Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (8)

โครงสร้างอำนาจหน้าที่และบุคลากรของ คปค.

สำหรับในส่วนการดำเนินการ "ยึด" อำนาจการปกครอง นับจากควบคุมสถานการณ์โดยพื้นฐานเอาไว้ได้ โดยที่การออกอากาศของฝ่ายรัฐบาลเลือกตั้งนำโดยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องเงียบเสียงไปทุกช่องทาง และในเวลา เวลา 00.19 น. มีแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตเพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์บ้านเมือง ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

ในเวลาต่อมา มีการออกข่าวโดยผ่านทางสำนักโฆษก คปค. อย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดความเคลื่อนไหวในเวลานั้นว่า

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุก เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้"


นอกจากนั้น ตามมาด้วยประกาศรายชื่อคณะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในฐานะ "ผู้นำ" และคำสั่งการจัดส่วนงานและการแบ่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
  1. พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารทหารสูงสุด เป็น ประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
  2. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก เป็น หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ (คปค.)
  3. พลอากาศเอก ชลิต พุกพาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นรองหัวหน้าฯ คนที่ 1
  4. พลเรือเอก สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองหัวหน้าฯ คนที่ 2
  5. พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็น รองหัวหน้าฯ คนที่ 3
  6. พลเอก วินัย ภัทธิยะกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็น เลขาธิการฯ
สำหรับกองบัญชาการ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วย 4 ส่วนงาน คือ
  1. คณะปฏิรูปฯ มี หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ เป็น ผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ในการบริหารราชการให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะปฏิรูปฯ กำหนด
  2. สำนักเลขาธิการ มี เลขาธิการคณะปฏิรูปฯ เป็น ผู้บังคับบัญชาสูงสุด รับผิดชอบงานธุรการและกลั่นกรองบรรดาแถลงการณ์ คำสั่ง หรือประกาศหรือเอกสารทั้งหมด
  3. คณะที่ปรึกษา มีประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ให้ คำแนะนำปรึกษาในนโยบายความมั่นคงด้านต่างๆ
  4. ฝ่ายกิจการพิเศษ มี เลขาธิการฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่ อำนวยการ ประสานงานให้เป็นไปตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ
ทั้งนี้ ยังมีหน่วยขึ้นตรงเพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารแก่สื่อมวลชนและประชาชน คือ สำนักโฆษก โดยมี พลโท พลางกูร กล้าหาญ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นโฆษกคณะปฏิรูป และประกอบไปด้วยคณะทำงาน อีก 8 นาย คือ พลตรี ทวีป เนตรนิยม เจ้ากรมสารนิเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นรองโฆษกฯ; พันเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นรองโฆษกฯ ฝ่ายปฏิบัติการ; พันเอก อัคร ทิพโรจน์, พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง, พันโท ศนิโรจน์ ธรรมยศ, นาวาโท สุรสันต์ คงสิริ (ร.น.) และ เรือโทหญิง วรศุลี ทองดี (ร.น.) เป็นผู้ช่วยโฆษกฯ; ร้อยเอก นายแพทย์ ยงยุทธ มัยลาภ และ พันเอก ชาญชัย ร่มเย็น เป็น คณะทำงานโฆษกฯ

นอกจากนั้น ยังแยกย่อยลงไปเป็น คณะโฆษกทางโทรทัศน์ มีหน้าที่อ่านแถลงการณ์ คำสั่ง และประกาศต่างๆ ของคณะปฏิรูปฯ ออกอากา เป็นรายการพิเศษทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยมีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่ข่าย ประกอบด้วยคณะทำงานดังต่อไปนี้ พลตรี ประพาศ ศกุนตนาค ที่ปรึกษาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นายสิทธิชาติ บุญมานนท์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, นางสาว ทวินันท์ คงคราญ หัวหน้าประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นายกันตชาติ เกษมสันต์ ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นางศศินา วิมุตตานนท์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, นายมนัส ตั้งสุข ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นายชาญชัย กายสิทธิ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, พันตรีหญิง ดวงกมล เทวพิทักษ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, นางสาวศศิวรรณ์ เลิศวิริยะประภา ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี, นางสาวปานระพี รพิพันธุ์ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

ส่วนที่สุดของที่สุดที่ถือเป็น "กล่องดวงใจ" ของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งก็คือ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ประกอบไปด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์, นายวิษณุ เครืองาม, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายไพศาล พืชมงคล (ผู้ร่างแถลงการณ์ ประกาศ คำสั่ง คปค. ฉบับแรกๆ รวมทั้งพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะปฏิรูปฯ และ นายบรรเจิด สิงคะเนติ


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 ตุลาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8