"รัฐบาลชวน 2" ในภาวะฟองสบู่แตก
การรับมือที่ยิ่งแก้ไขยิ่งดิ่งลงเหว
หลังจาก พล.อ.ชวลิต ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมีผลทำให้เป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลทั้งคณะ ขั้นตอนต่อไปสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินคือความจำเป็นต้องสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ พร้อมกับแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้ามาดูแลกระทรวงทั้งหลาย เพื่อที่จะบริหารประเทศไปข้างหน้าโดยไม่หยุดยั้งขาดตอนหรือมีสูญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งทำให้ความเชื่อถือในสังคมนานาชาติลดน้อยถอยลงไปอีก และโดยหลักปฏิบัติของการปกครองในระบอบรัฐสภา เป็นสิทธิของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมซึ่งยังคงเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเอง
ในห้วงเวลา 3 วันนับจากการลาออกของพล.อ.ชวลิต ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เกิดความพลิกผันที่ยิ่งกว่าอาการ "ฝุ่นตลบ" ขึ้นในแวดวงการเมืองไทย นั่นคือแรกทีเดียว พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยังมีความพยายามที่จะจัดตั้งรัฐบาลด้วยการสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงสนับสนุนจากพรรคความหวังใหม่ 125 เสียง, พรรคชาติพัฒนา 52 คน, พรรคประชากรไทย 18 เสียง, และ พรรคมวลชน 2 เสียง รวม 197 เสียง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง, พรรคชาติไทย 39 เสียง, พรรคเอกภาพ 8 เสียง, พรรคพลังธรรม 1 เสียง, และพรรคไท 1 เสียง รวมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้แก่พรรคกิจสังคม 20 เสียง และพรรคเสรีธรรม 4 เสียง สนับสนุนนายชวน หลีกภัย ด้วยเสียงทั้งสิ้นรวม 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง
แต่แล้วแต่เกิดการพลิกผันที่ต้องจากรึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยขึ้น เมื่อเกิดกลุ่มการเมืองที่เรียกกันว่า "กลุ่มงูเห่า" ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยจำนวน 12 คน ฝืนมติกรรมการบริหารพรรค หันไปเข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลตามคำชวนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ จนกระทั่งถูกพรรคประชากรไทยมีมติขับไล่ทั้งหมดออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ส่งผลให้สิ้นสุดสถานภาพ ส.ส. ตามกฎหมาย จากนั้นทั้ง 12 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ทั้ง 12 คน ยังคงสถานภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้ เพียงแต่หาพรรคการเมืองอื่นเข้าสังกัดภายในกำหนดเวลาเท่านั้นเอง
นายชวน หลีกภัย จึงเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่สองในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 นั้นเอง และแนวทางการแก้ปัญหา "เศรษฐกิจฟองสบู่" ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ก็คือความพยายามหยุดยั้งการไหลออกของเงินด้วยการขึ้นดอกเบี้ย แต่เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและตลาดนักลงทุนการเงิน ส่งผลให้การไหลออกของเงินก็ยังไม่ลดลง ยังคงมีการเรียกหนี้คืนอย่างหนักจากต่างประเทศ เงินบาทได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องและทำจุดต่ำสุดที่ 57.5 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือน มกราคม 2541 ก่อนจะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 40 บาทเมื่อสิ้นไตรมาสที่ 1 แต่รัฐบาลก็ยังคงตั้งเป้าที่จะทำให้ค่าเงินให้แข็งขึ้นไปอีก และจะยังคงนโยบายดอกเบี้ยสูงต่อไป ทั้งๆที่เงินบาทได้เข้าสู่ระดับสมดุลแล้ว และเศรษกิจเองก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง
ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2541 รัฐบาลได้เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารลงเรื่อยๆ ในขณะที่แต่ละธนาคารเองก็ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงไปตามๆกัน ที่สำคัญคือไม่มีทีท่าว่าจะปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพื่อขยายการให้สินเชื่อในภาคการผลิตแต่อย่างไร เนื่องจากธนาคารถูกบังคับให้ต้องกันสำรองหนี้เสียให้ได้ตามเกณฑ์ 8.5% ต่อสินทรัพย์เสี่ยง
นำไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นเสมือน "ตราบาป" ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ นั่นคือการสั่งปิดกิจการชั่วคราว 56 สถาบันการเงินโดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เนื่องจากไม่สามารถสำรองตามเกณฑ์ 15 % และหลังจากถูกตรวจสอบบัญชีและประเมินราคาสินทรัพย์โดย บริษัทสอบบัญชีต่างชาติแล้ว จึงถูกปิดกิจการถาวร ปล่อยรอดมาเพียง 2 รายซึ่งถือว่ามีศักยภาพพอที่จะเข้าประมูลสินทรัพย์ ป.ร.ส. แข่งกับต่างชาติได้
จากนั้นรัฐบาลนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปไตย ก็เร่งดำเนินการจัดประมูลขายสินทรัพย์และหนี้ที่ติดอยู่กับ ป.ร.ส. ออกไปทั้งหมด ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาชาวต่างชาติ โดยไม่มีการประนอมหนี้แต่อย่างไร
และที่เป็น "ตราบาป" ซ้ำสอง ในการประมูลขายสินทรัพย์ในปี 2541 ป.ร.ส. ดำเนินการขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินทั้งหลายในราคาต่ำมาก เพียงแค่ 20% ของมูลค่าที่แท้จริงเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่แถลงในเวลานั้นและในเวลาต่อมาว่า ต้องการขายก่อนประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันกับประเทศไทย เช่น เกาหลี อินโดนีเซีย จะทำให้ได้เงินเข้าประเทศโดยเร็ว
การปิดสถาบันการเงิน ส่งผลให้ให้ธุรกรรมการให้สินเชื่อถูกปิดวงเงินกู้ลงทันทีทันควัน ทรัพย์สินและสินทรัพย์ในครอบครองถูกยึดไปอย่างสิ้นเชิงพร้อมกับมูลหนี้ ระบบหมุนเวียนเงินตราในตลาดการเงินและการลงทุนหยุดชะงัก วงเงินสินเชื่อที่มีขนาดและปริมาณแทบจะครอบคลุมระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศถูกทำให้กลายเป็นหนี้เสีย แล้วลุกลามต่อไปยังสถาบันการเงินอื่น วัฏจักรแห่งความล่มสลายดำเนินเป็นลูกโซ่ ทั้งสินทรัพย์ที่ได้ถูกประมูลไป แล้วขายออกมาในราคาถูกกว่าท้องตลาดก็มีส่วนทำให้ราคาสินทรัพย์ที่ตกต่ำอยู่ดิ่งลงเหวไปอีก กลายเป็นภาระให้ธนาคารต้องกันสำรองมากขึ้น และแล้วธนาคารที่คนไทยหรือกลุ่มทุนของไทยเป็นเจ้าของเกือบทุกแห่งต้องลดทุนลงจนสูญเสียความเป็นเจ้าของไปในที่สุด
ความเสียหายจากปรากฏการณ์ "ฟองสบู่แตก" ในครั้งนั้น เฉพาะในภาคสถาบันการเงินก็มีการประเมินกันเป็นมูลค่านับล้านล้านบาท ยังไม่รวมการที่รัฐต้องยอมลดค่าสัมปทานให้กับธุรกิจเอกชน การล้มละลายของธุรกิจนับหมื่นแห่ง รวมถึงธุรกิจไทยที่ต้องตกไปอยู่ในมือต่างชาติ
และก่อนที่รัฐบาลชวน 2 จะพ้นวาระในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ด้วยการประกาศยุบสภาในวันที่ 9 พฤศจิกายน เพื่อการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 ผลงานอัปยศสำหรับผู้รักประชาธิปไตยโดยน้ำมือของนักกฎหมายเจ้าแห่งหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การอนุมัติแต่งตั้ง จอมพลถนอม กิตติขจร หนึ่งใน "3 ทรราช" เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2542 ท่ามกลางกระแสไม่พอใจของสังคม สื่อมวลชน และโดยเฉพาะญาติของผู้เสียชีวิต/สูญหายในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน