Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (38)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (4)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

บทความของ พรรณงาม เง่าธรรมสาร เรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" (http://human.pn.psu.ac.th/ojs/index.php/eJHUSO/article/viewFile/45/64) นำเสนอต่อไปว่า:
**********
ความหมายก็คือ สยามได้เข้าปกครองหัวเมืองทั้ง 7 โดยตรงโดยผู้ปกครองตามระบบจารีตได้เปลี่ยนสถานะเป็นเจ้าเมืองในระบบใหม่อยู่ภายใต้ระบบราชการสยาม ในขณะที่อังกฤษถือว่าเป็นผู้เข้ามาให้คำปรึกษาและดำเนินการบริหารจัดการการปกครองด้านต่างๆ ตามแบบสมัยใหม่ให้สุลต่านรัฐมลายูภายใต้อารักขาอังกฤษเท่านั้น สุลต่านยังดำรงตำแหน่งและสิทธิของเจ้าผู้ครองรัฐ

สมเด็จกรมหลวงลพบุรีฯ ยังทรงมีพระมติเกี่ยวกับการส่งฟ้องผู้ร้ายที่ถูกจับที่ตำบลบ้านน้ำใส อำเภอมายอ ต่างไปจากมติส่วนใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทรงมีพระราชดำริให้ส่งฟ้องราษฎรเหล่านี้ในฐานะเป็น "ผู้ร้ายสามัญ" ไม่ใช่ในฐานะเป็น "ขบถ" โดยทรงพิจารณาว่าผู้ร้ายที่ถูกจับเมื่อสอบแล้วเป็นผู้ที่หนีคดีอยู่ก่อนไม่เกี่ยวกับอับดุลกาเดร์ การที่พระยากลันตันเคยมาพักที่บ้านอับดุลกาเดร์ อาจทำให้เอาไปอ้างกันได้ว่าพระยากลันตันให้ความช่วยเหลือ นอกจากนั้นยังทรงเห็นว่า ข้อมูลที่ว่ารัฐมลายูต่างๆ ทั้งไทรบุรี เประ กลันตันและยะโฮร์ จะร่วมทำจลาจลพร้อมกันเพื่อช่วยอับดุลกาเดร์นั้นยังไม่แน่ชัด พวกพ้องอับดุลกาเดร์อาจยกขึ้นมาขู่มากกว่า

ยังมีทัศนะต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายที่แตกต่างออกไปอีกแนวหนึ่ง คือทัศนะของข้าราชการสยามที่รับฟังความเห็นจากหัวเมืองมลายูในปกครองของอังกฤษที่มีพรมแดนติดกับสยาม ท่านแรก คือ หลวงลัทธกะวาท กงสุลสยามประจำเกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งได้ทูลเสนอรายงานมายังสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ อ้างความเห็นของบรรดารายา-ผู้ครองรัฐต่าง ๆ ที่มาร่วมงานเลี้ยงที่รัฐเประ ซึ่ง "พูดเป็นเสียงเดียวกันหมด" ว่า สาเหตุที่เกิดขึ้นในปัตตานีมาจาก การเรียกเก็บ "เงินรัชชูปการ" ที่แม้จะเก็บไม่มาก และไม่ได้สร้างความเดือดร้อน แต่ชาวมลายูเกลียด "ภาษีหัว" ("ชุกาย กัมปาลา") ภาษีแบบเดียวกันนี้ได้เคยก่อเหตุเช่นกันนี้ที่รัฐเประ เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน ข้าราชการอังกฤษถูกฆ่าตายหลายคน เพราะราษฎรไม่พอใจการเรียกเก็บภาษี "ส่วยเรียงตัวคน" อังกฤษจึงเปลี่ยนไปเก็บภาษีอื่น ๆ แทน ตามมุมมองเชิงเปรียบเทียบของหลวงลัทธกะวาท มีจำนวนภาษีอากรที่เก็บในมลายูมากกว่าในสยาม แต่อังกฤษเก็บจากผู้มีที่อาศัย หรือยานพาหนะ หรือการแสวงหาผลประโยชน์ จึงไม่ค่อยเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้านเกี่ยวกับภาษี ความเห็นในรายงานของหลวงลัทธกะวาท ในประเด็นที่สยามเก็บภาษีรุนแรง ซึ่งตรงกับที่ลงในหนังสือพิมพ์ในมลายู เป็นที่สนพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นพิเศษ โปรดให้ทรงส่งเจ้าพระยายมราชลงไปตรวจราชการที่ปัตตานี โดยมีกระแสพระราชดำริ ความว่า "..เพื่อจะได้ทราบแน่ว่าจะมีการเดือดร้อนอยู่อย่างไรบ้าง...จะต้องให้คิดจัดการระวังป้องกันการเดือดร้อนแก่ราษฎรที่อยู่ปลายแดน อย่าให้มีการเก็บภาษีอากรอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะแรงไปกว่าในเมืองใกล้เคียงต่อแดนกัน เพราะว่าเป็นธรรมดาของคนซึ่งอยู่ในที่นั้น แม้นจะไม่ก่อความวุ่นวายขึ้นให้ยากลำบากด้วยความเกรงอาญาก็ดี ก็ยังจะอาจหลบหนีไปอยู่ในเมืองที่เก็บภาษีเบากว่ากันได้ เป็นการเหมือนหนึ่งว่าต้อนขับไล่คนออกจากพระราชอาณาเขตฯ (เน้นโดยผู้เขียน) ซึ่งเป็นการไม่ควรจะให้มีให้เป็นขึ้นเลย.."

มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่นำขึ้นกราบบังคมทูล คือรายงานของนายพันตำรวจโท พระวิชัยประชาบาล ผู้บังคับการตำรวจมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการออกไปดูงานและพูดคุยกับราษฎรมลายูที่ไทรบุรีและปีนัง ข้อมูลที่พระวิชัยเสนเสนออย่างตรงไปตรงมา คือ เสียงติเตียนการปกครองของสยามที่แสดงออกโดยราษฎรในเมืองมลายูของอังกฤษใน 4 ประเด็นหลัก คือ

  1. การเก็บภาษีที่ "หยุมหยิม" และ "รุนแรง"
  2. การจัดการศึกษาที่บังคับให้เด็กมลายูต้องเข้าโรงเรียนไทย และเรียนภาษาไทย รวมทั้งเก็บเงินศึกษาพลี และพยายามจะเปลี่ยน "ธรรมเนียม" และ "ลัทธิศาสนา" ของชาวมลายูในพื้นที่ให้เป็นอย่างที่คนไทยนับถือ
  3. การเกณฑ์ชาวบ้านให้ทำการต่าง ๆ เช่น ทำถนน สร้างความเดือดร้อน
  4. ระบบศาลไทยอ่อนไป ให้โอกาสผู้ร้ายมากเกินพอควร

พระวิชัยประชาบาลได้ทำบันทึกเปรียบเทียบการปกครองบางด้านระหว่างเมืองมลายูฝั่งอังกฤษกับฝั่งสยาม และชี้ให้เห็นความไม่พอใจของชาวมลายูในสยามได้แก่ สถานะของเจ้าเมืองมลายูเดิมของสยาม อาทิ อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีฐานะตกต่ำ ในขณะที่เครือญาติของท่านที่เป็นเชื้อสายสุลต่านกลันตัน เประ และยะโฮร์ ได้รับการยกย่องและอุปถัมภ์อย่างดี ทั้งด้านการศึกษาและเงินตอบแทน หรือตำแหน่งผู้ปกครองท้องถิ่นในมลายาของอังกฤษ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับเงินในตำแหน่งอย่างสูงมากเช่นกัน เมื่อเทียบแล้ว พระวิชัยฯ เห็นว่า "ถึงฝ่ายสยามจะได้ตั้งใจดีคิดทำอยู่ก็จริง แต่ผลที่มองเห็นแสดงแก่โลกไม่พอ" จึงเป็นจุดอ่อนให้เกิดเหตุได้ กล่าวคือ ชนชั้นปกครองมลายูของอังกฤษพอใจในความเป็นอยู่ ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ปล่อยให้เป็นหน้าที่อังกฤษ ซึ่งต่างจากของสยามที่ "..ดูเหมือนทำให้ พวกแขกเข้าใจว่าไทยจะทำเมืองแขกให้เป็นเมืองไทย.." (กจช., ร.6 ม.22/12, นายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ 2/2465 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465. ; ร.6 ม.22/11 พระวิชัยประชาบาล กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ 4/2465 วันที่ 4 มีนาคม 2465. ความข้อนี้ของพระวิชัยฯ ตรงกับข้อติเตียนของฝ่ายมลายูที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ปีนังกาเซตต์, “Siamifying of Patani” จาก “The Patani Trouble”, Pinang Gazettz, 14 March 1923. - หมายเหตุผู้เขียน) พระวิชัยเสนอว่าถ้าปล่อยให้ มีการเข้าใจผิด ๆ ต่อไป จะเป็นภัยร้ายแรง

นอกจากนั้นพระวิชัยฯ ยังรายงานว่า ประเด็นการศึกษาและศาสนา ก็เป็นข้ออ่อนอย่างยิ่งให้การปกครองหัวเมืองมลายูของสยาม เพราะเมื่อเปรียบเทียบแล้วอังกฤษไม่เข้าไปแทรกแซงการศาสนาและการศึกษาของมลายูเลย มีการจัดการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษบ้างตามเมืองใหญ่ แต่ไม่บังคับ ปล่อยให้สำหรับชนชั้นผู้ดีที่จะเรียนเพื่อเข้ารับราชการหรือทำงานกับอังกฤษ ส่วนการศึกษาในชนบทเป็นแบบบังคับและสอนเป็นภาษามลายู โดยรัฐจ่ายฟรีให้ทุกอย่าง ไม่มีการเก็บเงินศึกษาพลีเหมือนที่ไทย ดำเนินการอยู่.
**********
ขออนุญาตให้ข้อสังเกตขยายความทัศนะของผู้เขียน (พรรณงาม เง่าธรรมสาร) ในประเด็นการที่อังกฤษไม่เข้าแทรกแซงระบอบการปกครองแบบจารีตที่มีอยู่เดิมของดินแดนมลายูที่อังกฤษยึดครองอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทศาสนา นั้นถือว่าเป็นจุดยืนที่ก้าวหน้าของเจ้าลัทธิอาณานิคมโดยจักรวรรดิอังกฤษอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสยาม ทั้งในเวลานั้น และหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งทำให้ความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลคณะราษฎรเป็นเรื่องสูญเปล่า (จากบทความ "ข้อเสนอของฮัจญีสุหลงและท่านปรีดี พนมยงค์ ต่อแบบการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป).


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 พฤษภาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8