ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(15)
ภาพนักโทษการเมืองในเรือนจำลาดยาว
สมัยการกวาดล้างของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในภาพแถวกลาง คนที่สองจากซ้ายคือทองใบ
ทองเปาด์ ส่วนคนที่สามจากซ้ายซึ่งนั่งติดกับทองใบ คือ จิตร ภูมิศักดิ์ (จาก http://bit.ly/jit_phumisak)
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด
เนื้อหาตอนต่อไปในบทความ "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา ในเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ( http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ) ว่าด้วย "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่ใช้อำนาจเด็ดขาด" นั้น ดูเหมือนจะเป็นอีกครั้งที่ตอบสนองความเรียกร้องต้องการ "บ้านเมืองสงบ (ใต้แอกเผด็จการ)" ที่ดังขึ้นเป็นระยะ ที่นั่นบ้างที่โน่นบ้าง หลังการรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา แล้วมีเรียกขานรับมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังการเคลื่อนไหว 14 ตุลาที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งตามมาด้วยบรรยากาศในช่วง "ประชาธิปไตยเบ่งบาน"
หัวข้อนี้ขึ้นต้นย่อหน้าแรกว่า:
นอกจากนี้แล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในฐานะพ่อขุนที่เปรียบประดุจหัวหน้าครอบครัวของชาติ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และเพื่อมิให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จอมพลสฤษดิ์จึงใช้อำนาจเด็ดขาดจากมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งมีใจความสรุปว่า "ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ" [ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502, ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) 2502, เล่ม 76 ตอนที่ 17] ซึ่งมาตรา 17 อาจมองได้ว่าเป็นฐานแห่งอำนาจเผด็จการ [ทักษ์ เฉลิมเตียรณให้ความเห็นว่า การใช้มาตรา 17 หรือที่คนไทยรู้จักกันดีว่า "ม.17" นั้น ตามคติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเรื่องการบริหารด้านการเมือง มาตรานี้เป็นหลักอันถูกต้องตามกฎหมายแบบใหม่ของการเป็นผู้นำแบบพ่อขุน จอมพลสฤษดิ์ในฐานะเป็นหัวหน้าของคณะปฏิวัติ ก็เป็นหัวหน้าครอบครัวของชาติและต้องสามารถที่จะทำให้เจตนารมณ์ของตนใช้บังคับได้]นั่นคือ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม บทความของ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งถือกำเนิดขึ้นและดำเนินการโดยรัฐสภาของไทย หรือกล่าวได้ว่าภายใต้การกำกับดูแลและดำเนินงานด้วย "อุดมการณ์ประชาธิปไตย" กลับมีข้อเขียนที่มีลักษณะ "ออกตัว/แก้ต่าง" ให้แก่บุคคลหรือคณะบุคคลที่มีบทบาทไปในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย
**********
ลักษณะความเป็นผู้นำทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ซึ่งเน้นหนักในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองนั้น ทำให้จอมพลสฤษดิ์ต้องใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดเพื่อขจัด "พวกนอกรีต" และโดยส่วนใหญ่แล้วนโยบายและการกระทำอันเด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ก็ใช้ปราบปรามได้จริง และทำให้ "สิ่งนอกรีตนอกรอย" ตามที่กล่าวหาหลายเรื่องถูกปราบปรามให้ราบคาบไป ดังเช่น การลงโทษประหารชีวิตชาวจีนที่ลอบวางเพลิง การลงโทษประหารชีวิตนายศิลา วงศ์สิน ซึ่งแสดงตนเป็นผู้นำกึ่งการเมืองกึ่งศาสนา การกำจัดผู้กระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์หรือการกำจัดผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างไปจากรัฐบาลหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ ประวัติศาสตร์และสังคมไทย ซึ่งส่งผลให้ปัญญาชน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ทนายความ นักการเมือง กรรมกร พ่อค้าชาวจีน พระสงฆ์ ถูกปราบปราบด้วยวิธีการต่างๆ
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บุคคลต่าง ๆ ในสังคมซึ่งถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลจะถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็วและถูกจับกุมทันทีด้วยวิธีการประหัตประหารศัตรูทางการเมือง จึงทำให้หลายคนหนีเข้าป่าและเข้าร่วมกับขบวนการผู้ก่อการร้าย บ้างก็ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในขณะที่บ้างก็แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนับพัน ๆ คนทั่วทั้งประเทศ มีประมาณสามร้อยคนถูกจำคุกอยู่ที่ลาดยาว ผู้ที่ถูกกักขังอยู่ที่เรือนจำลาดยาวประกอบด้วยนักการเมือง อดีตรัฐมนตรี ผู้นำกรรมกร นักหนังสือพิมพ์ และแม้กระทั่งพวกชาวเขา ผู้ที่ถูกกักขังส่วนใหญ่เป็นพวกที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มีหลายคนเป็นนักเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์และสังคมไทย ส่วนคนอื่น ๆ ก็จะเข้าร่วมอยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดนของนายครอง จันดาวงศ์ [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 249-255]
พระราชบัญญัติต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้แรงสนับสนุนมากขึ้นจากประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 [ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 25-26] ซึ่งคำประกาศนี้ได้ให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนยิ่งขึ้นในอันที่จะควบคุมผู้ต้องหาไว้ได้ตลอดระยะเวลาที่ทำการสอบสวน โดยไม่คำนึงถึงกำหนดเวลาการควบคุมผู้ต้องหาดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย คำสั่งข้อนี้ยังใช้ได้กับคดีต่าง ๆ ที่มีมาก่อนคำประกาศนี้ และตามหลักเกณฑ์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมบุคคลหลายคนในข้อหาละเมิดกฎหมายพ.ศ. 2495 และกักขังไว้เป็นระยะเวลานาน โดยมิได้ส่งฟ้องศาลอย่างเป็นทางการ นับว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยแท้ และยิ่งกว่านั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 15 [ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ใน ประมวลประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ใช้เป็นกฎหมาย พร้อมทั้งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2502, หน้า 31] ยังได้กำหนดไว้ว่า คดีต่าง ๆ ที่มีข้อหาว่ากระทำความผิดขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495การพิจารณาพิพากษาให้อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึก และเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องคุมขังยื่นคดีต่อศาลแพ่งได้ จอมพลสฤษดิ์จึงมีคำสั่งให้แก้ไขพระราชบัญญัติต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฉบับ พ.ศ.2495 ขึ้นเสียใหม่ในพ.ศ.2505 เพื่อทำให้เข้ากันได้กับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 มากยิ่งขึ้น ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ผู้ต้องคุมขังสามารถยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีอำนาจตัดสินขั้นสุดท้ายได้ และด้วยอำนาจยุติธรรมเป็นพิเศษข้อนี้เอง จอมพลสฤษดิ์จึงสามารถที่จะใช้อำนาจเด็ดขาดได้อย่างเต็มที่ในการจัดการเรื่องความแตกแยกทางการเมือง ฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า ในขณะที่เราตั้งข้อสังเกตว่าความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ตั้งอยู่บนคตินิยมโบราณในเรื่องการปกครองแบบพ่อขุนนั้น ภายใต้ระบบการปฏิวัติ (ดังเช่นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต) การปกครองแบบพ่อขุนจึงมีลักษณะเป็นอำนาจเด็ดขาด [ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, หน้า 255-256]
**********
แต่แล้ว แทนที่พวก "นอกรีต" ในสายตาของผู้เผด็จการอย่างสฤษดิ์ และ/หรือ อีกหลายคนในเส้นทางการเมืองการปกครองยุคใกล้ของไทย จะ "หมดไป" ยิ่งเวลาผ่านไปกลับยิ่งจะพัฒนาไปเป็น "บางอย่าง" ที่ "ฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด".(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 25 เมษายน-1 พฤษภาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน