Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562

กบฏไพร่ กบฏชาวนาในสยาม-ไทย (65)

กบฏชาวนาหลังเกิด "รัฐไทย"
กบฏผู้มีบุญ "โสภา พลตรี" (3)

กฎหมายตราสามดวงซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และมายกเลิกเมื่อมีการประการใช้ประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาในปลายสมัยรัชกาลที่ 5

บทความ "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" เขียนโดย สุวิทย์ ธีรศาศวัต และ ชอบ ดีสวนโคก ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) 12, 1 พ.ค.-ต.ค. 2537 หน้า 39-51 เขียนบรรยายการ "ปลุกระดมมวลชน" ของพ่อใหญ่โสภาในการจัด "ชุมนุมใหญ่ทางการเมือง" เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2483 ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาลคณะราษฎรที่แตกต่างไปจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในส่วนที่พ่อใหญ่โสภาเห็นว่าเป็นการกระทบกระเทือนผลประโยชน์ที่เคยมีเคยได้มาแต่เดิม (status quo) :

เรื่องที่พ่อใหญ่โสภาพูดในหัวค่ำของคืนวันนั้น (ประมาณ 2 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม) เป็นเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง ว่าเดี๋ยวนี้ (2483) ไม่ทำอย่างโบราณ รัฐบาลเดี๋ยวนี้กดขี่ข่มเหงราษฎร เมื่อก่อนจะซื้อขายที่ดินก็ทำกันง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีสัญญาซื้อขายกัน ก็ไม่เคยมีปัญหา แต่ทุกวันนี้ทางการบังคับให้ต้องทำหนังสือสัญญาซื้อขายกัน นอกจากนี้ยังพูดถึงภาษีที่ดิน ทำไมต้องเสีย ที่ดินมันมีอยู่แล้วตามธรรมาชติ เราเป็นคนลงแรงหักร้างถางพง หลวงไม่ได้ทำอะไรให้เรา ทำไมจะต้องเสียภาษีที่ดินในหลวง (อรุณ เชื้อสาวะถี) พ่อใหญ่โสภายังพยากรณ์อนาคตของบ้านเมืองอีกหลาบประการ เช่น พยากรณ์ว่าต่อไปบ้านหนึ่ง (หมู่บ้าน) จะมีครกมองเพียงครกเดียว ซึ่งชาวบ้านก็หัวเราะกันใหญ่และโต้แย้งว่า "มันบ่พอกินดอกพ่อใหญ่" พ่อใหญ่โสภายังทำนายว่า ต่อไป "ม้าซิโป่งเขา เสาซิออกดอก" "เหมิดบ้านจะมีไถ 2-3 ดวง" "ต่อไปจะเกิดอดอยาก ความตัวละหมื่นตัวละพัน" (อรุณ เชื้อสาวะถี, พิมพ์ รัตนคุณศาสน์)
**********
จะเห็นได้ว่าแนวทางในการ "ปลุกระดม" ให้ราษฎรเกิดความรู้สึกต่อต้านอำนาจรัฐ ประการแรกการเปรียบเทียบวิถีชีวิตรูปแบบเดิมแบบกึ่งบุพกาลหรือเกือบจะอยู่ในลักษณะ "ไร้รัฐ" (ซึ่งไม่มีอยู่จริงแม้ในสมัยจตุสดมภ์หรือแม้แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม) กับกฎระเบียบอย่างใหม่ของระบบสังคมใหม่รูปแบบและโครงสร้างรัฐใหม่ ที่บังคับใช้แก่ราษฎรทั่วไปต้องปฏิบัติตามอย่างเสมอกัน ประการถัดมาสร้างจินตภาพถึงอนาคตที่เลวร้ายลง ชีวิตจะประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น เพื่อให้ราษฎรเกิด "ภยาคติ" และเข้าร่วมกับการ "ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ" ทั้งนี้ไม่ว่าเหตุผลในการใช้เป็นแนวทางหลักในการปลุกระดมจะถูกแสริมแต่งและขยายความจนเกินจริงหรือไม่อย่างไร หรือแม้แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะมีลักษณะ "ส่วนตัว" ระหว่างลูกศิษย์คนสำคัญของพ่อใหญ่โสภา กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมกับชนชั้นนำในท้องถิ่นหรือไม่อย่างไรก็ตาม (กรณีพ่อสิงห์กับพ่อเสริม ถูกบังคับขายโอนที่ดินให้แก่เจ๊กพก พ่อของกำนันตำบลสาวะถีในปี พ.ศ. 2537)  แต่ "การปลุกระดม" ที่มีเจตนา "เตรียมการซ่องสุมกำลัง" ก็เป็นสิ่งที่ข้าราชการฝ่ายปกครองยอมไม่ได้ และนำไปสู่การปราบรามของทางการ:

สำหรับทางการคือ นายอำเภอเมือง (ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์) กับฝ่ายตำรวจเห็นว่าจะปล่อยให้พ่อใหญ่โสภาทำแบบนี้ต่อไปอีกไม่ได้ จึงวางแผนการจับกุม เนื่องจากสมัยนั้นตำรวจมีน้อย ขอกำลังตำรวจมาได้เพียง 6 คน ซึ่งไม่พอ ทางกำนันขออาสาช่วยจับ มีครูอาสาสมัครไปช่วยจับด้วย 3 คนรวมทั้งครูบุญเลิศ คู่ปรับของพ่อใหญ่โสภา พ่อพิมพ์ซึ่งเป็นครูก็อาสาช่วยจับด้วย แต่กำนันกับทางตำรวจเห็นว่าพ่อพิมพ์ผอมเกินไป จึงไม่เอา หัวหน้าตำรวจที่ไปจับคือ ร.ต.ต. ถนอม เวลาประมาณ 3 ทุ่ม หลังจากพ่อใหญ่โสภาปราศรัยไปได้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง ตำรวจกับอาสาสมัครก็กรูกันเข้าจับ ผู้คนแตกหนี แต่กำลังของตำรวจกับอาสาสมัครสามารถจับพ่อใหญ่โสภา ซึ่งเป็นหัวหน้า พ่อเสริม พ่อสิงห์ พ่อใหญ่คุย ซึ่งเป็นระดับแกนนำ และยังจับชาวบ้านที่ไปฟัง รวมทั้งหมด 116 คน ทุกคนไม่มีใครพกพาอาวุธ วันรุ่งขึ้นก็นำตัวไปที่อำเภอ

ข้อหาที่ทางการตั้งสำหรับคนเหล่านี้คือ "กบฏภายใน" ในจำนวนผู้ต้องหาที่จับไปเป็นผู้หญิงอยู่หลายคน เนื่องจากการสอบสวนกินเวลานานประมาณ 2 เดือน ผู้หญิงบางคนจึงไปคลอดบุตรในเรือนจำ พ่อพิมพ์เล่าว่า ศาลพิพากษาให้จำคุกพ่อใหญ่โสภา พ่อสิงห์ พ่อเสริมและพ่อใหญ่คุย ซึ่งเป็นหัวหน้าและแกนนำตลอดชีวิต แต่ศาลกรุณาลดโทษให้เหลือจำคุก 16 ปี (พิมพ์ รัตนคุณศาสน์ และ บุญเลื่อน เพี้ยอาสา)

สำหรับตัวการใหญ่คือ พ่อใหญ่โสภา พ่อใหญ่คุย แดงน้อย พ่อเสริมและพ่อสิงห์ ทางการได้ส่งตัวมาที่เรือนจำบางขวาง ติดคุกที่บางขวาง 2 ปี ในช่วงนั้นมีอยู่วันหนึ่งทางการได้นำตัวพ่อใหญ่โสภากับพ่อใหญ่คุยไปถ่วงน้ำลึกประมาณ 15 ศอกบริเวณคลองบางซื่อ (ก่อนถ่วงน้ำได้นำเอาพาข้าว 15 พา มาให้นักโทศทั้งสองเลือกรับประทาน) ปรากฏว่าเมื่อดึงตัวนักโทษขึ้นมาจากน้ำ ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ทางการจึงตัดสินใจปล่อยตัว

การพิสูจน์ตามกฎหมายไทยโบราณ หากไม่มีพยานหลักฐาน แต่โจทก์ขอให้ศาลพิสูจน์ ศาลจะต้องพิสูจน์ มี 7 วิธี คือ
(1) ให้โจทก์เอามือล้วงตะกั่วที่หลอมละลาย
(2) ให้โจจทก์จำเลยสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
(3) ให้โจทก์จำเลยลุยเพลิง
(4) ให้โจทก์จำเลยดำน้ำ
(5) ให้โจทก์จำเลยว่ายทวนน้ำ
(6) ให้โจทก์จำเลยว่ายน้ำข้ามฟาก
(7) ให้โจทก์จำเลยตามเทียน
(กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 : 105-106)
การพิสูจน์ความผิดของนักโทษทั้งสอง ที่จริงก็ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ไม่ทราบเหตุใดทางการจึงกลับไปใช้วิธีโบราณที่เลิกไปแล้วตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาตั้งแต่ พ.ศ. 2451 และ 2478 ตามลำดับ (สมบูรณ์ ธรรมครองอาตม์ : 2525 : 397, 401 – ไม่ปรากฏรายละเอียดที่มาที่ไปอื่นในวารสารฯ) กลับมาใช้อีก ซึ่งปกติจะใช้ทั้งโจทก์และจำเลยพร้อมๆ กัน ใครดำ (น้ำ) นานกว่าคนนั้นชนะ แต่ถ้าดำ 36 นาที (?) แล้วยังไม่โผล่ เจ้าหน้าที่จะดึงร่างของผู้ดำขึ้นมา

กรณีที่พ่อใหญ่โสภากับพ่อใหญ่คุย เจ้าตัวจำไม่ได้ว่าดำนานกี่นาที
**********
หากปากคำของพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยูในสมัยที่เกิดกรณี "กบฏผู้มีบุญหมอลำโสภา แห่งบ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น" มีมูลความจริง มีประเด็นที่น่าตกใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และจำเป็นให้พิจารณาต่อเนื่อง 2-3 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก การบังคับขายโอนที่ดินให้แก่เจ๊กพก ซึ่งน่าจะเป็นพ่อค้าในท้องถิ่นและมีความสมพันธ์กับบ้านเมือง จนกระทั่งลูกชายได้เป็นกำนันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2537)

ประเด็นที่สอง ความเอาการเอางานของ "อาสาสมัคร" ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ครูบุญเลิศ (ครูใหญ่โรงเรียนบ้านสาวะถี) คู่ปรับของพ่อใหญ่โสภา และ

ประเด็นที่สาม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นคำถามสำคัญกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (พอๆ กับการสาบานในศาล) นั่นคือการใช้กฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยจตุสดมภ์/สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้พิจารณาคดี "กบฏ" ทั้งนี้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวถือเป็น "การพิจารณาคดีโดยการทรมาน" และ/หรือ "การพิจารณาคดีโดยการต่อสู้" อันเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง คือ "กฎหมายพิสูจน์ดำน้ำ พิสูจน์ลุยเพลิง".
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 พฤศจิกายน 2556
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8