Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (80)

บทส่งท้าย "ดุซงญอ"
การแก้ไขที่ไม่เกิดขึ้น (1)

นายปรีดี พนมยงค์ ชุดสูทสีขาวขวามือ ในการตรวจราชการในชนบทครั้งหนึ่ง (ไม่ทราบรายละเอียด)

ก่อนจะจบเรื่องราวความเป็นมาของกรณี "กบฏดุงซงญอ" ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าว่าเป็นที่มาของ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ขออนุญาตนำใจความสำคัญจากบทความ 2 เรื่อง 3 ชิ้น โดยผู้เขียน 2 ท่านมาเสนอเพี่อพิจาณาประกอบความเป็นไปได้ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ไว้

บทความชิ้นแรก "การแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางของปรีดี พนมยงค์" โดย ชำนาญ จันทร์เรือง เผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=941 (จาก การแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางของปรีดี พนมยงค์ มองมุมใหม่ : ชำนาญ จันทร์เรือง ตีพิมพ์ใน กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549) มีสาระที่น่าสนใจว่าด้วยเอกภาพของชาติ ดังนี้:

ปัญหาภาคใต้ที่กำลังลุกลามและเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในปัจจุบันนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนผู้รักสันติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือมุสลิม การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่พร่ำบอกตลอดเวลาว่า "มาถูกทางแล้ว" ก็ไม่บังเกิดผล มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็น่าเห็นใจต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่พยายามหาวิธีดับไฟแห่งความรุนแรงนี้ลงให้ได้ ผมจึงอยากจะนำเสนอแนวความคิดที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหานี้โดยนำเสนอแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่ได้ให้ความหมายของคำว่า
"ประชาธิปไตย" หมายถึง ความเป็นใหญ่ของประชาชนและปวงชนต้องมีสิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน
"สามัญชน" หมายถึง ชนจำนวนส่วนมากที่สุดของประชาชน
"อภิสิทธิ์ชน" หมายถึง ชนจำนวนส่วนข้างที่สุดของปวงชน ได้แก่นายทุน ที่มีฐานะดีที่สุดยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ รวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้
"รัฐธรรมนูญ" หมายถึง กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใด ให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชน และจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้เมื่อปี 2514 เกี่ยวกับ "เอกภาพของชาติกับประชาชาติไทย" ซึ่งประเสริฐ ชัยพิดุสิต เรียบเรียงไว้ มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
1) การรักปิตุภูมิยังมิได้หมดไป ยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกัน หรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกัน กับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว การรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง 
2) ริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือท้องที่โดยเฉพาะยังมีอยู่ ดังเช่น ท้องที่ของประเทศไทย ซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้น ๆ พูดไทยไม่ได้ หรือพูดไทยได้ แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยาก คนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องถิ่นหรือสำเนียงตามท้องถิ่นของตน 
3) บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะ เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัย ประมาณ 6 ปี ภายหลังอภิวัฒน์ (พ.ศ. 2475) เจ้าผู้ครองนครลำพูน ถึงแก่พิราลัย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่ง และพระยาภูผาราชา แห่งระแงะสิ้นชีพราว ๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือภายหลังนั้นไม่นาน 
4) กลุ่มต่าง ๆ ภายในชาติหนึ่ง ๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ถ้ามีทั้งภาษาและศาสนาแตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติก็ยิ่งเหนียวแน่นมากในประเทศไทย ภายหลังรัฐประหาร (8 พ.ย. 2490) รัฐบาลได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอิสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฏแบ่งแยกดินแดน ในสมัยรัชการที่ 5 มีกรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ถูกกักตัวที่พิษณุโลก เมื่อกลับไปปัตตานี ก็คิดแยกดินแดนอีก
เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้อง ป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไป เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติไว้
ก) วิธีการของอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ รัฐบาลของชนส่วนมากในชาตินั้น ๆ คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่ 
ข) วิธีการเผด็จการ เช่นฮิตเลอร์ หรือ มุสโสสินี ใช้วิธีบังคับแต่ไม่สามารถทำลายจิตใจรักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่าง ๆ ในเขตนั้นได้ 
ค) วิธีการของสวิสเซอร์แลนด์ พลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน แยกออกเป็นแขวง ๆ แต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐมีรัฐบาลกลางเดียวกัน ไม่ปรากฏว่า มีชนชาติใดในสวิสเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก
ง) วิธีประชาธิปไตย ประธานาธิบดีลินคอล์นให้ไว้คือ การปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริง เอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎร โดยราษฎร เพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ
จ) มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยการดำรงชีพอยู่นั้น ย่อมมีจิตใจในทางด้านค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน หากเขาไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชนของเขาแล้ว ก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่ดีกว่าก็เป็นไป
**********
จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะเป็นความเห็นที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2514 แต่ก็ยังไม่ล้าสมัยแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการของสวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ สวีเดน เนเธอแลนด์ หรือแม้กระทั่งวิธีประชาธิไตยของอดีตประธานาธิบดีลินคอล์นแห่งสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่ามีชนหลากหลายเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่ง

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นสามัญชนที่สำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เคยเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในส่วนของคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" ความสำคัญของท่านอยู่ในระดับเดียวกับ เมาเซตุงของจีน โฮจิมินห์ของเวียดนาม หรือเนห์รูของอินเดีย แต่น่าอนาถที่ท่านต้องจบชีวิตในต่างแดนดั่งผู้ลี้ภัย ในขณะที่รัฐบุรุษ 3 ท่านนั้นได้รับการปลงศพอย่างยิ่งใหญ่ในนามของรัฐ แต่ของไทยเราไม่มีการจัดงานศพให้สมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาติบ้านเมืองแต่อย่างใด ไม่มีแม้แต่ผู้นำรัฐบาลไทยไปในงานศพของท่าน

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลพึงกระทำก็คือการนำเอาแนวความคิดของท่านมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เสีย เพื่อที่จะได้เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและเป็นการสนองคุณต่อผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ดังเช่น มหาบุรุษที่ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ เคยกระทำไว้แก่แผ่นดินไทยในอดีต.
(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 กุมภาพันธ์ 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (79)

"ปือแร ดุซงญอ"
กบฏหรือสงคราม (12)

จอมพลป. พิบูลสงครามที่กัมพูชา หลังการรัฐประหาร 2500 ที่ยืนซ้ายสุดคือ พล.ร.จ. ประสงค์ พิบูลสงคราม บุตรชายคนที่ 2

ในเว็บไซต์ http://www.dusongyo.com/ หัวข้อ "ทำไม?เรียกกบฏดุซงญอ" เรื่อง "ชาวบ้านกับเจ้าหน้ารัฐในเหตุการณ์ดุซงญอ" (อ้างอิงจาก: ปาตานี ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู อารีฟีน บินจิ,  อ.ลออแมน, ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล หน้า 282-290) เขียนสรุปไว้ถึงการวิพากษ์วิจารณ์ของ เติงกูมะห์หมูด มะไฮยิดดีน หรือ ตวนกู (ตนกูหรือ เต็งกู) มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของ ตวนกู อับดุลกาเดร์ กามารูดดีน รายาปัตตานีองค์สุดท้าย ถึงความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ในปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และท่าทีต่อประชาชนเชื้อสายมลายู
**********
27 เมษายน 2491 เช้าวันนี้รองผู้บังคับการแฝดกับกำลังพลจากสงขลา ประมาณยี่สิบกว่าคนมาถึง(หมู่บ้าน)กลีซา หลังอาหารเช้าแล้วก็ได้จัดการแยกหน่วยเดินทางตามลำดับหน่วย พักกลางป่าแห่งนี่ จนถึงราว 13.00 น. ถึงควนสูงกลางป่าจวนจะออกทุ่งพวกเราได้ยินเสียงโห่ร้อง จึงตั้งแถวขยายตามที่จัดมา

พอตั้งเสร็จอย่างด่วน เสียงโห่ร้องใกล้เข้ามาและเห็นคนมาทางถนนประมาณ 30 คนเศษออกมายืนยันตรงถนนมองมาทางเรา พร้อมกันนี้ก็ได้ยินเสียงปืนฝ่ายจลาจนดัง 4-5 นัด รองผู้บังคับการแฝดสั่งยิงโต้ตอบไปบ้าง

ก็เห็นพวกมันตรงเข้ามาและเสียงปืนกระชั้นใกล้

พวกเราก็ยิงโต้ตอบไป พวกที่อยู่กลางถนนแทนที่จะดานหน้าเข้ามาอย่างวันแรกกลับตีโอบปีกขวาอย่างหนัก การต่อสู้ดำเนินไป 3 ชั่วโมงเศษ ท่านผู้ใหญ่เกรงว่าจะค่ำจึงสั่งถอย ในขณะที่กำลังถอยพวกแขกที่ตีโต้หนักทางขวามือได้ยิงถูก พลสมัครวิน ไกรเลิศ ตาย เพื่อนได้ช่วยหามไปและถอยไปรวมกันทั้งหมดที่(บ้าน)กลีซา

รอฟังคำสั่งอีก 2 วัน จึงได้ยกเข้ามายึดดุซงญอ โดยเหตุการณ์ ปกติ สืบทราบภายหลังว่าพวกแขกถอยตั้งแต่วันต่อสู้ครั้งหลัง

การต่อสู้ครั้งหลัง โดยมากพวกแขกซุ่มอยู่ตามในป่าและออกมาโอบตีปีกขวาอย่างหนักและเปิดเผยอาวุธของพวกมันมีทั้งปืนและดาบ ที่เขาว่าไม่มีปืนนั้นไม่จริง ตำรวจที่ตายเช่น พลสมัครวิน ไกรเลิศ ก็ถูกปืนที่หัว

พบกระสุนปืนคาร์ไบน์และปลอกกระสุนจำนวนมากในป่า ตำรวจไทยเสียชีวิตทั้งหมด 5 นาย บาดเจ็บ 1 นาย มลายูตายประมาณ 30 กว่าคน บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน

ในบันทึกเหตุการณ์กบฏดุซงญอ ของวรมัย กบิลสิงห์ (เพิ่มเติม)

25 เมษายน 2491 จึงได้มีชาวไทยมุสลิมรวมกันราว 1,000คน เข้าจู่โจมกองกำลังตำรวจไทยใกล้ชายแดนรัฐกลันตัน

การปะทะเกิดขึ้นในเวลาเช้าอย่างรวดเร็วแบบแตกหัก ชาวไทยมุสลิมในหมู่บ้านดุซงญออันเป็นจุดปะทะกล่าวว่าตำรวจไทยเป็นฝ่ายยิงก่อนด้วยความระแวง เพราะไทยมุสลิมกลุ่มนั้นเพิ่งกลับมาจากมาเลเซีย

แท้จริงพวกเขากลับมาดุซงญอ เพราะเกรงตำรวจไทยเข้าใจผิดว่าเป็นโจรจีนคอมมิวนิสต์(จคม.)อาจไม่ปลอดภัย แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรการเผชิญหน้าก็ได้ขยายตัวใหญ่อย่างรวดเร็ว

การปะทะกันเมื่อ 25 เมษายน 2491 นี้มีคนตาย 30 ถึง 100 คน ฯลฯ

26 เมษายน 2491 หน่วยรบพิเศษส่วนกลางได้รับการสนับสนุนจากเรือรบและเครื่องบินโจมตีอีก 3 ลำ ก็ยกพลพร้อมอาวุธปืนเข้ากวาดล้างชาวบ้านดูซงญอ จำนวนมากกว่า 100 คน และถูกปะทะตรึงไว้ด้วยคนที่นั้นราว 100 คน และฝ่ายตำรวจก็ถอนกำลังออกไปอีกครั้ง
และกลับมาอีกด้วยแผนเผด็จศึกก่อนรุ่งอรุณ

28 เมษายน 2491 ระหว่างที่ชาวไทยมุสลิมกำลังปฏิบัติศาสนกิจ ทำละหมาดก่อนตะวันขึ้น (ละหมาดซุบฮิ) ในสุเหร่าตือกอ... เสียงแห่งอำนาจจากรัฐ(เสียงปืน) ก็ดังกึกก้องไปทั้งดุซงญอและเนิ่นนาน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และสรุปว่า "โศกนาฏกรรมดุซงญอนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงศาสนกิจอิสลาม"

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเหตุการณ์ที่หมู่บ้านดุซงญอ ก็ถูกปกปิดหวังให้กาลเวลากลบกลืนไป.......

นายอับดุลซามัด อิบราฮิม (นายสมรรภ เอี่ยมวิโรจน์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรนราธิวาสได้ตั้งกระทู้ในสภาผู้แทนราษฏรโดยกล่าวว่า "ทางการตำรวจไทยได้ออกติดตามไล่ล่าประชาชนมุสลิมไม่น้อยกว่า 6,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปยังดินแดนมลายู (มาเลเซียปัจจุบัน) รวมทั้งโต๊ะครูฮาญีอับดุลเราะห์มานหรือโต๊ะเปรัค ด้วยถ้าพบปะประชาชนคนใดเดินทางกลับก็จะถูกจับกุมโดยกล่าวหาว่าร่วมก่อการกบฏเพื่อต่อต้านรัฐบาล"

จริงอยู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายนั้นเกิดจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ จากสื่อในมลายู นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเติงกูมะห์หมูด มะไฮยิดดีน ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงเศษกระดาษเท่านั้นหาได้มีการปฏิบัติจริงไม่ หนังสือพิมพ์หลายฉบับในสิงค์โปร์วิจารณ์ในลักษณะที่ไม่เชื่อมั่นในนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากท่านเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นผู้ที่มีอคติและต่อต้านชาวมลายู
**********
นอกจากนั้น ในเว็บไซต์เดียวกัน ยังเขียนบทสรุปโดยขยายความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไว้ในหัวข้อ "กบฏ? ดุซงญอ" ว่า:

สรุปได้ว่า สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างเจ้าหนาที่รัฐกับประชาชนตำบลดุซงญอที่ทางราชการเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "กบฏดุซงญอ" นั้น เกิดจากการคุมคามของโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา

เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้และเจ้าหน้าที่เข้าไปพบเห็น ชาวบ้านจึงเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่จะขัดขวางและทำลายพิธีกรรมดังกล่าว จึงขับไล่เจ้าหน้าที่ออกไปจากตำบลดุซงญอ เหตุการณ์บานปลายจนเกิดการปะทะต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตหลายคน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ประชาชนเกิดความหวาดระแวงต่อทางราชการจึงได้หลบหนีไปอยู่ที่อื่นจำนวนมาก มีเพียงชาวบ้านจำนวนหนึ่งอพยพกลับมาอยู่ที่บ้านตามปกติ หลังจากทางราชการให้การรับรองความปลอดภัย

รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีนี้ มีผลสรุปของคณะกรรมการว่า "โศกนาฏกรรมดุซงญอนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงกิจการศาสนาอิสลาม" กล่าวว่าคือ "การจลาจลเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด เนื่องจากมีการปะทะของชาวมลายูมุสลิมเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับไสยศาสตร์ คือพิธีอาบน้ำมนต์ที่เชื่อว่าทำให้อยู่คงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า เหตุการณ์นี้เป็นที่ผิดสังเกตของตำรวจ จึงขอเข้าระงับ แต่ชาวบ้านไม่ยอมจึงเกิดปะทะกัน ลุกลามใหญ่โตขึ้น" (อิมรอน มะลุลีม, "วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมมลายูภายในประเทศ", 2538)

อย่างไรก็ตามยังมีชาวบ้านที่ไปอยู่ในรัฐต่างๆของสหพันธรัฐมลายาอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนาของตนหลายพันคน จนกลายเป็นพลเมืองของสหพันธรัฐมลายา ซึ่งก็คือประเทศมาเลเซียในเวลาต่อมา.

(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 กุมภาพันธ์ 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8