Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (12)

"ตุลาการรัฐธรรมนูญ" และ "ศาลรัฐธรรมนูญ"

สำหรับองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 นั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกประกาศอย่างต่อเนื่องทั้งยกเลิกบางองค์กรและให้คงมีผลบังคับใช้สำหรับ บางองค์กร นอกเหนือไปจาก "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)" หรือการจัดตั้งองค์ (เฉพาะกิจ) ขึ้นมาใหม่ ที่สำคัญคือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจแล้ว องค์กรอิสระที่สำคัญอีก 2 องค์กร คือ "ศาลรัฐธรรมนูญ" และ "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" ก็อยู่ในข่ายการเข้าดำเนินการโดยอาศัยอำนาจของคณะรัฐประหารเช่นกัน

ใน ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ลงชื่อโดย พลเอก สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง
2.วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
3.องคมนตรี คงดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
4.ศาลทั้งหลาย นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ คงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข


เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปี 2549 ได้สิ้นสภาพไปพร้อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ตามประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับข้างต้นนั้นแล้ว จากนั้นในรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 อันประกอบด้วย 39 มาตรา ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ในมาตรา 35 ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่แทน โดยที่มีบทบัญญัติไว้ว่า ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ

นั่นคือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งเป็นองค์คณะวินิจฉัยความผิดใน คดีประวัติศาสตร์ "ยุบ 2 พรรคใหญ่" ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงประกอบด้วย

นายปัญญา ถนอมรอด ประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายอักขราทร จุฬารัตน รองประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายสมชาย พงษธา ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายกิติศักดิ์ กิติคุณไพโรจน์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการรัฐธรรมนูญ
นายวิชัย ชื่นชมพูนุท ตุลาการรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่มีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550" โดยผ่านการทำประชามติแบบรวบรัดและมีเงื่อนไขที่มีลักษณะภาคบังคับในปลายปี 2550 แล้ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกับและ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้ 1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน 2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาล ปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน 3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน และ 4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและ ได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน

ปัจจุบัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
นายจรัญ ภักดีธนากุล
นายจรูญ อินทจาร
นายเฉลิมพล เอกอุระ
นายนุรักษ์ มาประณีต
นายบุญส่ง กุลบุปผา
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
นายสุพจน์ ไข่มุกด์
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

ทั้งนี้ ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2553  ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นแกนนำในคณะรัฐบาล ปรากฏว่ามีการเผยแพร่สิ่งบันทึกวีดิทัศน์ซึ่งมีเนื้อหาแสดงถึงการชักจูงให้ศาลรัฐธรรมนูญช่วยเหลือทางด้านคดี เป็นเหตุให้เกิดข้อครหาเกี่ยวกับการ ปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งขอถอนตัวจากการทำคดี เพื่อเลี่ยงความไม่เหมาะสม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8