Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (66)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (6)

16 ตุลาคม 2516 เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นำคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญานก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน (ภาพจาก http://www.14tula.com/images/gallery/images_event/g182_jpg.jpg)

บทความลำดับที่ 1284 บริบทเหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ "ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว: เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗" เขียนโดย ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999646.html) ทิ้งท้ายไว้ก่อนจะนำเสนอตอนที่สองของบทความชุดนี้ดังนี้
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว :
เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (5)


การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗


ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ ยังมีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย ดัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2538) ตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาคม 2516 มีพลังผลักดันจากอุดมการณ์ชาตินิยม และสามารถกระตุ้นเร้าพลังของคนชั้นกลางที่เติบโตจากกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะเกือบสองทศวรรษ ให้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้เองที่เห็นว่าระบบทุนนิยมโลก มีการเอารัดเอาเปรียบผ่านนายทุนขุนศึกเพื่อเอารัดเอาเปรียบคนในชาติ ในแง่นี้จะต้องต่อสู้โดยการใช้ประชาธิปไตยคือ "…ให้โอกาสแก่คนทุกหมู่เหล่า ซึ่งมีความหลากหลายในด้านผลประโยชน์อื่นๆ อยู่มาก ได้เข้ามาจัดการปกครองตนเอง ไม่ต้องตกเป็นทาสของเผด็จการทหารตลอดไป…" (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538 (ค): น. 180)

แม้การบ่งชี้ว่าชนชั้นกระฎุมพีใหม่มีบทบาทสำคัญ และเป็นประกันให้กับความสำเร็จในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 115) แต่ก็อาจทำให้มองข้ามความหลากหลายของขบวนการ 14 ตุลาฯ ซึ่งเสน่ห์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการปฏิวัติ (เสน่ห์ จามริก, 2530: น. 149-184) และภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติที่มาจากประชาชน ก็น่าจะนำพาความมั่นคงและมีเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนชั้นกลางก็เปลี่ยนใจ ยอมรับความชอบธรรมของคณะทหารในอีกสามปีต่อมา แอนเดอร์สันกล่าวว่า คนชั้นกลางสนับสนุนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความเงียบ ยิ่งตอกย้ำอาการลงแดงของชนชั้นกระฎุมพีใหม่ที่เห็นว่า ความพลิกผันปั่นป่วนทางอุดมการณ์คุกคามความมั่นคงในชีวิต แบบกระฎุมพี (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 124-137)

จะเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่หลักประกันของความเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญในความหมายอย่างกว้างๆ เป็นเรื่องของกติกา การกำหนดข้อตกลงเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองหรือรัฐกับประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมีนัยเป็นเครื่องกำหนด สิทธิและหน้าที่ ระหว่างคนสองกลุ่ม (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น. 38-41) นอกจากนี้ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมักจะถูกล้มล้างเสมอ เพราะโดยจารีตของรัฐธรรมนูญในวัฒนธรรมไทยแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญอาจถูกยกเลิกและเขียนใหม่ได้โดยไม่ขัดเขิน เพราะรัฐธรรมนูญมักจะถูกอ้างอิงกับความเหมาะสมของยุคสมัย.
**********
เมื่อพิจารณาถึงย่อหน้าสุดท้ายของบทความชิ้นนี้ ประเด็นที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคือ การติดยึดกับแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมในสังคมไทย ที่จารีตการปกครองในระบอบศักดินานิยม/จตุสดมภ์-ราชาธิปไตย/สมบูณาญาสิทธิราชย์ ที่ชนชั้นสูงในทั้งสองระบบสังคมนั้นคือผู้ครอบงำบงการโครงสร้างทั้งหมด คือ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม เสียจนกระทั่งทำให้ราษฎรสามัญ (หรือ ประชาชน) ไม่อาจมองเห็นและทำความเข้าใจถึงบริบทที่ ประชาชนสามารถตัดสินอนาคตของตนเองได้ แล้วกลายเป็นเพียงผู้ถูกปกครอง หรือหมากหรือตัวประกันทางการเมืองระหว่างขั้วอำนาจนิยมของแต่ละวิวัฒนาการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

สำหรับบทความตอนต่อไป เป็นบทความลำดับที่ 1285ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโดยผู้เขียนคนเดียวกัน (http://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999645.htmll)

ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว:
บทเรียนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (1)

การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗

3. วิวาทะสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ


ได้กล่าวมาแล้วว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ตกอยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลจะต้องเป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้แต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียรเป็น ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการฯ ชุดนี้ร่างถึงหมวดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ ของชนชาวไทยเท่านั้น (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) แต่เมื่อเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 และตั้ง รัฐบาลใหม่ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ แต่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ยังคงต้องยึดตามหลักการของธรรมนูญการปกครองฯ

รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2516 มีนายประกอบ หุตะสิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการอีก 17 คน คณะกรรมการชุดนี้ยึดหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 และ พ.ศ. 2511 เป็นต้นแบบ และเพิ่มเติมลักษณะระบอบการปกครองที่ต้องเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์ การกำหนดเสรีภาพของประชาชนและการปกครองท้องถิ่น (ประชาชาติ, 1:14, 21 กุมภาพันธ์ 2517)

แต่ในส่วนของสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งยังไม่หมดวาระ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสภาตรายาง เป็นมรดกเผด็จการ ไม่สมควรที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติชุดนี้ลาออก เมื่อสมาชิกสภาฯ ลาออกจนมีสมาชิกเหลือน้อย ไม่สามารถเรียกประชุมได้ครบองค์ประชุมจึงมีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสีย โดยอาศัยอำนาจตามธรรมนูญการปกครองฯ มาตรา 22 ซึ่งระบุว่าเป็นการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.14-18) จากนั้นสมัชชาแห่งชาติจึงได้เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ 2 ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 12-18 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8