ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(4)
จอมพลสฤษดิ์ เจ้าของวาทกรรมอันลือลั่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว"
การรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั่วเวลาเพียงแค่ปีเศษ นับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น แต่เป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้ว่าจะเป็นเสมือนการยึดอำนาจของรัฐบาลที่ตั้งมาเองกับมือก็ตาม ทั้งนี้เพราะการรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลให้ระบอบการปกครองของไทยก้าวสู่เข้าสู่รูปแบบ เผด็จการอำนาจนิยม (authoritarianism) อย่างเต็มตัว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ "ระบอบเผด็จการเต็มใบ" เป็นเวลานานถึง 15 ปี ที่สำคัญทำให้สถาบันกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพบก มีบทบาทครอบงำอย่างสำคัญต่อการเมืองการปกครองไทยในระยะเวลาต่อมากว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งนับว่ายาวนานกว่าห้วงเวลาในความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือ "ระบอบรัฐธรรมนูญ" อย่างจริงจัง ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 15 ปี คือ นับจากปี พ.ศ. 2475 ถึงปี พ.ศ. 2490
มีเรื่องแปลกแต่จริงอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความไข้วเขวในทางการเมืองโดยมีที่มาจากการ "ใช้คำ" ของคณะผู้ทำรัฐประหารครั้งนี้คือ จอมพลสฤษดิ์เลือกที่จะใช้คำว่า "คณะปฏิวัติ" แทนที่จะใช้คำว่า "คณะรัฐประหาร" หรือ "คณะทหาร" หรือจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใช้ว่า "คณะปฏิรูปฯ"
โดยรากศัพท์และในทางรัฐศาสตร์นั้น คำว่า ปฏิวัติ ในภาษาอังกฤษ revolution มีรากศัพท์จากภาษาละตินคือ revolutio และ revolvere แปลว่า หมุนกลับ (to turn around) คำนี้มีใช้ทั่วไปในทางสังคมศาสตร์ แต่ก็มีใช้ในทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน เช่น การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สารานุกรมเมอร์เรียม-เวบสเตอร์ (Merriam-Webster Encyclopedia) อธิบายว่า ปฏิวัติทางการเมืองคือการเปลี่ยนแปลงการตัดรูปแบบของการเมืองการปกครองในระดับฐานราก (fundamentally) สารานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Briyanica Concise Encyclopedia) อธิบายว่า ปฏิวัติในทางสังคมศาสตร์ และการเมือง คือการกระทำความรุนแรงต่อโครงสร้าง ระบบ สถาบัน ฯลฯ ทางสังคมการเมือง ปฏิวัติทางสังคมการเมืองจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานต่าง ๆ ที่สังคมการเมืองเป็นอยู่เดิม เพิ่มจัดตั้ง หรือสถานามาตรฐานของสังคมการเมืองแบบใหม่ให้เกิดขึ้น
สำหรับในสังคมการเมืองไทยเกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวคือ การปฏิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monachy) กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ส่วนการล้มล้างรัฐบาลในครั้งต่อมานั้นเป็นเพียงการรัฐประหาร เพราะไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผู้นำของรัฐบาล หรือเป็นการยืดอายุของรัฐบาลอุปถัมป์อำนาจนิยม (Suzerain-Authoritarianism) ของสังคมไทยเพียงเท่านั้น
(ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/ปฏิวัติ)
สำหรับคำว่า รัฐประหาร มาจากภาษาฝรั่งเศสฝรั่งเศส coup d'?tat (กูเดตา) ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d'?tat = on state) โดยในสารานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่าเป็นการยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (stroke of state) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) มักจะเกิดกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีในระดับต่ำ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนพจนานุกรมศัพท์ทางการทหารของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Companion to Military History) อธิบายว่า เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะปกครองด้วยกำลัง โดยมักเกิดจากกองทัพ พจนานุกรมศัพท์ทางทหารอเมริกันของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of the US Military) นิยามว่า เป็นการเข้ามาเถลิงอำนาจในรัฐบาลอย่างรวดเร็วรุนแรงและผิดกฎหมาย พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) กล่าวว่า เป็นการยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหันด้วยกำลังที่ผิดกฎหมายมักกระทำการโดยกองทัพหรือส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยมักจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เห็นชอบของประชาชน หรือไม่ก็มักเป็นปัญหากับประชาชนบางส่วน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง หรือกลุ่มทางการเมือง
โดยสรุป รัฐประหารหมายถึงการเปลี่ยนแปลงประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลโดยเฉียบพลันด้วยกำลัง ความรุนแรง และผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง (regime)
คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ จึงมักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิวัติ" หรือ "คณะปฏิรูป" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก
(ขอบคุณ http://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหาร)
เมื่อพิจารณาจากนิยมของคำว่ารัฐประหารข้างต้น ประเทศไทยมีการรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง คือ
1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
(ยังมีต่อ)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 7-13 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน