านตระกูล และ พระมหามนัส จิตตธัมโม วัดมหาธาตุ เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น ได้รับการขนานนามในภายหลังตามชื่อหนังสือที่เขียนโดยนายทองใบ ทองเปาด์ ว่า "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" และส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพ "ถูกขังลืม" ไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

พร้อมกันนั้น มีการยกกำลังบุกค้นปิดหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายสิบแห่ง ปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน ออกประกาศคณะปฏิวัติล้มเลิกกฎหมายแรงงานทั้งหมดกับห้ามการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานอย่างเด็ดขาด มีการควบคุมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเข้มงวด มีคำสั่ง "ห้าม" นิสิตนักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ด้วยการ "สอดส่อง" ทั้งทางเปิดเผยโดยคณาจารย์ที่เป็นเครื่องมือของรัฐ และผ่านการแทรกซึมหาข่าวผ่าน "สายลับ" ในหมู่นักศึกษา

กระบวนการโฆษณาชวนเชื่อถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ตอกย้ำและต่อเนื่อง ผ่านวาทกรรม "สมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ควบคุมความคิดและการเคลื่อนไหวของประชาชน คือ "พระราชบัญญัติ ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495" ซึ่งประกาศใช้มาตั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้นมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถูกนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองฯ โดยหน่วยงานของรัฐทั้งทางด้านความมั่นคง และทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง ในการปลุกและสร้างกระแสต่อต้านปราบปรามผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล ประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดชัดเจน และไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

กรณีที่ถือว่ามีความสำคัญต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง "ระบอบเผด็จการทหาร" กับ "ระบอบประชาธิปไตย" ก็คือ การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร เริ่มต้นจากยิงเป้า นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 ที่ท้องสนามหลวง ตามมาด้วยการยิงเป้า นายทองพันธ์ สุทธมาศ และนายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 และในวันที่ 24 เมษายน 2505 ยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

ผลที่ตามมาคือ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกบีบคั้นกดดันจากอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาในชนบทเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งๆที่ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลได้แต่อย่างใด

ปลายปี 2504 นายจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุก แต่งเพลง "วีรชนปฏิวัติ" ขึ้น จากความความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของนายครอง จันดาวงศ์ และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบเนื่องต่อมาในขบวนการฝ่ายประชาชน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8