จาก "ครอบครัวความจริงวันนี้" สู่ "แดงทั้งแผ่นดิน"
วันที่ 2 ธันวาคม 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยโดย มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นั่นหมายถึงการสิ้นสุดสถานภาพการในการเป็นแกนนำรัฐบาลและการดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีรักษาการณ์ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
ซึ่งในช่วงรอยต่อ การการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งเป็นช่วงสูญญากาศทางการเมืองของฝ่ายบริหาร เนื่องจากยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ชุดใหม่นั้นเอง ทางเอ็นบีทีกลับงดรายการ "ความจริงวันนี้" ประจำวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม โดยมิได้แจ้งล่วงหน้าดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังทำการโดยพลการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม จนกระทั่ง วันอังคารที่ 16 ธันวาคม เอ็นบีทีจึงเริ่มปรับผังรายการ ในช่วงเวลาดังกล่าวเสียใหม่ จึงถือได้ว่า รายการ "ความจริงวันนี้" ออกอากาศเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2551 นั้นเอง
ระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศถอดรายการ "ความจริงวันนี้" มีสื่อมวลชนบางกระแสวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากเหตุผลทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยทางผู้บริหารเอ็นบีทีใช้นโยบาย ดูทิศทางลม ระหว่างการผ่องถ่ายอำนาจทางการเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนขั้ว สลับข้างขึ้น จึงพักรายการไว้รอดูสถานการณ์ก่อน ประกอบกับเพื่อตัดช่องทางการประชาสัมพันธ์งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจรที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ในวันที่ 13 ธันวาคม ไปโดยปริยาย
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก หนึ่งในคณะผู้ร่วมก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ถูกสื่อมวลชนรายงานว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนหรือบีบบังคับให้ ส.ส.ฝ่ายตรงข้ามแปรพักตร์มาอยู่ฝ่ายสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส.ส.เหล่านั้นมาจากพรรคเพื่อไทย (พรรคพลังประชาชนเดิม) สมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนานำโดย พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ (พรรคชาติไทยเดิม) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และกลุ่ม "เพื่อนเนวิน" อดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชน ทำให้ให้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงข้างมากในสภาสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงสนับสนุนให้อภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และชนะการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 15 ธันวาคม 2551
สำหรับงานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่สนามศุภชลาศัย ภายใต้หัวข้อ "ความจริงวันนี้ ความจริงประเทศไทย" เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม 2551 ปรากฏว่ามีคนเสื้อแดงไปร่วมงานประมาณ 80,000 คน ซึ่งผู้ปราศรัยบนเวทีก้ยังคงเป็นแกนนำ นปช. ชุดที่ 1 เช่น 3 ครั้งที่ผ่านมา โดยในงานครั้งนี้ ไม่มีการโฟนอินจาก พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการฉายวีซีดี ทั้งนี้ นายวีระ มุสิกพงศ์ ในฐานะผู้ปราศรัยและพิธีกร แจ้งต่อมวลชนที่ชุมนุมกันอยู่ว่า มีการขอร้อง ขอแลกการโฟนอิน กับการให้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล และกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า หากวันจันทร์นี้ มีการหักหลังเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะพบกับการรวมตัวของคนเสื้อแดงทั้งประเทศ
หลังจากนั้นนายวีระแจ้งแก่ผู้ชุมนุมด้วยว่า มีผู้พยายามจะบล็อกสัญญาณการถ่ายทอดสด ทั้งทางอินเทอร์เน็ต, วิทยุชุมชน, เคเบิลทีวี (สถานีโทรทัศน์เอ็มวีทีวี ช่อง 5) เพื่อปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้ชมการปราศรัย ทั้งยังปล่อยข่าวว่า เกิดเหตุปะทะกัน ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดง กับนักเรียนช่างกลด้วย เพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้ชุมนุม
งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "ความจริงประเทศไทย ไม่ไว้วางใจอภิสิทธิ์" จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2551 โดยประกาศจะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ และเคลื่อนการชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการแถลงนโยบาย ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกดดันให้นายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนมากของประชาชน ตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป
งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ "แดงทั้งแผ่นดิน" จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันเสาร์ที่ 31 มกราคม 2552 มีจุดหมายหลักเพื่อปราศรัยโจมตีความไม่ชอบธรรมของการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเคลื่อนพลออกจากท้องสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล
งานครอบครัวความจริงวันนี้สัญจรครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ "แดงทั้งแผ่นดิน" จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ในวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อทวงคำตอบ 4 ข้อ จากรัฐบาล ที่เคยเรียกร้องให้ (1) ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง และทำเนียบรัฐบาล (2) การปลดนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง (3) การให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ (4) การยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน โดยขอให้รัฐบาลเตรียมคำตอบให้ดี
ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เวลา 21.00 น. นายวีระประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 2 โดยระบุว่าเพื่อยกระดับการต่อสู้ในการขับไล่รัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เกิดจากการแทรกแซงสถาบัน องค์กรอิสระ ทั้งตุลาการ ทหาร และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้จึงขาดความชอบธรรมโดยถือเป็นการชุมนุมตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 63 จึงมีความชอบธรรมที่จะต่อสู้อย่างถึงที่สุด และจะเริ่มต้นการใช้ยุทธศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น ทั้งการขับไล่รัฐบาลทั้งในสภาและนอกสภา ในเมืองและในชนบท ในประเทศและต่างประเทศ จนกว่าจะได้รับชัยชนะ ขอเรียกร้องให้ประชาชนไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร ให้ออกมาร่วมกันขับไล่รัฐบาลเผด็จการ
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แถลงมาตรการขั้นต่อไปว่า กลุ่ม นปช.จะยุติการชุมนุมในตอนเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้คนเสื้อแดงขอสงวนสิทธิในการแสดงออกอย่างเปิดเผย เพื่อขับไล่รัฐบาลในทุกกรณี โดยสันติปราศจากอาวุธ และจะจัดตั้งเครือข่ายแนวร่วมให้แดงทั้งแผ่นดิน โดยแกนนำจะใช้เวลาหนึ่ง เดือนนับจากนี้ เดินทางไปพบประชาชนทุกภาคของประเทศ เพื่อระดมมวลชน และจะกลับมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล แบบยืดเยื้อ ไม่กลับบ้าน ไม่ชนะไม่เลิก.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน