ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(12)
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับท่านผู้หญิงวิจิตรา
(ชลทรัพย์) ซึ่งรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม จัดงานฉลองพิธีมงคลสมรสให้ที่ทำเนียบฯ
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491
ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ?
บทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ) พยายามเน้นให้เห็นความเป็น "ระบบพ่อขุน" เพื่อเป็นการตอกย้ำการปกครองแบบ "พ่อปกครองลูก" อีกหลายครั้ง โดยทิ้งท้ายไว้ในบทเกริ่นนำ "อุดมการณ์ทางการเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ไว้อีกว่า:
ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็เชื่อว่า "พ่อ" ก็สามารถใช้อำนาจเด็ดขาดหากบุตรคนใดไม่เชื่อฟัง ซึ่งการลงโทษนั้นก็เพื่อทำให้บุตรสามารถกลับตัวเป็นคนดีต่อไป ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของจอมพลสฤษดิ์ที่ให้โอวาทแก่กลุ่มอันธพาลในโอกาสที่ได้รับการปลอดปล่อยออกมาจากเรือนจำ ดังมีใจความว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้เกลียดชังท่านทั้งหลาย เพราะท่านจะเป็นอันธพาลหรือเป็นอะไร ท่านก็เป็นเพื่อนร่วมชาติร่วมประเทศของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถืออยู่เสมอว่าชาติเป็นเสมือนครอบครัวอันใหญ่ จะเป็นบุญหรือกรรมก็ตามที ข้าพเจ้าเผอิญต้องมารับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวในเวลานี้ ข้าพเจ้าให้ความรักใคร่ไมตรีทั่วถึงกันทุกคน แต่ถ้าคนในครอบครัวนี้เองทำความเดือดร้อนแก่คนส่วนใหญ่ในครอบครัว ข้าพเจ้าก็ต้องกำหราบปราบปราม การกระทำของข้าพเจ้าในการสั่งจับท่านมาคุมขัง ก็เพื่อปราบปรามให้ท่านเป็นคนดีต่อไป"
[จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, "โอวาทและคำกล่าวปิดการอบรมอันธพาลในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2503," ใน ประมวลสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2502-2504, หน้า 215]
**********
แล้วสำนักคิด "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ก็มีฐานะครอบงำแวดวงการศึกษาทางการเมืองไทยหลังกึ่งพุทธกาลมาเป็นเวลานาน โดยพิจารณาว่าต้นตอของระบอบเผด็จการและความพยายามทำลายดอกผลของการอภิวัฒน์สยาม อยู่ที่ตัวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และการปกครองโดยคณะรัฐประหารที่นำโดยทหารบก อย่างเป็นเอกเทศ และตัดความน่าจะเป็นของการประกอบกันเข้าเป็น "ระบอบ" ไปจนดูเหมือนจะสิ้นเชิง
ในหัวข้อถัดไปของบทความนี้พิจารณาว่านโยบายของจอมพลสฤษดิ์ "นำความสุข" มาสู่ประชาชน เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า จำแนกเป็นลำดับ
**********
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
ในฐานะของการเป็นพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พยายามสร้างกิจกรรมขึ้นหลายประการเพื่อรองรับกับแนวความคิดในเรื่องพ่อปกครองลูก กล่าวคือ
ประการแรก ในฐานะของพ่อขุนที่คอยช่วยเหลือลูกๆ (ประชาชน) [ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 227-228] จอมพลสฤษดิ์ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารในพ.ศ.2501 อาทิเช่น มีคำสั่งให้ลดอัตราค่ากระแสไฟฟ้าในย่านกรุงเทพฯ-ธนบุรีภายในไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาให้แต่ละครอบครัวได้รับน้ำฟรีเดือนละ 30 ปี๊บ ลดอัตราค่าโทรศัพท์ ค่ารถไฟ และค่าเล่าเรียน
นอกจากนี้ ยังออกประกาศเทศบาลยกเลิกภาษีบางประเภท ค่าธรรมเนียมทะเบียน และค่าธรรมเนียมการบริการของราชการ ครอบครัวที่ยากจนก็ได้รับบริการฟรีในโรงพยาบาลของรัฐ ส่งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์และนักเรียนพยาบาลให้ออกไปเยี่ยมเยือนครอบครัวที่ยากจนเพื่อช่วยเหลือในการทำคลอดและแนะนำปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ รวมไปถึงแนะนำให้เทศบาลแจกจ่ายตำราเรียนฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่ยากจนตามโรงเรียนต่างๆ ภายในเขตเทศบาล จำนวน 30 แห่ง
จำกัดวันทำงานของข้าราชการพลเรือนให้เหลือเพียง 5 วัน ให้จ่ายเงินพิเศษแก่ผู้ที่มีบุตรมาก และให้ตั้งกองทุนสงเคราะห์สำหรับข้าราชการพลเรือนระดับล่างได้กู้ยืม ฯลฯ
**********
บทความดังกล่าวยังลงรายละเอียดแม้กระทั่งการออก พระราชกฤษฎีกาให้ลดราคากาแฟขายปลีกจากราคาแก้วละ 70 สตางค์ เหลือ 50 สตางค์ ทั้งให้ข้อสรุปว่าเรื่องการลดราคากาแฟนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเอาใจใส่ของ จอมพลสฤษดิ์ต่อความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนภายในประเทศ
**********
ประการที่สอง ในฐานะของพ่อขุนที่ช่วยรักษาความเรียบร้อยภายในครอบครัว (ประเทศ) [ดูรายละเอียดได้ใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 229-234] จอมพลสฤษดิ์เชื่อว่า ความสะอาดและความเรียบร้อยของหมู่บ้านหรือเมืองย่อมหมายถึงคนในเมืองนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองและทันสมัย ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ต้องการที่จะสร้างบรรยากาศทางสังคมอันจะนำมาซึ่งความเป็นผู้นำของตน ทันทีหลังการรัฐประหารในพ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21และฉบับที่ 43 ซึ่งมีใจความว่า อันธพาลเป็นการบ่อนทำลายสังคมและประชาชน การขจัดพวกอันธพาลออกไปให้หมดสิ้นเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยส่งเสริมความผาสุกของราษฎร โดยมีการจับกุม สอบสวน กักขัง และควบคุมตัวอันธพาลไปไว้ที่สถานฝึกอบรม
นอกจากนี้ในทัศนะของจอมพลสฤษดิ์ยังเห็นว่า ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถใช้ชีวิตของตนอย่างเรียบร้อย "ตามประเพณีนิยม" ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาภายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการไว้ผมยาว การนุ่งกางเกงรัดรูป การสวมเสื้อผ้าสีฉูดฉาด การเล่นดนตรีแบบร็อคแอนด์โรล การเต้นรำแบบทวิสต์ การเต้นรำประจำสัปดาห์ที่สวนลุมพินี การเที่ยวตามสถานเริงรมย์ ล้วนถูกปฏิเสธจากรัฐบาลและกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสายตาของรัฐบาล ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีงามสำหรับเยาวชน รวมไปถึงแหล่งอบายมุขและซ่องโสเภณีต่างถูกกวดขันอย่างหนัก เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์เห็นว่าเป็นแหล่งส่งเสริมอาชญากรรม โดยที่จอมพลสฤษดิ์สั่งให้จับกุมโสเภณีและส่งไปฝึกอบรมยังสถานฝึกอาชีพตามที่ต่างๆ
**********
จากบทความข้างต้น และในรายละเอียดอีกหลายหัวข้อ สะท้อนให้เห็นว่า หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ที่ใช้เวลายกร่างนานที่สุดในโลก) ในปี พ.ศ. 2511 ซึ่งตามมาด้วยการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 อันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาอันยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2516 นั้น เหตุใดจึงมีผู้พยายาม ยกอ้างสถานการณ์ในยุคการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าเป็นสภาวะบ้านเมืองที่พึงประสงค์ นับจากการสิ้นสุดการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทว่าในท่ามกลางพัฒนาการของสังคมไทย และสังคมนานาชาติ ที่ประชาชาติส่วนใหญ่เรียกร้องระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในขอบเขตทั่วโลก สภาวการณ์ "น้ำลด ตอผุด" ที่แสดงให้เห็น "ผลเสีย" ของระบอบเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งขึ้นทุกที.
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 4-10 เมษายน 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน