สองนายกรัฐมนตรีช่วงวิกฤต
จากแต่งตั้งสู่เลือกตั้งก่อนปฏิรูป
หลังจากที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 ส่งผลให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เข้าทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535 คณะรัฐมนตรี คณะที่ 48 ของรัฐบาลพล.อ.สุจินดา จึงพ้นจากวาระโดยเด็ดขาด
สถานการณ์ทางการเมืองการปกครองที่ตามมาคือ 5 พรรคการเมืองเสียงข้างมากร่วมรัฐบาล ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมอีกครั้งหนึ่ง โดยการเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ อดีตผู้อำนวยการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หัวหน้าพรรคชาติไทยสืบต่อจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ลาออกหลังรัฐประหาร รสช. เพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กลับตัดสินใจเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีรักษาการช่วงต้นระหว่างการยึดอำนาจโดย รสช. ขึ้นทูลเกล้าฯ ในลักษณะ "พลิกโผกลางอากาศ" ที่ว่ากันว่าเป็นการตัดสินใจในวินาทีสุดท้าย
เหตุการณ์ครั้งนั้น สื่อจำนวนหนึ่งถึงกับสร้างวาทกรรมจนเป็นที่ฮือฮาว่า พล.อ.อ.สมบุญ "แต่งชุดขาวรอเก้อ"
สำหรับการก้าวเข้าสู้เส้นทางการเมืองของนายอานันท์ ปันยารชุน นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ถือเป็นคนที่ 19 ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม 2534 ถึง 22 มีนาคม 2535 ภายหลังการรัฐประหาร รสช. พ.ศ. 2534 จากการเสนอชื่อโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร ศิษย์เก่าร่วมโรงเรียนอำนวยศิลป์ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ในสายงานทางการทูตร่วมกัน เมื่อ พ.ศ. 2514 ขณะพันโทสุจินดา (ยศขณะนั้น) เป็นรองผู้ช่วยทูตทหารบก ประจำสถานเอกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี และนายอานันท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอานันท์ประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการเงินการคลัง เช่น นายนุกูล ประจวบเหมาะ นายเสนาะ อูนากูล นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ขณะที่นายอานันท์เองได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์"
นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2475 เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน 12 คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และ คุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร) นายอานันท์สมรสกับหม่อมราชวงศ์สดศรีสุริยา จักรพันธุ์ ธิดาหม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ (พลโท หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ กับ หม่อมหวน จักรพันธุ์ ณ อยุธยา) มีธิดา 2 คนคือ นางนันดา ไกรฤกษ์ (สมรสกับ ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์) และนางดารณี เจริญรัชตภาคย์ (สมรสกับ ชัชวิน เจริญรัชตภาคย์)
ในปี 2519 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ก่อนจะถูกสั่งพักราชการในปี พ.ศ. 2520 ด้วยข้อหาพัวพันและฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ และถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อนจะลาออกจากราชการในปี 2522 หันมาทำงานด้านธุรกิจกับกลุ่มจนกระทั่งเป็นประธานกรรมกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยนฯ เมื่อปี 2534 และดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก
มีข้อพึงสังเกตในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งหลังในลักษณะฝ่าวิกฤตผ่าทางตัน หลังการนองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในเวลาต่อมา คือก่อนหน้านี้ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 มีการประชุมรัฐสภาเป็นการเร่งด่วน ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้เสนอญัตติแก้ไข รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 ในอยู่ 4 ประเด็นด้วยกันคือ
- ประสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
- ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยประชุมที่ 2 สามารถพิจารณาญัตติต่างๆ ได้นอกเหนือจากการพิจารณาพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ
- อำนาจวุฒิสภามีเพียงยับยั้งหรือกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติ
- นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
โดยภาพรวมรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ครั้งที่ 2 นี้ มิได้มีบทบาทอะไรมากนัก ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในขณะที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง ก็เพื่อจะได้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ คืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปให้ประชาชน ดังนั้นเมื่อการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเป็นเอกภาพ โดยเหตุที่ทุกพรรคการเมืองต้องการให้จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด จึงสามารถผ่านวาระการอภิปรายไปสู่การลงมติ กระทั่งมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 29 มิถุนายน 2535 เพื่อเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายนนั้นเอง
ผลการเลือกตั้งการเลือกตั้งวันที่ 13 กันยายน 2535 พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดและรองลงมารวม 3 พรรค มีดังนี้ พรรคประชาธิปัตย์ 79 คน พรรคชาติไทย 77 คน พรรคชาติพัฒนา 60 คน ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล
ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นรัฐบาลชุดที่ 50 เริ่มบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2535
นายชวน หลีกภัยได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานโดยการเป็นทนายความ และต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2534 นายชวนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการมาหลายกระทรวงและตำแหน่งสำคัญๆทางการเมืองมาแล้วหลายตำแหน่ง เริ่มตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน
สำหรับตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ ในปี 2533 นายชวนดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัน ซึ่งพ้นสภาพไปภายหลังการรัฐประหาร รสช. นั่นเอง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน