"กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง ฯ" :
ว่าด้วยทัศนะของฝ่ายปะตานี (3)
พลทหารเมืองปัตตานีนุ่งผ้าถุงแล้วนุ่งผ้าตาหมากรุกแบบปูฌอปอตอง
โพกผ้าที่ศีรษะ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ)
ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ บรรยายฉากจบของเจ้าผู้ครองนครปัตตานีคนสุดท้ายในตอนท้ายบทความพิเศษ "ประวัติศาสตร์แห่งการลวงเกี่ยวกับปัตตานี" ไว้ว่า
**********
เมื่อ (พระยาวิชิตภักดี เต็งกูอับดุลกาเดร์) เดินทางไปถึงปัตตานี มีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำอีกประมาณ 2,000 คน ยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี มีฝ่ายศาสนาอีกกว่าร้อยคนรอรับอยู่ที่บ้าน และหลังจากนั้นก็มีราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นร้อยๆ คนไปเยี่ยมอดีตรายาปัตตานีผู้นี้ไม่เว้นแต่ละวัน สภาพการณ์นี้ทำให้รัฐบาลกังวลถึงกับต้องส่งเรือรบลำหนึ่งไปทอดสมอที่ปากน้ำเมืองปัตตานีเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดินอพยพไปพำนักอยู่ในรัฐกลันตันในเวลาต่อมาและสิ้นชีวิตที่นั่นเมื่อปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1933)
**********
และในช่วงสรุปปิดท้ายบทความ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชี้ให้เห็นถึง "ความไม่ตรงกัน" ระหว่างเอกสารฝ่ายสยามและฝ่ายมลายูมุสลิม ให้ภาพถึง "ความเหลื่อม" หรือ "รอยแยก" ที่ไม่เป็นเพียง "ทัศนะ" หากในเวลาต่อมาพัฒนาเป็น "จุดยืน" และ "ท่าที" ต่อปัญหาหัวเมืองมลายูสยามมาอีกกว่าหนึ่งร้อยปีคงต้องกล่าวว่า ภาพของ "ความจริง" เกี่ยวกับกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง "คบคิดขบถ" เมื่อพิจารณาจากเอกสารฝ่ายมลายูมุสลิมเป็นหลัก จะมีรายละเอียดที่สำคัญมากมาย ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า กับปัตตานีซึ่งเคยเป็นเมืองประเทศราชและกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นหัวเมือง และต่อมาเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งคงเห็นได้ชัด ปัญหาความละเอียดอ่อนทางความสัมพันธ์กับมหาอำนาจยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษก็ออกจะเด่นชัด ปัญหาการสร้างรัฐชาติไทยผ่านการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ ชนิดที่ส่งผลลดทอนอำนาจในท้องถิ่นก็ปรากฏให้เห็น
แต่ที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันนัก คือรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นและรายละเอียดของการที่เหตุการณ์จบลง คงกล่าวได้ว่าพระยาศรีสหเทพมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ วิธีการที่ท่านใช้คือการลวงให้รายาปัตตานีลงนามในหนังสือยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองของตนเอง และเมื่อรายาปัตตานีประจักษ์ว่าตนถูกหลอกและประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วย ที่สุดก็ต้องถูกจับและบังคับด้วยกำลังให้ยินยอม เหตุการณ์จบลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ในขณะที่เอกสารของนักวิชาการฝ่ายไทยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรายาปัตตานีไม่ได้รับความร่วมมือจากอังกฤษ เจ้าเมืองอื่นๆ รวมทั้งราษฎรในปัตตานีก็ไม่มีทีท่าว่าจะก่อจลาจลเพราะ "เป็นสุขมาก" แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องอธิบายว่าเหตุใดราษฎรจึงพากันมาต้อนรับยินดีกับรายาเมื่อท่านเป็นอิสระกลับมาสู่ปัตตานี ถึงขนาดรัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องส่งเรือรบมาเฝ้าระวัง ในส่วนเอกสารของฝ่ายมลายูปัตตานีระบุต่างออกไปว่า รายาปัตตานียินยอมถูกจับเพราะเห็นแก่ประชาชนของตนไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ
Syukri สรุปกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองนี้ไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีว่า "ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) ราชอาณาจักรสยามได้ยกเลิกราชวงศ์มลายูปะตานีด้วยการใช้อุบายต่างๆ ตั้งแต่นั้นมารัฐปะตานีได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามไทยโดยปริยาย"
สิ่งที่เกิดขึ้นกับปัตตานีในรอบร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อใส่ใจกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระของปัตตานี จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง "ความจริง" กับ "ความรุนแรง" ไม่ว่าความรุนแรงจะส่งผลให้ "ความจริง" ที่ปรากฏในแต่ละยุคแต่ละตอนเป็นเช่นไร
เหตุการณ์ปลายปี พ.ศ. 2444 และต้นปี 2445 ที่มักถูกเรียกกันว่า "ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง" หรือ "พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ" ในฐานะเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งอ้างอิงซึ่งจะแปรสภาพเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ของปัตตานี ไม่ว่าจะในฐานะชัยชนะแห่งการปฏิรูปการปกครองของสยาม หรือ "ความอัปยศอย่างที่สุด" ของผู้คนจำนวนหนึ่งในปัตตานี ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยประวัติศาสตร์แห่งความลวงที่ทิ้งร่องรอยไว้กับสังคมไทยเป็นเวลาร่วมหนึ่งศตวรรษ
สำหรับการเคลื่อนไหวของฝ่ายสยามก่อนหน้าที่จะลงโทษไปคุมขังซึ่งมีกำหนด 10 ปี ที่เมืองพิษณุโลกนั้น มีการส่งตัวเต็งกูอับดุลกาเดร์มายังกรุงเทพมหานครก่อนแล้ว เพื่อให้รายาองค์นี้ลงลายมือลายชื่อยอมรับในอำนาจการปกครองใหม่ของสยาม แต่เต็งกูอับดุลกาเดร์ก็ไม่ยินยอม ในที่สุดรายาพร้อมด้วยบริวารก็ถูกส่งตัวไปกักขังที่เมืองพิษณุโลก ในจำนวนนี้บางคนก็เสียชีวิตกลางทาง และบางคนก็เสียชีวิตที่เมืองพิษณุโลก
หลังจากการเต็งกูอับดุลกอเดร์ถูกกักขังอยู่นานถึง 2 ปี 9 เดือน ในปี พ.ศ. 2448 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เดินทางกลับเมืองปัตตานี แต่เมืองปัตตานีนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป คือมีการรวม 7 หัวเมืองเป็นเมืองเดียวกัน และอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าเมืองสงขลาซึ่งมีข้าหลวงใหญ่ พระยามหิบาลประจำที่เมืองปัตตานี บรรดาเจ้าเมืองก็ต่างรอรับ "เงินบำนาญ" จากรัฐบาลสยาม (เงินบำนาญที่ว่านี้ มีอยู่ในข้อตกลงของฝ่ายสยามที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบบำเหน็จบำนาญแก่รายาทั้งหลายจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต แต่ทว่าสิทธิและรายได้ในเมืองปัตตานีจะต้องมอบรัฐบาลสยามในกรุงเทพฯ และรายาปัตตานีก็ไม่ต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทอง "บุหงามาส" ดังเช่นที่ทำมาตั้งแต่อดีต)
ในปี พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงยุบเลิกตำแหน่งพระยาเมือง หรือเจ้าเมืองทั้ง 7 ลง คงไว้เพียง 4 หัวเมือง คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสายบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี ปกครองเมืองทั้งสี่ ขึ้นตรงต่อผู้สำเร็จราชการภาคใต้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 ศาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่กรุงเทพได้พิพากษาให้ยึดที่ดินจำนวน 600 แปลง ของพระยาวิชิตภักดี (เต็งกูอับดุลกาเดร์) เข้าเป็นทรัพย์แผ่นดิน ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สร้างความโกรธแค้นเป็นอย่างมาก จึงมีการวางแผนที่จะสังหารข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ไม่สำเร็จ จึงอพยพครอบครัวหนีไปอยู่ที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และเสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2476
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรายาปัตตานีองค์สุดท้าย นับเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรอยแผลเก่าที่ยากจะลบเลือนและกลายเป็นความเจ็บแค้นส่งต่อไปยังผู้คนสืบเนื่องหลายชั่วคน ที่สำคัญคือเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ในเวลาต่อมา ซึ่งก่อปัญหาให้แก่อำนาจรัฐไทยตราบจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าในท่ามกลางความขัดแย้งที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น จะมีผลประโยชน์อื่นเข้าไปปะปน แต่บาดแผลในใจนั้นก็ไม่มีวันจางหายไป จากการถูกตอกย้ำเสมอมา
ในเวลาต่อมาเต็งกูอับดุลกาเดร์ ได้รับการยกย่องจากชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่าเป็น "วีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนให้อิสลาม".
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 23 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน