Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

ข้อเสนอ: แนวทางการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

ข้อเสนอ: แนวทางการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์



บทความชิ้นนี้เป็นการแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 5 จากการตีพิมพ์ครั้งแรก THAIFREEDOM ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ปักษ์หลัง มกราคม 2553 คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด เขียนโดย "อริน" ในชื่อ สู้เพื่อเป้าหมาย ประชาธิปไตยสมบูรณ์ "ไม่ชนะไม่เลิก" แค่ไหน-อย่างไร? จากการนำเสนอความคิดที่ยังไม่เป็นรูปธรรมก่อนหน้านั้นต่อเนื่องหลายครั้งบนอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง

ในวาระการเปลี่ยนศักราชเข้าสู่ปี 2555 ขออนุญาตนำข้อเขียนที่เพิ่งปรับปรุงล่าสุดนี้ เสนอต่อสาธารณะด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักไม่ต่างไปจากผู้รักประชาธิปไตยรักเสรีภาพทั้งหลาย และโดยเหตุปัจจัยที่พิจารณาแล้วหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อวัน ที่ 10 พฤษภาคม 2554 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นั้น ลงชื่อโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ผลรูปธรรมที่เกิดขึ้นในการเมืองการปกครองภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่เรีกยกันว่า "รัด-ทำ-มะ-นูน-2550" นั้น ยังไม่อาจขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าใกล้ระบอบประชาธิปไตย ที่มีองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการคือ 1.อำนาจ อธิปไตยเป็นของประชาชน, 2.ประชาชนมีเสรีภาพบริบูรณ์บนหลักการไม่ละเมิดและความรับผิด และ 3.ประชาชนมีความเสมอภาคกันตามหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงทำข้อเสนอนี้โดยชี้แจงไว้ในอารัมภบทย่อหน้าสุดท้ายใน "ข้อเสนอ 6 ข้อเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์" จากการตีพิมพ์ครั้งแรก "ผมจึงตัดสินใจเสนอเป้าหมายรูปธรรมเบื้องต้น 6 ประการในการเสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวคิดสังเขป (จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้า ลึกลงไปในรายละเอียด ถึงความเป็นไปได้ และลำดับขั้น ในการผลักดันสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป) ดังต่อไปนี้"

1. รัฐประชาธิปไตยที่แยกอำนาจอธิปไตย ออกเป็น 3 ส่วนอย่างเด็ดขาด ประการสำคัญที่สุด "ผู้แทนปวงชน" ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น โดย "สภาล่าง" หรือ "สภาผู้แทนราษฎร" เลือกตั้งมาจากเขตการเลือกตั้งตามจำนวนประชากร มีอำนาจหน้าที่เต็มสมบูรณ์ในการพิจารณาเสนอและผ่านกฎหมาย และ "สภาสูง" หรือ "สภาผู้แทนจังหวัด" เลือกตั้งโดยตรงเช่นในสหรัฐอเมริกา หรือโดยอ้อมผ่านสภาส่วนท้องถิ่นเช่นในฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้แทนจังหวัดละ 2 คน ทำหน้าที่ "สภาตรวจสอบ" แทนที่ "สภาพี่เลี้ยง" ที่มาจากการแต่งตั้ง ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นที่ผู้เขียนเคยเสนอต่อการประชุมสัมมนาทั้งที่เป็นและไม่เป็นทางการในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ ความเป็นไปได้ที่การตรวจสอบนี้ จะครอบคลุมไปถึงการแต่งตั้งตำแหน่ง "ผู้นำเหล่าทัพ" และ "ปลัดกระทรวง" ในฐานะข้าราชการประจำผู้มีอำนาจหน้าที่สูงสุดทั้งข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนของหน่วยงาน

2. สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง "ประมุขฝ่ายบริหาร" หรือ "นายกรัฐมนตรี" และเป็นตำแหน่งที่อยู่บนหลักการที่ว่า ไม่สามารถดำเนินการอย่างอื่นในการถอดถอนได้ เว้นไว้เสียแต่ด้วยกระบวนการอันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการยื่นถอดถอน (impeachment) ผ่านอำนาจอธิปไตย และ สอง "ผู้ว่าราชการจังหวัด" และรับรองใน "สิทธิอัตวินิจฉัยทางประชาชาติ" โดยยึดหลักท้องถิ่นมีความแตกต่างจากส่วนกลาง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องในประเด็นหลักถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มต้นจาก "ผู้ต้องหาผิด จนกว่าจะพิสูจน์ตนเองได้ว่าบริสุทธิ์" มาสู่ "ผู้ต้องหาบริสุทธิ์ จนกว่าผู้กล่าวหาจะนำพิสูจน์ได้อย่างถ่องแท้ว่ามีความผิด"; ประเด็นถัดมา คือความเป็นไปได้ของการนำ "ระบบลูกขุน" มาใช้ในประเทศไทย เพื่อนำมาใช้พิจารณาคดีที่มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการความเสมอภาคและหลักการเสรีภาพ ด้วยการ "ลงคะแนนเสียง" อย่างเป็น "ประชาธิปไตย"; ประเด็นถัดมา การเสนอและการรับรอง "ประมุขฝ่ายตุลาการ" ที่ผ่าน "ประมุขฝ่ายบริหาร" และ "รัฐสภา" เพื่อให้อำนาจตุลาการยึดโยงกับประชาธิปไตยโดยผ่านอำนาจอธิปไตยอีก 2 อำนาจที่มาโดยการเลือกตั้ง; และ การนำ "ระบบศาลเดี่ยว" มาใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย ศาลชั้นต้น ศาลชั้นกลาง คือ "ศาลอุทธรณ์" และศาลสูง คือ "ศาลฎีกา" ทั้งนี้หมายความว่า "ศาลอื่น" ไม่มีอำนาจในการพิพากษาอรรถคดี; และประเด็นสุดท้ายบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิด ต้องได้รับ "สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมโดยเปิดเผย" และได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดีรวมทั้งสิทธิในการได้รับ "การปล่อยตัวชั่วคราว"

4. "องค์กรอิสระทั้งหมด" ต้องออกจากรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้เป็นอำนาจอธิปไตย ไม่สามารถใช้อำนาจที่เป็นของปวงชนได้ตามเจตนารมณ์ประชาธิปไตย นั่นคือองค์การทางการเมืองการปกครองใด "ต้อง" เกิดขึ้นและดำเนินงานภายใต้การตรวจสอบได้โดยผู้แทนปวงชน ซึ่งสำหรับประเด็นการตรวจสอบนั้น เสนอให้อยู่ในอำนาจของ "กรรมาธิการของสภาสูง" หรือ "สภาผู้แทนจังหวัด" ตามข่อ 1

5. ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของหนึ่งในองค์กรนอกอำนาจอธิปไตย ซึ่งได้แก่ "องคมนตรี" อยู่ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้โดยอาศัย "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475; "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม" ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ "ปราศจากองคมนตรี" หาก "องคมนตรี" หรือที่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 9 พฤศจิกายน 2490 ใช้ว่า "อภิรัฐมนตรี" เริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ที่นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัน ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า "รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม" อนึ่ง ข้อเสนอนี้มิได้เสนอ "ยกเลิก" องคมนตรีแต่ประการใด

6. การประกาศไว้ใน "บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" (ไม่ใช่เพียงใน "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ที่อาจถูก "ฉีก" โดยการทำรัฐประหาร) เป็นลายลักษณ์อักษรในลักษณะเป็นการบัญญัติเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ไม่อาจทำลายได้ และมีลักษณะเป็น "สัญญาประชาคม" ยืนยันอำนาจอธิปไตยที่ "เป็นของปวงชนชาวไทย" ทั้งโดย "รูปแบบ" และโดย "กระบวนการ" ทางการเมืองการปกครองทั้งมวล บนหลักการ "เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" จึงสมควรให้มีบทบัญญัติที่อยู่เหนือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" ให้ประชาชน "มีสิทธิเสรีภาพเต็มสมบูรณ์ ในอันที่จะลุกขึ้นต่อต้าน คัดค้านและตอบโต้ ทุกความพยายามในอันที่จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย"; นอกจากนี้ โดยหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ให้มีการรณรงค์ทั้งในและนอกสภา ในอันที่จะกำจัดเสียอย่างสิ้นเชิง ซึ่ง "คำสั่งทั้งหลายโดยการรัฐประหารซึ่งไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตย" อาทิ "ประกาศคณะปฏิวัติ" "ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผนดินฯ" "ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อย" "ประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และ/หรือ คำสั่งหรือประกาศอื่นใดในทำนองเดียวกัน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มกราคม 2555
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ปรับปรุงครั้งที่ 5 จากการตีพิมพ์ใน THAIFREEDOM
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ปักษ์หลัง มกราคม 2553:
สู้เพื่อเป้าหมาย ประชาธิปไตยสมบูรณ์ "ไม่ชนะไม่เลิก" แค่ไหน-อย่างไร?
คอลัมน์ เปิดหน้าปล่อยการ์ด เขียนโดย อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8