Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (43)

"ขบถน้ำใส พ.ศ. 2465"
กบฏผู้มีบุญหลังผลัดแผ่นดิน (9)


เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม ขวา ) ขณะดำรงยศเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้แทนรัฐบาล ออกเดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากรัฐบาลประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2440

พรรณงาม เง่าธรรมสาร นำเสนอมุมมองของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ด้านการศึกษา ในบทความเรื่อง "กระบวนการบูรณาการรัฐชาติไทยกรณีจังหวัดชายแดนใต้ : บทเรียนจากระบบเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 6" ต่อไปว่า:
**********
มีข้อมูลจากภายในของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเวลานั้นที่สนับสนุนความเห็นของเจ้าพระยายมราชข้างต้นที่ว่า การจัดการศึกษาใหม่โดยการประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษา และการเก็บเงินศึกษาพลีเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความขัดแย้งและความเดือดร้อนต่อประชาชนในมณฑลปัตตานี นอกจากนั้นข้อมูลภายในกระทรวงศึกษาธิการยังชี้ว่า "วิกฤติ" และ "ความซับซ้อน" ของปัญหาการศึกษาที่มณฑลปัตตานีครั้งนั้นมีรากเหง้ามาจากทัศนะและการปฏิบัติงานแบบอำนาจนิยมของข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ คือสมุหเทศาฯ มณฑลปัตตานีเองอีกด้วย กล่าวคือ ในกระแสความเคลื่อนไหวเพื่อร่างพรบ. ประถมศึกษานับตั้งแต่ พ.ศ. 2456 ซึ่งมี พระบรมราชโองการให้วางโครงการศึกษาแห่งชาตินั้น นอกจากจะมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างกระทรวงนครบาลและกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระทรวงนครบาลไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ทั่วพระราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลว่าการบังคับเกณฑ์เด็กเข้าโรงเรียนจะสร้างความเดือดร้อนแก่บิดามารดาที่ยากจนซึ่งจะขาดความช่วยเหลือด้านแรงงานจากลูกแล้ว นอกจากนั้นยังมีปัญหาการคมนาคมที่ไม่สะดวกสำหรับเด็กในชนบทที่อยู่ห่างไกล และที่สำคัญคือปัญหาการเก็บเงินศึกษาพลีราษฎรเพื่ออุดหนุนโรงเรียนประชาบาลที่จะตั้งขึ้นนั้นจะสร้างความลำบากแก่ราษฎรทั่วไป ส่วนกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นว่า หากแม้นกรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงนครบาลดูแลอยู่จะไม่พร้อม ก็ไม่ควรขัดขวางไม่ใช้พระราชบัญญัตินี้ในมณฑลอื่น

ในการประชุมระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัตินี้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2464 เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการได้ยกความเห็นของสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานีที่ยื่นขอเป็น ลายลักษณ์อักษรให้มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2461 เป็นตัวอย่าง (กจช., ร.6 ศ.2/5, ที่ 29/3672 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึง พระยาจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ ราชเลขาธิการ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2464.) คำร้องของสมุหเทศาฯ มณฑลปัตตานี ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีความล้มเหลวในการบังคับให้เด็กในเขตมณฑลปัตตานีเข้าโรงเรียน เพราะ "ผู้ปกครองไม่เอาใจใส่และนิยมให้บุตรหลานเล่าเรียนหนังสือไทย" และ "..ราษฎรหัวดื้อไม่ยอมส่งบุตรเข้าเรียน." ยิ่งกว่านั้น ในทัศนะของสมุหเทศาฯ ปัตตานี การปกครองในมณฑลปัตตานี "จะสะดวกและเรียบร้อยได้ก็เมื่อการศึกษาเจริญแล้ว" และ "สำหรับคนต่างศาสนาและภาษา.. ทำอะไรควรทำให้จริงจังและมีหลัก" ซึ่งไม่มีทางใดนอกจาก "ออกกฎหมายบังคับคนเข้าเรียนเท่านั้น" สมุหเทศาฯ ปัตตานี จึงเสนอให้มี "พระราชกำหนดกฎหมายบังคับคนเข้าเล่าเรียน" ซึ่งแม้ไม่ประกาศใช้ที่อื่น ก็ "ขอพระราชทานเปิดใช้หรือประกาศใช้ในมณฑลปัตตานีเป็นพิเศษก่อน" (กจช., ร.6 ศ.2/5, ที่ 29/3672 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึง พระยาจักรปาณีศรีวิสุทธิ์ ราชเลขาธิการ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2464.)

ด้วยทัศนะและจุดยืนเชิงอำนาจนิยมของสมุหเทศาฯ ปัตตานีข้างต้น จึงทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดปัตตานีจึงเป็นหนึ่งใน 17 มณฑล (ยกเว้นกรุงเทพฯ) ที่มีการประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษาใน พ.ศ. 2465 และมีความโดดเด่นด้วยสถิติความสำเร็จในการสามารถจัดเก็บเงินศึกษาพลีเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (ร้อยละ 91.8) เปรียบเทียบกับมณฑลภูเก็ตซึ่งเก็บได้ต่ำสุดเป็นอันดับ 3 (ร้อยละ 58.2) (กจช., ร.6 ศ.1/24, "รายงานกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2465" หน้า 10.) และมณฑลปัตตานีมีสถิติ ผู้ขัดขืนไม่เสียเงินศึกษาพลีเพียง 4 ราย เปรียบเทียบกับมณฑลภูเก็ตที่มีผู้ขัดขืนถึง 661 ราย (กจช., ร.6 ศ.1/24, "รายงานกระทรวงศึกษาธิการ ฉบับที่ 15 ประจำปี พ.ศ. 2465" หน้า 11.) ความสำเร็จในการจัดเก็บเงินศึกษาพลีของมณฑลปัตตานี โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส เมื่อ พ.ศ. 2465 ได้รับคำชื่นชมจากเสนาบดีกระทรวงศึกษาอย่างสูง จนถึงกับประกาศให้เป็นตัวอย่างแก่จังหวัดอื่น ๆ พร้อมกับการทำนายว่า หากสามารถรักษาตัวเลขในการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษาดังกล่าวไว้ได้ในปีต่อไป นราธิวาสก็ "จะเปนช้างเผือกได้จังหวัดหนึ่ง" (กจช., ร.6 ศธ.28/61, "มณฑลปัตตานีส่งรายงานตรวจตัดปีเงินศึกษาพลีของการศึกษาธิการ จังหวัดปัตตานี" รายงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส พ.ศ. 2465.) ในทางกลับกัน การประกาศใช้ พรบ.ประถมศึกษานี้ ได้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากหนังสือพิมพ์ Pinang Gazette ว่าเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่เพิ่มความทุกข์ยากให้กับชาวมลายูปัตตานีซึ่งได้ทนแบกรับมานาน มีการอ้างว่าเด็ก ๆ ชาวมลายูไม่ได้รับอนุญาตให้ไปเรียนที่มัสยิด แต่ถูกบังคับให้ต้องไปเรียนที่โรงเรียนพุทธของสยาม โดยเป้าหมายของสยาม คือ "กระบวนการค่อย ๆ เปลี่ยนปัตตานีให้เป็นสยาม" และ "ลบล้างความเชื่อในศาสนาอิสลาม" ("The object is the gradual 'Siamifying' of Patani and the stamping out of the Mohammadan Faith". จาก "The Patani Trouble", Pinang Gazette, 14 March 1923.) รวมถึงการใช้ภาษาสยามแทนภาษามลายูในป้ายประกาศสาธารณะต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้สร้างความรังเกียจสยามขึ้นในหมู่ชาวมลายู

ประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดในเรื่องการจัดการศึกษาในมณฑลปัตตานีในขณะนั้นอีกประเด็นหนึ่งในความเห็นเจ้าพระยายมราช คือ การบังคับเกณฑ์เด็กหญิงเข้าโรงเรียนและเข้าเรียนปะปนกับนักเรียนชายและกับครูผู้ชายซึ่งท่านเน้นว่า "เป็นไปไม่ได้" และ "เป็นเหตุหนึ่งที่ราษฎรพากันเดือดร้อนเคียดแค้นมาก รวมอยู่ในเหตุผลที่รวมกำลังดื้อดึงขัดขวางไม่ปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้อรังเกียจร้ายแรง" เนื่องจากเข้าใจความสำคัญของศาสนาอิสลามสำหรับคนในพื้นที่นั้นอย่างลึกซึ้ง เจ้าพระยายมราชจึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า "ด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่นนี้ (การจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง – ผู้เขียน) จึงเป็นเรื่องที่สนับสนุนในความไม่พอใจต่อการศึกษา เป็นเหตุหนึ่งซึ่งเป็นข้อยากในทางการที่จะต้องระวังแก้ไขในหลักการให้พอดีให้ได้" ข้อเสนอของเจ้าพระยายมราชในประเด็นนี้การศึกษาของเด็กหญิงมลายู ในพื้นที่ก็คือ ถ้าจำเป็นก็ต้องจัดโรงเรียนขึ้นเฉพาะสำหรับเด็กหญิงต่างหาก รวมตลอดทั้งครูอาจารย์ อย่าให้ปนกับผู้ชาย และหากทางการยังไม่พร้อมก็ไม่สมควรจะบังคับ ในขณะนั้น
(ยังมีต่อ)
**********
จะเห็นว่า สถานภาพทั้งของระบอบการปกครองที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านอย่าง (ค่อนข้าง) สันติ เพียงสองทศวรรษเศษ และทั้ง "ขุนนาง" ในระบอบใหม่ ก่อให้เกิดปมปัญหาไม่มากก็น้อย ตามความเห็นของเจ้าพระยายมราช ที่สนับสนุนโดยข้อมูลภายในของกระทรวงศึกษาธิการ ดังที่พรรณงาม เง่าธรรมสาร ระบุว่า "วิกฤติ" และ "ความซับซ้อน" ของปัญหาการศึกษาที่มณฑลปัตตานีครั้งนั้นมีรากเหง้ามาจากทัศนะและการปฏิบัติงานแบบอำนาจนิยมของข้าราชการระดับสูงในพื้นที่

เท่ากับสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดจาก "ขุนนางใหม่" ที่เกิดขึ้นจากการ "รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง" ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง.


พิมพ์คร้้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 8-14 มิถุนายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8