ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(6)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม
10 ธันวาคม 2475 ที่เจตนารมณ์ในคราวประกาศใช้จะให้เป็นฉบับถาวร (เพียงฉบับเดียว?)
ก่อนจะนำเสนอมาตรา 17 แห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ที่ยกร่างและประกาศใช้โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารตัวเจริงเสียงจริงทั้งสองครั้งในเวลาเพียงหนึ่งปี ขออนุญาตนำย่อหน้าแรกซึ่งเปรียบเสมือน "ความนำ" หรือ "คำปรารภ" มาเพื่อเป็นการ "ฟื้นความหลัง" ดังต่อไปนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
โดยที่หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เสียนั้น ก็โดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม และให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อย ยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญเช่นว่านี้ สมควรจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ จัดร่างขึ้นประกาศใช้ต่อไป แต่ในระหว่างระยะเวลาก่อนที่จะได้มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อใช้ไปพลางก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย และเพื่อให้การเป็นไปตามที่หัวหน้าคณะปฏิวัตินำความกราบบังคมทูล จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้บทบัญญัติต่อไปนี้เป็นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น
**********
จะเห็นว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารใช้อ้างในการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง แล้วตามมาด้วยการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร คือ ความ "เหมาะสม" และความ "เรียบร้อย" และตามมาด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยแบบวิธี "พิเศษ" ซึ่งจะได้จำแนกไว้ในตอนต่อไป**********
หมายเหตุ: ว่าด้วยระบอบการปกครองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์อนึ่ง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ (สมัยใหม่) โดยเฉพาะในประเทศไทย นั่นคือในเวลาร่วม 83 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิรย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าใจนิยามระบอบการปกครอง ที่มีลักษณะสากลยิ่งกว่าวาทกรรม "แบบไทยๆ" อันก่อให้เกิดความสับสนไขว้เขวถึงระบอบการปกคีรอง รูปแบบรัฐ และที่มาและการใช้อำนาจอธิปไตยพอเป็นสังเขป
หลังการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการที่พระมหากษัตริย์นับจากนั้นเป็นต้มมามิได้ทรงมีและใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเช่นประเพณีการปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไปนั้น [ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวรที่ยกร่างและผ่านมติประกาศใช้ครั้งเดียวไปเลย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475) นั้นเอง มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฯใช้คำว่า พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภา ฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนอง พระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475 - https://bit.ly/3mlRvxq)] ในทางรัฐศาสตร์พิจารณาเนื้อหาของระบอบการปกครองนี้เป็นสองนัย โดยมีคำใช้ต่างกัน คือ
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) [https://bit.ly/2WkmAac] เป็นรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐโดยไม่ทรงมีบทบาททางการเมืองและทรงอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญไม่ว่าเป็นหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์อาจมีพระราชอำนาจโดยพระบารมีและรัฐบาลอาจดำเนินการในพระนาม แต่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงกำหนดนโยบายสาธารณะหรือเลือกผู้นำทางการเมือง เวอร์นอน บอกดานอร์ (Vernon Bogdanor) นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษ นิยามว่า ราชาภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ "องค์อธิปัตย์ที่ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง" (a sovereign who reigns but does not rule) การปกครองรูปแบบนี้ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงควบคุมการตัดสินใจทางการเมืองโดยไม่ทรงถูกรัฐธรรมนูญควบคุมเอาไว้
รายชื่อ 24 ประเทศที่ปัจจุบันปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (ในวงเล็บคือรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ล่าสุดเป็นปีคริสต์ศักราช) ตามลำดับพยัญชนะในภาษาอังกฤษ
อันดอร์รา (1993), บาห์เรน (2002), เบลเยียม (1831), ภูฏาน (2007), กัมพูชา (1993), เดนมาร์ก (1953), ญี่ปุ่น (1946), จอร์แดน (1952), คูเวต (1962), เลโซโท (1993), ลิกเตนสไตน์ (1862), ลักเซมเบิร์ก (1868), มาเลเซีย (1957), โมนาโก (1911), โมร็อกโก (1962), เนเธอร์แลนด์ (1815), นอร์เวย์ (1814), สเปน (1978), สวาซิแลนด์ (1968), สวีเดน (1974), ไทย (2014), ตองกา (1970), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (1971) และ สหราชอาณาจักร (1688)
และชื่อเต็มของอีก 15 รัฐ/ประเทศต่อ ที่มิได้ขึ้นต้นด้วยราชอาณาจักร แต่เป็นราชาธิปไตยโดยพฤตินัย ประกอบด้วย
แอนติกาและบาร์บูดา (1981), ออสเตรเลีย (1901), บาฮามาส (1973), บาร์เบโดส (1966), เบลีซ (1981), แคนาดา (1867), เกรเนดา (1974), จาเมกา (1962), นิวซีแลนด์ (1907), ปาปัวนิวกินี (1975), เซนต์คิตส์และเนวิส (1983), เซนต์ลูเซีย (1979), เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (1979), หมู่เกาะโซโลมอน (1978) และ ตูวาลู (1978)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 21-27 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน