Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (39)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(8)

บันทึกสุดท้ายของ ศุภชัย ศรีสติ หนึ่งในเหยื่อการประหาชีวิตด้วยมาตรา 17 หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล

จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (ต่อ)
มาตรา 17: อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหลังการยึดอำนาจ


ในบทความ "พายเรือในอ่าง" โลกวันนี้ ฉบับวันสุข ฉบับที่ 503 ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้เขียนได้นำ ย่อหน้าแรกซึ่งเปรียบเสมือน "ความนำ" หรือ "คำปรารภ" ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มานำเสนอไว้แล้วนั้น เมื่อพิจารณาในบริบททางนิติรัฐศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นการให้อำนาจชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นครั้งแรกแก่ "ผู้นำในการก่อรัฐประหาร" หรือที่เรียกตัวเองว่า "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" ไว้ใน มาตรา 17
มาตรา ๑๗ ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ
[ต่อมาใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารและกรณีสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลามคม 2519 มีบทบัญญัติในลักษณะเดีรยวกันไว้ใน มาตรา 21
มาตรา ๒๑ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชนทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทราบ]
หมายเหตุ: ว่าด้วยที่มาของรัฐธรรมนูญสยาม/ไทย

โดยเหตุที่ในห้วงเวลากว่า 5 ทศวรรษ หลังการเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล มักมีการกล่าวถึงระบอบการปกครองของไทยว่าเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทย" หรือ "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" นั้น มีผู้จำแนกกลุ่มรัฐธรรมนูญของสยาม/ไทย นับจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ไว้เป็น 3 กลุ่ม แม้จะอ้างว่าเป็นคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทว่ามี "ธาตุแท้" ที่ต่างกันอย่างชัดเจนดังนี้ (http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

สภาที่มาจากการเลือกตั้ง: สภานิติบัญญัติในกลุ่มนี้จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (ซึ่งสภาผู้แทนมีการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนสภาสูงซึ่งเรียกว่าพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม) และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ที่ทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง)

สภาที่มาจากการสรรหา: สภานิติบัญญัติที่เกิดมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่สมาชิกผู้มาจากการสรรหานั้นมีอำนาจมากพอในการจำกัดอำนาจสมาชิกที่มีมาจาการเลือกตั้งได้ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สภาที่มาจากการแต่งตั้ง: ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือเกือบจะเป็นเช่นนั้น ไดเแก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
**********
นอกจากนั้น สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือที่ใช้ว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสนอให้คณะราษฎรใช้ว่า "ชั่วคราว" และให้ยกร่างขึ้นมาพิจารณาใหม่เพื่อความเห็นพ้องต้องกัน มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นกฎหมายสูงสุดของระบอบการปกครองใหม่ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากที่ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ซึ่งก่อรูปและสำเร็จในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และยกร่างไว้โดย "คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน" หรือ "คณะราษฎร"

สำหรับการใช้รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับแรก (คือฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และ 10 ธันวาคม 2475) มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกันโดย [http://th.wikipedia.org/wiki/การปฏิวัติสยาม_พ.ศ._2475]

ผลที่ตามมาในทันทีหลังจากการปฏิวัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎรได้เริ่มจัดการเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม พระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราวมีการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อเวลา 5.00 น. ซึ่งเป็นเอกสารร่างเขียนขึ้นล่วงหน้าไว้แล้วโดยปรีดี ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม แม้ว่าจะยังเป็นเพียงฉบับชั่วคราวอยู่ก็ตาม ข้อความในรัฐธรรมนูญเริ่มต้นมาตรา 1 ความว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยยกเลิกพระราชอำนาจที่มีมาแต่โบราณ อาทิ พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย การพระราชทานอภัยโทษ และพระราชสิทธิในการยืนยันผู้สืบราชสมบัติและรัชทายาท หรือจะกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจำกัดอำนาจทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ โดยยังมิได้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไปเท่านั้น รัฐธรรมนูญยังได้จัดตั้งคณะกรรมการราษฎรเป็นฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ได้มาจากการแต่งตั้ง 70 คน

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 มีนาคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

เพิ่มเติมคำบรรยายภาพ: "อายุของข้าพเจ้าครบวันเกิดปีที่ 34 ในวันนี้ และอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ วาระสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว แต่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน" - บันทึกสุดท้ายของ ศุภชัย ศรีสติ หนึ่งในเหยื่อการประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2502
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8