Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมรัฐ 19 กันยายน 2549: ประวัติศาสตร์ที่ต้องไม่ถูกลบเลือน (9)

ประเดิมผลงานชิ้นโบดำ คปค. รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549

เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและควบคุมสถานการณ์ภายใน ประเทศเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเวลาอันรวดเร็ว มีการออกประกาศในทางบริหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีลักษณะบังคับใช้ตามกฎหมายเช่นทุกครั้งที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จจะอยู่ในสถานภาพผู้ถืออำนาจ (หรือที่เรียกกันว่า "รัฐาธิปัตย์" ไปโดยปริยาย ตามการวินิจฉัยซึ่งรับรองการกระทำรัฐประหารไว้นับจากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 45/2496 ซึ่งกลายมาเป็นบรรทัดฐานต่อมา)

"...คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ย่อมมีอำนาจออก และยกเลิก แก้ไข กฎหมายได้ รัฐมนตรีที่แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะรัฐประหารได้ประกาศใช้ จึงเป็นรัฐมนตรีโดยชอบ..."

ทั้งนี้ จุดยืนและทัศนะต่อคำสั่งของคณะรัฐประหารของนักกฎหมายมหนส่วนหนึ่ง รับแนวคิดปราชญ์นักกฎหมายชาวอังกฤษชื่อ John Austin ที่ว่า "กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฐาธิปัตย์ ที่กำหนดหน้าที่ (Obligation) ให้บุคคลต่างๆ ปฏิบัติตาม" แต่นักกฎหมายฝ่ายเสรีประชาธิปไตยในสมัยหลัง โต้แย้งว่าใช้หลักการเช่นนี้ก็เท่ากับนักกฎหมายยอมรับว่าคนถือ "อำนาจ" ถูกต้อง ไม่ได้ถือ "ความเป็นธรรม" และครรลองที่ถูกต้องเป็นตัวตัดสิน ทั้งนี้รัฐาธิปัตย์ยังมีความไม่แน่นอน ใครมีอิทธิพลย่อมขึ้นสู่อำนาจและถืออำนาจได้ ย่อมจะถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ และศาลก็มี "อำนาจ" ที่จะปฏิเสธอำนาจที่มีที่มาโดยไม่เป็นธรรมเช่นนี้

สำหรับประเทศไทยที่มักกล่าวอ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย หากมีการรัฐประหารติดอันดับมากที่สุดในสังคมสมัยใหม่ นับจากการรัฐประหารตัวเองหรือที่เรียกว่ารัฐประหารเงียบเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงปัจจุบันมีจำนวนถึง 12 ครั้ง โดยที่ 10 ครั้งหลัง นับจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นี้เอง

ฉะนั้นสิ่งที่เกิดตามมาในเวลาอันรวดเร็วหลังการยึดอำนาจ คือการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญ" หรือที่ใช้คำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว" อันเป็นความยามที่จะปกปิดบิดเบือนลักษณะการปกครองระบอบเผด็จการ อย่างน้อยเพื่อการรับรอง (อย่างเสียไม่ได้) จากสังคมอารยประเทศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงแต่งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายที่ประกอบด้วยนักกฎหมายมหาชนที่มีชื่อเสียง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ซึ่งเริ่มต้นประกอบด้วยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนายวิษณุ เครืองาม แต่หลังการประกาศชื่อ สองคนนี้ได้ลาออกเนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ว่าเคยร่วมงานกับรัฐบาลที่เพิ่งถูกยึดอำนาจ

ต่อมานายมีชัยลาออกจากการเป็นหัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญไปด้วย คปค. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการประธานศาลฎีกา ทำหน้าที่แทน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มี 39 มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่นักกฎหมายมหาชน และผู้รักประชาธิปไตย ถึงความสมบูรณ์ของผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ที่ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหาร คือตัวนายกรัฐมนตรี ตามที่ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เคยปฏิบัติกันมาในสังคมไทย

พร้อมกันนั้น หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ได้แปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดย หัวหน้า คปค. จะดำรงตำแหน่ง ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภา และรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินอดีตคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมา

รอยด่างอย่างสำคัญในความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือการมีบทบัญญัติประกาศรับรองประกาศของคณะปฏิวัติว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เอาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คปค. คือ

มาตรา 36 บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างสันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อน หรือหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้า และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 26 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม 2554
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8