Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (69)

1 ปีรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา
ปรับ ครม. 9 ครั้งก่อนยุบสภา


ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2538 โดยนายชวน หลีกภัยให้เหตุผลไว้ว่า

"...โดยที่สภาผู้แทนราษฎรปัจจุบันประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ จำเป็นต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล และในภาวการณ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองต่างๆหลายพรรคมีความแตกแยก จนไม่สามารถจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ เป็นเหตุให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นอีกก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวนี้ก็ไม่อาจสิ้นสุดลงได้ อันนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่..."

พระราชดังกล่าวมีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 สิ้นสุดลง แต่คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น คงบริหารราชการแผ่นดินต่อไปในฐานะคณะรัฐมนตรีรักษาการ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ และได้กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538

ก่อนจะถึงวันสิ้นสุดการรับสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 1 มิถุนายน มีอดีต ส.ส. ย้ายพรรคกันฝุ่นตลบรวม 47 คน ดังนี้ คือ พรรคพลังธรรมย้ายออก 13 คน พรรคชาติพัฒนา 13 คน พรรคความหวังใหม่ 9 คน พรรคกิจสังคม 3 คน พรรคเสรีธรรม 3 คน พรรคชาติไทย 3 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน และพรรคเอกภาพ 1 คน ในระหว่างนั้นมีข่าวแพร่สะพัดเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อดึงตัวนักการเมือง ทั้งความพยายามให้ย้ายออก และทั้งความพยายามยื้อไว้ให้อยู่กับพรรคเดิม มียอดเงินสูงถึงรายละประมาณ 20-25 ล้านบาท ดังประกฎในการให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งของ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคนำไทย กทม.เขต 2 ในเวลานั้น ขณะที่ "คงจะมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในพรรคเก่าเป็นสำคัญ เช่น อดีต ส.ส.จากพรรคพลังธรรม หลายคนย้ายไปอยู่พรรคนำไทย เพราะได้ ขัดแย้งกับหัวหน้าพรรคก่อนหน้าจะยุบสภามาเป็นเวลานาน หลายคนที่ย้ายพรรคมีฐานะการเงินดีจนเชื่อได้ว่าการย้ายพรรคคงไม่ใช่เพราะต้องการเงิน"

การเลือกตั้งครั้งนี้มีสิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 กำหมดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลดจาก 20 ปีเหลือ 18 ปี เป็นครั้งแรก

ผลการเลือกตั้ง ซึ่งมีผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ รวม 14 พรรค มีจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวน 391 คน ปรากฏว่า พรรคชาติไทยมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด จำนวน 92 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่สอง จำนวน 86 ที่นั่ง ภายหลังการเลือกตั้งพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาล มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันทั้งหมด 233 คน โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ มีมติเลือกนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทยโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 ทั้งนี้ยังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร, นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ, นายสมัคร สุนทรเวช และนายอำนวย วีรวรรณ

การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายักรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาลของนายบรรหาร อยู่ในช่วงการเสื่อมถอยลงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการขยายขนาดหนี้สินในสถาบันการเงิน และการตกต่ำลงของธุรกรรมทางการเงินในตลาดหลักทรัพย์ การส่งออกกุ้งถูกกีดกันจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ ขณะเดียวกับที่ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าเงินบาทที่ผูกติดไว้กับดอลลาร์จึงพลอยสูงตามไปด้วย ผลก็คือ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดการค้าทังในระดับภูมิภาคและในระดับโลกลดลงไปอีก

ปี 2538 และ 2539 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต สองปีติดต่อกัน คือ -8.2 และ -8.1 ตามลำดับ ทำให้เงินบาทอยู่ในฐานะที่ล่อแหลมต่อการถูกโจมตี ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม 2539 สถาบันจัดอันดับ Moody’s ได้เตือนว่าจะลดอันดับหนี้ระยะสั้นของไทย และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหา BBC หรือธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ โดยเพิ่มทุนใหม่โดยไม่ได้ลดทุนเก่าเสียก่อน ยิ่งซ้ำเติมให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น นำไปสู่กระบวนการถอนการลงทุนที่เป็นตัวเงินออกจากประเทศไทย

ต่อมาในเดือนกันยายน 2539 สถาบันจัดอันดับ Moody’s ปรับลดลดอันดับพันธบัตรระยะสั้นของไทย เป็นเหตุให้ช่วงนั้นบรรดานักเก็งกำไรต่างชาติได้เข้ามาโจมตีค่าเงินหลายครั้ง แต่ยังไม่รุนแรงนักเป็นการหยั่งเชิงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีศักยภาพพอที่จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินและสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายค่าเงินหรือไม่ ซึ่งหมายความว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลในยุคโลกาภิวัติ จำเป็นจะต้องตื่นตัวและมีวิสัยทัศน์ทางด้านนโยบายทางการเงินการคลัง ให้สอดคล้องกับระบบธุรกิจการค้า การส่งออกและการนำเข้า ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกสมัยใหม่ผ่านทางอินเทอร์เนต เพื่อที่จะมีความฉับไวในการรับรู้ข่าวสารข้อมูล มาประกอบการพิจารณายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของชาติทั้งในเวทีภูมิภาคและในเวทีระดับนานาชาติ

เมื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งบริหารประเทศโดยรัฐบาลผสม ที่ประกอบไปด้วยพรรคร่วมรัฐบาลถึง 5 พรรค นำไปสู่ความติดขัดไม่ราบรื่น ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกก็มาถึง และในเดือนพฤษภาคมมีการปรับคณะรัฐมนตรีถึง 6 ครั้ง นับจากวันที่ 3 ถึง 28 ตามมาด้วยวันที่  15 มิถุนายน และวันที่ 1 และ 3 กรกฎาคม

ช่วงปลายรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชาคือในวันที่ 14 สิงหาคม รัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังธรรมลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันถึง 5 คน ซึ่งนับเป็นการลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกว่าจะมีพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีทดแทนก็ตกเข้าไปวันที่ 27 กันยายน 2539

แต่แล้วนายบรรหารก็ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยมีพระบรมราชโองการในวันที่ 27 กันยายนนั้นเอง โดยกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 กรกฎาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8