จุดจบของความโกลาหล
ทุกคำถามที่ยังคงไม่มีคำตอบ
ทุกคำถามที่ยังคงไม่มีคำตอบ
หลังจากถ่ายทอดการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากประเทศฝรั่งเศสดังกล่าวแล้ว ฝ่ายทหารก็ถอนกำลังบางส่วนออกจากถนนราชดำเนิน แล้วเปิดเส้นทางให้แก่การสัญจรไปมาได้ แต่ก็ยังมีประชาชนเดินทางมาจับกลุ่มดูซากรถ ซากอาคารทั้งสองฝั่งถนน มีส่วนหนึ่งได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมาวางตามรอยเลือดตลอดแนวถนน
จนถึงเวลาประมาณ 13.00 น. มีประชาชนทยอยกันมารวมตัวและจัดเวทีย่อยบนถนนราชดำเนินผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดวันที่ผ่านมา เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 2,000 คน จากนั้นมีคนกลุ่มหนึ่งจุดไฟเผารถขนขยะของ กทม. ที่จอดอยู่รอบอนุสาวรีย์สามคัน ทำให้กำลังทหารประมาณ 400 คนหน้าเคลื่อนตัวกดดันเป็นแถวหน้ากระดานเป็นชั้นๆจากถนนราชดำเนินนอกเข้าเคลียร์พื้นที่อีกครั้ง ช่วงนั้นมีเสียงปืนกลดังรัวเป็นชุดๆ ขณะที่ฝูงชนวิ่งหนีหลบตามซอกซอยต่างๆ
ผลที่สุดกำลังทหารก็เข้าควบคุมพื้นที่ได้เป็นผลสำเร็จ ผู้ชุมนุมต่างพันกันแยกย้ายหลบไปจากถนนราชดำเนินและบริเวณโดยรอบจนหมดสิ้น ทว่าตามจังหวัดต่างๆ ในหลายภูมิภาคมีรายงานว่าประชาชนยังคงชุมนุมต่อต้าน พล.อ.สุจินดาอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงเดียวกันนั้นระหว่างเวลาประมาณ 13.00 น. พล.อ.สุจินดา พร้อมด้วยแกนนำ 5 พรรคการเมืองที่สนัลบสนุนรัฐบาล เดินทางมาแถลงข่าวร่วมกันที่ตึกนารีสโมสร มีนักข่าวทั้งไทยและต่างประเทศรอทำข่าวอยู่อย่างคับคั่ง ครั้น พล.อ. สุจินดา แสดงท่าทีว่าจะเป็นการถ่ายทอดออกอากาศทางโทรทัศน์เท่านั้น ทำให้นักข่าวส่วนใหญ่ที่นั่งรอกันอยู่พากันลุกเดินออกจากห้องแถลงข่าวไปทันที
ผู้สื่อข่าวได้หันไปซักถามแกนนำห้าพรรค โดยได้ถามนายณรงค์ วงศ์วรรณ ว่ารู้สึกอย่างไรที่เห็นภาพทหารยิงประชาชน นายณรงค์ตอบว่ายังไม่เห็นทหารยิงใคร ขณะเดียวกันมีหนึ่งในกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามนายสมัคร สุนทรเวช ว่าเห็นด้วยกับการฆ่าประชาชนหรือไม่ นายสมัครกลับย้อนถามกลับไปว่าทำไมเวลาจอร์ช บุช ส่งทหารไปทีละ 6,500 นาย ไม่เห็นมีใครด่าบุชเลย
สำหรับเนื้อหาหลักที่ พล.อ. สุจินดาได้ออกแถลงข่าวทางโทรทัศน์ เป็นการแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิด และยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 40 คน บาดเจ็บ 600 คนเท่านั้น
ในเวลา 19.30 น. กองกำลังรักษาพระนครได้ออกประกาศห้ามบุคคลในท้องที่ กทม. ออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลับมีประชาชนทยอยมาร่วมชุมนุมอยู่ตลอดเวลา โดยสื่อมวลชนที่รายงานข่าวในพื้นที่ประเมินว่ามียอดผู้ชุมนุมประมาณ 100,000 คน
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้นำเทปบันทึกภาพสัมภาษณ์ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ขณะถูกควบคุมตัวออกเผยแพร่ พล.ต. จำลองกล่าวว่า ตนรู้สึกสบายที่สุด และกำลังบันทึกเหตุการณ์ต่างๆลงในหนังสือชื่อ "ร่วมกันสู้"
ช่วงนั้นและตลอดทั้งคืนวันที่ 20 มีกระแสข่าวลือต่างๆมากมายเป็นต้นว่า เกิดการแตกแยกระหว่างทหารเรือกับทหารบก บางกระแสก็ว่า พล.อ. เปรมนำกองกำลังโคราชยกมาช่วยผู้ชุมนุม หรือแม้กระทั่งพล.อ. สุจินดาจะทำการปฏิวัติตัวเอง ฯลฯ
ในขณะที่สถานการณ์ความตึงเครียดยังไม่มีทีท่าวะจะคลี่คลายตัวลง กระทั่งในเวลาประมาณ 20.00 น. ของวันพุธที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำการชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวเอาไว้ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ทั้งนี้ ของวันนั้นด้วย หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พล.อ.สุจินดา จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน
พร้อมกันนั้นในเวลา 23.30 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจและสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งได้ถ่ายทอดข่าวสำคัญดังกล่าว พร้อมกับนำเทปบันทึกภาพการพระราชทานพระราชดำรัส ออกอากาศทางโทรทัศน์ เมื่อเวลา 24.00 น. ทั้งเนื้อหาสำคัญในพระราชดำรัสทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะมีต่อประเทศชาติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขอให้บุคคลทั้งสองเป็นตัวแทนฝ่ายต่างๆหันหน้าเข้าหากัน ช่วยกันแก้ปัญหาทำอย่างไรให้ประเทศชาติกลับคืนขึ้นมา
ภายหลังจากกราบบังคมทูลลา พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง พร้อมด้วยนายสัญญา และ พล.อ.เปรม ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
จากนั้นตัวแทนที่เป็นคู่กรณีมาตั้งแต่ต้นได้ออกแถลงร่วมกันทางโทรทัศน์ โดย พล.อ.สุจินดา แถลงว่าจะปล่อยตัว พล.ต.จำลอง และออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม และจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต. จำลองแถลงว่า ขอให้ผู้ที่ยังเคลื่อนไหวก่อเหตุยุติการปฏิบัติการทุกอย่างโดยทันที
แต่ทันทีที่ผู้ชุมนุมที่รามคำแหงส่วนใหญ่ซึ่งเฝ้าติดตามข่าวสำคัญและการแถลงข่าวของบุคคลทั้งสอง พบว่าข้อสรุปการชุมนุมเรียกร้องสิ่งที่เป็นประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน มีผู้บาดเจ็บล้มตายและสูญหายยังไม่ทราบชะตากรรมอีกจำนวนมาก ออกมาเช่นนั้น ต่างพากันรู้สึกผิดหวังที่ พล.อ.สุจินดายังไม่ลาออก ถึงกระนั้นก็ตัดสินใจร่วมกันที่จะสลายการชุมนุม โดยยังคงอยู่รวมกันในมหาวิทยาลัยรามคำแหงจนกว่าจะถึงเวลาตีสี่ ซึ่งพ้นเวลาเคอร์ฟิวแล้ว จึงค่อยทยอยกันกลับบ้าน
มีการให้ข้อสังเกตในเวลาต่อมาว่า ณ สถานการณ์ในเวลานั้น ถ้าการชุมนุมที่รามคำแหงยังไม่ยุติ มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจเกิดการนองเลือดขึ้นอีกแน่นอน ทั้งนี้รายงานที่กองทัพบกเสนอต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล (ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ) กล่าวว่า
"การที่เจ้าหน้าที่ใช้ความนุ่มนวลต่อผู้ชุมนุม เช่น การเจรจาทำความเข้าใจการใช้น้ำฉีด การใช้แนวตำรวจแนวทหารประกอบอาวุธโดยมิได้บรรจุกระสุนปืนตามมาตรการขั้นเบา ไม่น่าจะได้ผลเพราะกลุ่มผู้ก่อการจลาจลไม่ยำเกรง... หากการดำเนินการของกลุ่มผู้ก่อการจลาจลที่รวมอยู่กับประชาชนยังคงอยู่ จะต้องเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งแก่เจ้าหน้าที่และประชาชน ผู้ก่อการจลาจลเหล่านี้สมควรจะต้องถูกสลายและควบคุมตัวถ้าจำเป็น เพื่อหยุดก่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้น".
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12 - 18 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน