Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (32)

สฤษดิ์กับมาตรา 17:
เป้าหมายคือปราบปรามประชาชน


แม้จะดูเหมือนว่าในทางนิติ-รัฐศาสตร์ อำนาจทางการเมืองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะมาจาก ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502 แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รากฐานอำนาจอย่างแท้จริงของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" นั้นมาจาก "ปากกระบอกปืน" นั้นคือคืออำนาจทางการทหาร หรือชี้ชัดลงไปได้โดยไม่อ้อมค้อมว่า มาจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกนั่นเอง จะเห็นได้ว่าตลอดเวลา 5 ปีเศษในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะปฏิวัติ 2 ตำแหน่งสูงสุดสำหรับข้าราชการทหารที่ไม่วางใจให้บริษัทบริวารคนใดรับช่วงไปถือบังเหียนแทน คือตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ดร.เสนีย์ คำสุข ได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ลักษณะของผู้นำทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางการเมือง กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยระบุว่า "เป็นช่วงของการเมืองไทยยุค 'พ่อขุนอุปถัมภ์' เผด็จการ และเผด็จการทหารอำนาจนิยม หลังจากจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจแล้ว เน้นการปกครองบริหารราชการแผ่นดินแบบระบบพ่อขุน กล่าวคือ ระบบการเมืองประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.รัฐบาล 2.ข้าราชการ คั่นกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และ 3.ประชาชน" (เอกสารการสอนชุด วิชาปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 1 (ฉบับปรับปรุง), นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545. เล่ม 2 หน่วยที่ 9. ปัญหาการเมืองไทยด้านกระบวนการทางเมือง / วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ, เสนีย์ คำสุข, ธโสธร ตู้ทองคำ)

สำหรับการใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองฯ ฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ จะด้วยจุดประสงค์จะเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู" หรือจะโดยเจตนาอื่นใดเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย การตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติตามหลักสากลเยี่ยงอารยะประเทศ ส่งผลให้มีการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าผู้ต้องหาคดีเพลิงไหม้ ถึง 4 คดีในเวลาเพียง 2 เดือนหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ถนอม กิตติขจร ที่แต่งตั้งมากับมือ คดีแรกวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ตำบลบางยี่เรือ คดีที่ 2 วันที่ 8 พฤศจิกายน เพลิงไหม้ที่ตลาดพลูมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาทในสมัยนั้น คดีต่อมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน เพลิงไหม้โรงเลื่อยจักรบ้วนเฮงหลง ตำบลวัดพระยาไกร และในวันที่ 19 ธันวาคมปีเดียวกัน เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเกือบ 300 หลังคาเรือนที่ตลาดท่าช้าง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อบัญชาการดับไฟและสอบสวนผู้ต้องหาด้วยตนเอง และมีคำสั่งยิงเป้าผู้ต้องหาทันที ณ ที่เกิดเหตุนั้นเอง

อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจาก "คทาจอมพล" กลายเป็นอาญาสิทธิ์การปกครองที่ไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดละเมิดหรือโต้แย้งได้

ในส่วนการควบคุมประชาชนนั้น การกำจัดเสรีภาพในการคิด การพูด และการแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งในเวลานั้นสื่อที่สำคัญที่สุดคือ "หนังสือพิมพ์" คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ถือเป็นการดำเนินการเร่งด่วน เริ่มจากการกวาดล้างจับกุม นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนนักคิดนักเขียน นักศึกษา อาจารย์และปัญญาชน ผู้นำกรรมกรและผู้นำท้องถิ่น รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกจับสึกในเวลาต่อมา รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนหลายร้อยคนโดยไม่มีการไต่สวนตามกฎหมายแต่อย่างใด อาทิเช่น นายอุทธรณ์ พลกุล, นายอิศรา อมันตกุล, นายกรุณา กุศลาศัย, นายจิตร ภูมิศักดิ์, นายแคล้ว นรปติ, นายทองใบ ทองเปาด์, นายอุดม ศรีสุวรรณ, นายทวีป วรดิลก, นายสุพจน์ ด่านตระกูล และ พระมหามนัส จิตตธัมโม วัดมหาธาตุ เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น ได้รับการขนานนามในภายหลังตามชื่อหนังสือที่เขียนโดยนายทองใบ ทองเปาด์ ว่า "คอมมิวนิสต์ลาดยาว" และส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพ "ถูกขังลืม" ไม่มีการสอบสวนดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

พร้อมกันนั้น มีการยกกำลังบุกค้นปิดหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายสิบแห่ง ปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน ออกประกาศคณะปฏิวัติล้มเลิกกฎหมายแรงงานทั้งหมดกับห้ามการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานอย่างเด็ดขาด มีการควบคุมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่างเข้มงวด มีคำสั่ง "ห้าม" นิสิตนักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ด้วยการ "สอดส่อง" ทั้งทางเปิดเผยโดยคณาจารย์ที่เป็นเครื่องมือของรัฐ และผ่านการแทรกซึมหาข่าวผ่าน "สายลับ" ในหมู่นักศึกษา

กระบวนการโฆษณาชวนเชื่อถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ตอกย้ำและต่อเนื่อง ผ่านวาทกรรม "สมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า"

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เครื่องมือที่รัฐบาลใช้ควบคุมความคิดและการเคลื่อนไหวของประชาชน คือ "พระราชบัญญัติ ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495" ซึ่งประกาศใช้มาตั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้นมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถูกนำมาใช้ควบคู่กับมาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองฯ โดยหน่วยงานของรัฐทั้งทางด้านความมั่นคง และทางด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง ในการปลุกและสร้างกระแสต่อต้านปราบปรามผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล ประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดชัดเจน และไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

กรณีที่ถือว่ามีความสำคัญต่อช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง "ระบอบเผด็จการทหาร" กับ "ระบอบประชาธิปไตย" ก็คือ การประหารชีวิตในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างรัฐบาลและบ่อนทำลายความมั่นคงในราชอาณาจักร เริ่มต้นจากยิงเป้า นายศุภชัย ศรีสติ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 ที่ท้องสนามหลวง ตามมาด้วยการยิงเป้า นายทองพันธ์ สุทธมาศ และนายครอง จันดาวงศ์ อดีต ส.ส. จังหวัดสกลนคร จากพรรคแนวร่วมเศรษฐกร ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 และในวันที่ 24 เมษายน 2505 ยิงเป้า นายรวม วงศ์พันธ์ ณ แดนประหาร เรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี

ผลที่ตามมาคือ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่ถูกบีบคั้นกดดันจากอำนาจเผด็จการ ตัดสินใจมุ่งสู่เขตป่าเขาในชนบทเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งๆที่ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพเข้มแข็งพอจะลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลได้แต่อย่างใด

ปลายปี 2504 นายจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในคุก แต่งเพลง "วีรชนปฏิวัติ" ขึ้น จากความความรู้สึกประทับใจในการต่อสู้ของนายครอง จันดาวงศ์ และในเวลาต่อมาเพลงนี้ก็ยังได้รับการเผยแพร่และขับร้องกันสืบเนื่องต่อมาในขบวนการฝ่ายประชาชน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8