Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (63)

แสนยานุภาพทางทหารกลางมหานคร
ประชาชนคือผักหญ้าในสายตาเผด็จการ

ในเวลากลางวันมีประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพโดยเฉพาะนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ในขณะที่สื่อสารมวลชนในกำกับดูแลของรัฐบาลยังคงรายงานข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน แต่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานภาพของการสลายการชุมนุมและการทำร้ายผู้ชุมนุม ซึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยบางฉบับก็เริ่มตีพิมพ์ภาพความรุนแรงในการสลายการชุมนุม

รัฐบาลสวนกลับกระแสสื่อโดยประกาศให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนเอกชนในประเทศ

สำหรับการเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาลในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมากเป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน มีฐานะและศักยภาพ ที่จะใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยเ ป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารระหว่างกัน เหตุการณ์พฤษภาทมิฬนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อนึงว่า "ม็อบมือถือ"
นับจากเวลาประมาณ 18.00 น. มีประชาชนจากทุกสารทิศประมาณ 5 หมื่นคนได้กลับมารวมตัวกันที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ และขยายแนวไปจนถึงกระทรวงยุติธรรม หน้าขบวนถือธงชาติโบกสะบัด ทั้งอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ มายืนประจันหน้ากับแนวรั้วลวดหนามและแถวทหาร จากนั้นก็มีเสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหวต่อเนื่องกันกว่า 10 นาที มีผู้บาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก มีเสียงตะโกนด่าทอ พล.อ.สุจินดาระงมไปทั่วบริเวณ

ฝูงชนกระจายกำลังกันพยายามวางเพลิงเผากองสลากฯ และกรมประชาสัมพันธ์
หลังเวลา 22.00 น. หน่วยพยาบาลอาสาสมัครของการชุมนุมซึ่งประจำอยู่ที่ภัตตาคารศรแดง มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ย้ายมายังโรงแรมรัตนโกสินทร์ จัดตั้งเป็นหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน เพราะกลุ่มแพทย์ซึ่งมีประมาณ 40 คน ประเมินสถานการณ์ว่า การรวมตัวของประชาชนที่บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกัน แล้วงานหนักก็เริ่มขึ้น เมื่อร่างโชกเลือดของผู้บาดเจ็บ และศพวีรชนประชาธิปไตยคนแล้วคนเล่า ถูกหามเข้ามาเรื่อย ๆ หลายคนมีบาดแผลฉกรรจ์ กลิ่นคาวเลือดตลบอบอวล

คนเจ็บถูกทยอยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลโดยรถพยาบาลเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ที่แล่นเข้ามาพร้อมเสียงไซเรนแผดโหยหวน ทว่ารถพยาบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับเข้ามารับผู้บาดเจ็บได้อีกเนื่องจากถูกหน่วยทหารสกัดเอาไว้ ผู้ชุมนุมจึงนำรถเมล์ที่พากันไปยึดไว้มาช่วยขนผู้บาดเจ็บ

จากช่วงดึกคืนนั้น ทางโรงพยาบาลศิริราชก็ประกาศผ่านสื่อสารมวลชนเท่าที่ทำได้ เพื่อรับบริจาคโลหิตเป็นการด่วน

เวลาประมาณ 24.00 น. รัฐบาลได้ออกอากาศข่าวด่วนพิเศษทางโทรทัศน์แถลงปฏิเสธว่า ข่าวทหารยิงประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง

หลังเที่ยงคืน ฝูงชนที่ถนนราชดำเนินเริ่มบางตา แต่ยังรวมกลุ่มกันอยู่เป็นกระจุกๆ รอบสนามหลวง ตามอาคารและซอกซอยต่างๆ ขณะเดียวกันก็มีรถจักรยานยนต์จับกลุ่มวิ่งไปตามถนนสายต่างๆกลุ่มละ 60-70 คัน มีรายงานจากบางแหล่งข่าวอ้างว่าบางกลุ่มมีรถจักรยานยนต์ถึง 500 คันขับขี่ตระเวนทำลายสัญญาณไฟจราจรตามสี่แยก ป้อมยามป้อมตำรวจถูกทุบเสียหาย บางแห่งก็ถูกเผา โดยเฉพาะสถานีตำรวจจะเป็นจุดที่กลุ่มรถจักรยานยนต์เล็งเป็นเป้าหมายของ การแก้แค้นแทนฝูงชนที่ถูกสังหารบริเวณราชดำเนิน

ทางรัฐบาลได้จัดตั้ง "หน่วยไล่ล่า" อันเป็นกำลังผสมทหาร-ตำรวจ เพื่อเข้าดำเนินการกับ "ขบวนการมอดตอร์ไซค์" ดังกล่าว โดยเริ่มออกปฏิบัติการตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม โดยพื้นปฏิบัติการได้กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ฝั่งพระนครบริเวณสะพานขาว ไปจนถึงฝั่งธนบุรี ตั้งแต่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า (โรงพยาบาลทหารเรือ) ตลาดพลู บุคคโล ไปจนถึงถนนสาธร แต่ด้วยความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ทำให้กำลังตำรวจไม่สามารถจัดการกลุ่มรถจักรยานยนต์พิทักษ์ประชาธิปไตยได้อย่างเด็ดขาดในคืนนั้น และขบวนการมอเตอร์ไซค์ก็ได้พลิกสถานการณ์ให้เห็นว่า การใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างสลายการชุมนุมที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อาจหยุดยั้งการต่อสู้ของประชาชนได้เลย

จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม กำลังทหารเคลื่อนเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ และควบคุมตัวประชาชนจำนวนมากขึ้นรถบรรทุกทหารไปควบคุมไว้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ย้ำว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบและไม่ให้ประชาชนเข้ามาสมทบการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอีก แต่แล้วกลับมีการก่อตัวของประชาชนขึ้นอีกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในคืนนั้น

ราว 05.00 น. กำลังทหารกว่า 1,000 นายเดินเรียงหน้ากระดานระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนตั้งแต่หน้ากรมประชาสัมพันธ์เข้ามา เพื่อหวังเผด็จศึกสลายการชุมนุมให้ได้ก่อนรุ่งสาง ฝูงชนแตกกระจายไปคนละทิศละทาง บ้างคว่ำจมกองเลือดบ้างคลานตะเกียกตะกายให้พ้นวิถีกระสุน กำลังทหารจากทุกๆด้านโอบล้อมต้อนฝูงชนไม่ให้เล็ดลอดออกไปได้ เสียงหวีดร้องดังระงมไปทั่ว เสียงปืนดังเป็นระยะตามจุดต่าง ๆ และในเวลาเพียง 30 นาที ฝูงชนถูกต้อนมารวมกันบริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ผู้ชายถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงถูกกันไว้อีกทาง

เวลาประมาณ 06.00 น. ประชาชนราว 2,000 คนเศษ นั่งก้มหน้านิ่งในสภาพถูกจับเป็นเชลยแออัดกันอยู่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ รถยีเอ็มซี 20 คัน รถบัสทหารสองคัน ขนผู้ต้องหาก่อการจลาจลส่งเรือนจำชั่วคราวที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ซึ่งเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายนั้น ไม่มีช่างภาพคนใดได้บันทึกภาพ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพวิดีโอ

ภาพหลังเหตุการณ์ที่ต่อมาสื่อมวลชนเรียกขานว่า "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ '35" มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชน 5 สถาบัน ร่วมกันเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลและผู้อยู่ในเหตุการณ์ช่วงวิกฤต ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการปราบปรามประชาชนครั้งนี้มีพฤติการณ์ต่างๆ ที่น่าจะไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาประมาณ 5 นาฬิกา (ผู้สื่อข่าวถูกถอนออกมาหมดตั้งแต่เวลา 1 นาฬิกา) ซึ่งผู้ร่วมเหตุการณ์เห็นตรงกันทั้งหมดว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เพราะลักษณะการปราบปรามเป็นการปิดล้อมและระดมยิงเข้ามาทุกด้าน (ยกเว้นทางสะพานพระปิ่นเกล้าซึ่งทหารเรือเปิดให้ผู้ชุมนุมวิ่งออกไป) มีผู้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ามีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะที่วิ่งหลบเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆทุกแห่ง.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง  ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8