Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (36)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(5)

บรรยายภาพ: จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2 ครั้ง หากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งเดียว (พ.ศ. 2502-2506)

20 ตุลาคม พ.ศ. 2501: "ปฏิวัติ" หรือ "รัฐประหาร" (ต่อ)

สำหรับการรัฐประหาร 3 ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในท่ามกลางกระแสที่ฝ่ายทหารประกาศยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมีมีการยึดอำนาจอีกแล้ว จนถึงกับเกิดวาทกรรม "เสียสัตย์เพื่อชาติ" การรัฐประหาร 3 ครั้งดังกล่าวนี้ นับว่ามีนัยอย่างสำคัญต่อระบอบการเมืองการปกครองไทยสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเคลือ่นไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยนิสินักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา
10. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่เป็นที่รู้กันว่าผู้มีอำนาจอย่างสำคัญคือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร โดยได้รับพระบรมราชโองการให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกล่าวว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ทั้งที่เคยพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอันมีที่มาจากการรัฐประหารแล้ว พล.อ. สุจินดา ได้แต่งตั้ง พล.อ. อิสรพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาตน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จนเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านจากหลายหลุ่มการเมือง อาทิ ร.ต. (เรืออากาศตรี) ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วง และพล.ต. จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้นำการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก เนื่องจากเป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ รสช. จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ หรือพฤษภาทมิฬ ขึ้นระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2535

นับเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของไทยจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแทบจะทั่วไปว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดนับจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

11. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นรัฐประหารในรอบ 15 ปี (ที่หลายฝ่ายทั้งในประเทศและนานาชาติเห็นว่าการเมืองไทยน่าจะเข้าสุดภาวะนิ่งแล้ว) เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในเดือนตุลาคม หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีกำหนดจัดในเดือนเมษายนถูกสั่งให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมานับแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐประหารยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบรัฐสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ คณะรัฐประหารครั้งนี้ เชิญ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กราบบังคมทูลลาออกมาดำรงนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ใช้สมาชิกคณะรัฐประหาร ซึ่งเคยใช้รูปแบบนี้มาแล้วในคราวการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ได้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และการรัฐประหาร 20 ตุลาคมพ.ศ. 2520 ที่ได้ พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

12. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีแกนหลักที่พรรคเพื่อไทย) นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ หรือที่เรียกกันว่า "พ.ร.บ. เหมาเข่ง" บ้างหรือ "พ.ร.บ. สุดซอย" บ้าง ทั้งมีการวิเคราะห์กันทั้งสื่อไทยและเทศว่ามีเป้าหมายที่จะกำจัดอิทธิพลของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร จากการเมืองของไทยให้ได้โดยสิ้นเชิง

เส้นทางการยึดอำนาจครั้งล่าสุดนี้ มีพัฒนาการจากการเคลื่อนไหวโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีผู้นำคนสำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์ (ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) และเกิดการปะทะกันกับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลชุดก่อนตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิดควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
จอมพลสฤษดิ์กับการใช้อำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติ (?)

หลังจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ (?) ที่ทำรัฐประหารทั้งสองครั้งคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และคราวนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ตัดสินใจร่วมกับพลเอกถนอม กิตติขจร (ได้รับพระราชทานยศเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเอกถนอมเอง และเพื่อให้การใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง (เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 นับจากการอภิวัฒน์สยาม พุทธศักราช 2475) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502

อนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 คณะปฏิวัติได้มีประกาศคณะปฏิวัติออกมาทั้งหมด 57 ฉบับ มีสภานิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง มีการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียงสั้น ๆ 20 มาตราเท่านั้น (นับเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐบาลทหารในการปกครองประเทศยาวนานถึง 10 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลานานที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง) ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพียง 14 คนเท่านั้น โดยไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และในวันเดียวกันนั้น ถือเป็นวันยุติบทบาทและสิ้นสุดสถานภาพของ "คณะปฏิวัติ (?)"

และมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองนี้เอง คือ "ดาบอาญาสิทธิ์" ที่ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีชนิดครอบจักรวาล.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 14-20 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8