ภาวการณ์หลังอภิวัฒน์สยาม
ความยากลำบากของผู้ก่อการ
ความยากลำบากของผู้ก่อการ
ภาพประวัติศาสตร์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการฯ
สายทหารบกชั้นยศสูง พระยาพหลหลหยุหเสนา (ยืนกลาง ถือหมวก) และสายพลเรือน
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถือไม้เท้า
การลุกขึ้นสู้ของอดีตเจ้านายและขุนนางฝ่ายทหารในสมัยสมบูรณาญาสิทิราชย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือที่นายปรีดี พนมยงค์ใช้คำว่า "การอภิวัฒน์สยาม" ที่เกิดขึ้นและถูกปราบปรามราบคาบในเวลาเพียงเดือนเดียวคือ เดือนตุลาคม 2476 นอกจากแสดงให้เห็นถึงความพยายามโดยตรงในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงฯ ตามที่นายปรีดีใช้คำว่า "โต้อภิวัฒน์" นั้น ยังสะท้อนความยากลำบากในการใช้อำนาจรัฐอย่างใหม่ที่ควบคุมและดำเนินการโดย "คณะราษฎร" ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญโดยมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ที่บ่งบอกว่าเอกภาพในการบริหารบ้านเมืองยังคงเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้
ที่สำคัญ สำหรับการเมืองการปกครองในทศวรรษ 2470 ของประเทศในสังคมที่ยังก้าวไม่พ้นการผลิตภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่อำนาจรัฐยังคงรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง ส่งผลให้การที่รัฐบาลเลือกตั้ง (ตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475) มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนต้องสำหรับภารกิจสอดส่องเฝ้าระวังความพยายามรื้อฟื้นระบอบการปกครองเดิม หรือกระทั่งความแตกแยกทางความคิด รวมทั้งความพยายามในการแย่งยึดอำนาจกันเองในหมู่ผู้ร่วมก่อการฯ
นั่นหมายความว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี นับจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 8 พฤศจิการยน 2490 ของความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชิปไตย ไม่เพียงรัฐบาลคณะราษฎรจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังในการสถาปนาระบอบการปกครอง (ประชาธิปไตย) และระบบรัฐ (ราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ) เท่านั้น แม้จนความพยายามในการเปลี่ยนผ่านระบบบริหารราชการแผ่นดินที่ตกทอดมาจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปการจิตสำนึกของ "ข้าราชการเดิม" ที่รับช่วงมาจากระบอบที่เก่ากว่า ล้าหลังกว่าถึงสองระบอบคือ "ศักดินาสวามิภักดิ์/จตุสดมภ์" (จากรัฐอยุธยาจนถึงกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ) และ "ราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์" (จากกลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จนถึงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ) ก็ยังไม่อาจปรับเปลี่ยบนและพัฒนารองรับระบอบการปกครองใหม่หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นี้ได้ แม้ในเวลาต่อมา จะมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยดำริของหัวหน้าคณะผู้ก่อก่ารฯ สายพลเรือน ก็ถือได้ว่ายังไม่ทันต่อภาวการณ์ในเวลานั้นอย่างที่คาด
ผลโดยตรงต่อการบริหารประเทศ ในส่วนของการปกครองส่วนภูมิภาค ก็คือ ความไม่สามารถบรรลุในทางปฏิบัติซึ่ง "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" อันได้แก่
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคงช่วงเวลา 15 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์สยามนั้น เป็นห้วงเวลาที่เท่ากันพอดีหลังจาก "พระยาวชิระปราการ" หรือ "พระยาตาก" หรือ "พระเจ้ากรุงธนบุรี" สามัญชนลูกครึ่งจีนปลายสมัยอยุธยา นำแม่ทัพนายกองและราษฎรลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของพม่าข้าศึกและสามารถขับไล่ข้าศึกจากทิศตะวันตกเป้นผลสำเร็จ พร้อมกับสำเร็จโทษขุนนางน้อยใหญ่ซึ่งเอาใจออกหากทรยศต่อแผ่นดิน สวามิภักด์แก่พม่าข้าศึกครั้งนั้น กระทั่งรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งหนึ่ง ตามมาด้วยการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ในปี พ.ศ. 2310
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
เวลาที่ต่างกัน 135 ปี ภายหลังการสถาปนาและการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อำนาจรัฐใหม่ ระหว่าง "รัฐศักดินาธนบุรี" (พ.ศ. 2310-2325) กับ "รัฐประชาธิปไตยสยาม" (พ.ศ. 2475-2490) ส่งผลให้ผู้ปกครองสองยุคสมัยแทบจะเผชิญหน้ากับปัญหาในลักษณะเดียวกัน คือ "ความมั่นคงภายใน"
ในบริบทความขัดแย้งระหว่างใหม่กับเก่า ในยุค "ราชวงศ์ธนบุรี" ซึ่งมาจากสามัญชนลูกครึ่งจีนโพ้นทะเล แม้ว่าจะไม่มีประเด็น "ความเป็นเอกภาพ" ของ "กองกำลังกู้ชาติ" ภายใต้การนำของพระยาตาก หากการยอมรับในหมู่ขุนนางและเชื้อพระวงศ์ "กรุงเก่า" ย่อมเป็นที่น่ากังขาเสียยิ่งกว่า "รุ่น" ของ "นักเรียนเตรียมทหาร" หรือ "โรงเรียนนายร้อย" เหล่าใดเหล่าหนึ่งหลังกึ่งพุทธกาลของสยามประเทศด้วยซ้ำไปนั้น มีความสอดคล้องกับการก่อตัวในลักษณะ "คณะกู้ชาติ" คราวกบฏบวรเดช ตลอดจนความร่วมมือของข้าราชการในระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ที่ส่วนใหญ่สืบเนื่องมากจาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม ทั้งขุนนางอำมาตย์ที่มาจากสามัญชน และทั้งที่มาจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรี
และลักษณะเช่นนี้เอง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ย่อมเป็นเสมือน "หอกข้างแคร่" ของผู้ถือครองอำนาจรัฐใหม่ที่สำคัญในอีกบริบทหนึ่ง คือ "ความแตกแยก" ในหมู่ผู้ก่อการฯ สมาชิกระดับนำของคณะราษฎรสายต่างๆ ทั้งสายพลเรือน ที่นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), สายทหารเรือ นำโดย นาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) และสายทหารบกซึ่งแยกไปอีกเป็น สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตสังคะ) และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งความร้าวฉานนี้มีให้เห็นตั้งแต่ครั้งรัฐประหารสองครั้งครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบรัฐธรรมนูญ (หรือระบอบประชาธิปไตย) ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน สภาวะเสมือนสูญญากาศทางการเมืองหรืออำนาจการปกครองในขอบเขตทั่วประเทศ ย่อมเปิดโอกาสให้ความพยายามกระด้างกระเดื่องของราษฎรในชนบท ที่ดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก บนพื้นฐานความยากจน และขาดการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าทีควร ซึ่งในแง่มุมหนึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมด้อยพัฒนาทั้งหลาย กลายเป็น "ความลักลั่น" สำหรับการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่ราษฎรได้อย่างเสมอหน้ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็น "กบฏชาวนา" ทางภาคเหนือและภาคอิสาน และเป็น "กบฏหัวเมืองมลายู" ทางภาคใต้
เมื่อกรุงเทพฯ เมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของประเทศที่เริ่มจากฐานรากของการปกครองคือ "อำนาจรัฐ" เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครองพร้อมกับคำประกาศนำพาประเทศและราษฎรสู่ยุคใหม่ ที่มีอนาคตใหม่ ต่างจากระบอบรัฐเดิมที่เอื้ออำนวยให้แก่ราษฎรระดับล่างของสังคมด้วยนโยบายทางการเมืองแบบใหม่
อุดมการณ์พื้นบ้านของภาคอิสานในลักษณะ "โลกพระศรีอาริย์" ที่เคยใช้ได้ผลในการก่อการลุกขึ้นสู้ของ "กบฏไพร่/กบฏชาวนา" ในอดีตก็ถูกนำมาประกาศเป็นธงนำของความพยายามลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่ง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 ตุลาคม 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน