ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 (2516-2518) (5)
กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญเริ่มออกเดินแจกใบปลิว วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เวลา 10.00 น. และในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ก็เริ่มต้น อันนำไปสู่การปฏิวัติประชาชนในสัปดาห์ถัดมา
แต่ที่สำคัญ หากไม่นับการทำสงครามประชาชนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในห้วงเวลาประมาณ 3 ทศวรรษหลังกึ่งพุทธกาล การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม ในปี พ.ศ. 2516 นี้เองที่มีการใช้คำว่า "การปฏิวัติประชาชน" เป็นครั้งแรก
**********
ประวัติศาสตร์ไทยไม่ไกลตัว : เหตุการณ์ก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ (3)
การเมืองภาคประชาชน
บทเรียนจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗
1. บทนำ: รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย (ต่อ)
ถ้าหากพิจารณาโดยเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถกำกับหรือควบคุมฝ่ายบริหารได้เลย เสถียรภาพของรัฐบาลจึงค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ดีมีการรวมตัวเป็นกลุ่มภายในพรรคสหประชาไทยเพื่อช่วงชิงและแข่งขันการสั่งสมอำนาจ ทำให้ระบอบถนอมประภาส ไม่สามารถบริหารได้โดยสะดวกราบรื่น เนื่องจากการใช้ระบอบรัฐสภาเป็นเพียงการสร้างฐานอำนาจนอกระบบราชการเท่านั้น ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาจากภัยคอมมิวนิสต์กลายเป็นปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้กลุ่มถนอมประภาสตัดสินใจปฏิวัติยึดอำนาจตัวเอง เพื่อให้อำนาจและผลประโยชน์ในกลุ่มของตัวเอง (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366) ประกอบกับข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่จอมพลถนอมและคณะ ที่ได้ก่อการปฏิวัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งข่าวลือนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ พ.ศ. 2501 กับการปฏิวัติครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526: น. 196)
คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ยังถูกท้าทายความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมา โดยอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ได้แก่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน, นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ,และนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฎ แม้ว่าในที่สุดการตีความและพิจารณาของศาลทำให้ทั้งสามตกเป็นจำเลย และถูกจำคุกในที่สุด แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตความขัดแย้งอยู่ในแวดวงราชการอีกต่อไป (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366)
ความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคับแคบของฐานการเมืองที่คงอยู่บนระบบราชการและชนชั้นนำแล้ว ยังสะท้อนถึงการประเมินพลังทางเศรษฐกิจและสังคมของคนชั้นกลางที่เพิ่งเติบโตไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย กล่าวคือ การละเลยพลังทางเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่เติบโตตั้งแต่ต้นพุทธทศวรรษ250012 ซึ่งเริ่มไม่พอใจต่อสภาพทางสังคมภายใต้ระบอบการเมืองอภิสิทธิชนที่ส่งผลต่อ "ระบอบถนอม-ประภาส" โดยตรง (เสน่ห์ จามริก, 2541: น. 17-20) กระบวนการทางเมืองระหว่างทศวรรษ 2510-2520 จึงเป็นการจัดสรรสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคมไทยเสียใหม่ (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 349)
เมื่อหลักการสิทธิเสรีภาพที่เคยตราไว้ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ขบวนการ 14 ตุลาฯ แสดงให้เห็นความต้องการทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมของรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในจดหมายของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนในนามนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เพื่อให้มีกติกาหมู่บ้านโดยเร็ว. อนุสนธิจากจดหมายนายป๋วย ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นนายป๋วย ยังได้เขียนบันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2528: น. 68-69) ส่วนนายป๋วยก็ถูกตอบโต้จากผู้มีอำนาจขณะนั้นจนเกือบถูกลงโทษทางวินัย
คณะปฏิวัติยังมีความขัดแย้งกับสถาบันตุลาการในกรณี ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ซึ่งถูกมองจากสถาบันตุลาการว่า มีนัยของการแทรกแซงสถาบันตุลาการ และเปิดช่องให้ฝ่ายบริหารเข้ามากำกับคณะกรรมการตุลาการ ฝ่ายตุลาการตอบโต้อย่างรุนแรงจนคณะปฏิวัติต้องออกประกาศย้อนหลัง เพื่อยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าวภายหลังจากประกาศใช้เพียงวันเดียว13 ไม่เพียงแต่สะท้อนความเสื่อมถอยของอำนาจคณะปฏิวัติ แต่ยังแสดงความรู้สึกของประชาชนที่เข้าร่วมประท้วงแผนการรวมอำนาจตุลาการอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2515 โดยเฉพาะบทบาทของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ก่อตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และมีบทบาทแข็งขันในยุคของนายธีรยุทธ บุญมี จากการกระตุ้นรณรงค์ให้รักชาติ, การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น, และกรณีการต่อต้านการล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวคัดค้านการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานการรวมตัวและตั้งรับการชุมนุมในครั้งต่อๆ มา จนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ในนิทรรศการวันรพี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2516 เพื่อรำลึกถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวง ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระบิดาแห่งกฎหมายไทย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับตัวอย่างขึ้น เผยแพร่และได้รับการตอบสนองอย่างดี จนถึงกับมีบางท่านกล่าวว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดเอาแบบอย่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษา เพื่อเป็น "ตัวอย่างแห่งความรวดเร็ว" และถ้าพิจารณาแล้วจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษาเลยก็ได้ แต่ต้องแก้ไขในบางประเด็น (นเรศ นโรปกรณ์, 2516: น. 146-157)
ในส่วนของ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ (ศนท.) ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ศนท. เพื่อชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลทำการร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ภายในหกเดือน (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2516; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2541)
**********
มาถึงตรงนี้ การวิเคราะห์ของสำนักคิดกระแสหลักก็ยังคงให้ความสำคัญกับ "แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม" ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจะสามารถสถาปนาระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง.(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 5-11 กันยายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน