Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (34)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(3)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารสองครั้ง (แต่กลับเรียกตนเองว่าหัวหน้าคณะปฏิวัติ จนใช้มาผิดๆกันจนทุกวันนี้) คือ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501

พลโท ถนอม กิตติขจร: รัฐบาลขัดตาทัพ

เส้นทางการก้าวเข้าสู่วิถีทางทางการเมืองของจอมพลถนอม กิติขจร เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ครองยศพลตรี ในตำแหน่งรองแม่ทัพกองทัพที่ 1 ด้วยการได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ในปี พ.ศ. 2494 และรับพระราชทานยศพลโท พร้อมกับดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 7) โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2498 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 8) อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากเกิดความขัดแย้งในทางการเมือง โดยเฉพาะในเหตุการณ์การเลือกตั้งสกปรกเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 นำไปสู่เหตุการณ์ที่คณะรัฐมนตรีสายทหารบก ที่ได้รับตำแหน่งต่างๆ ทั้งทางทหารและทางการเมืองจากการเข้าร่วมทำรัฐประหารกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรีสิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ พลโทถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลโทประภาส จารุเสถียร และพลอากาศโทเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2508 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา โดยพลโทถนอม กิตติขจร และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ประจำการอีก 40 กว่านาย ได้ลาออกตามไปด้วย

ต่อมาใน วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหาร โดยการนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้นำคณะทหารจำนวนหนึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยแต่งตั้งให้นายพจน์ สารสิน มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังได้กล่าวมาแล้ว และได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 คณะรัฐมนตรี จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลังการเลือกตั้งพรรคสหภูมิที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้การสนับสนุน แม้จะมี ส.ส. ได้รับเลือกเข้ามามากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 44 เสียง แต่ยังไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับปรารถนาที่จะรวมสมาชิกทั้ง 2 ประเภทเข้าด้วยกัน จึงได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น คือ พรรคชาติสังคม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นรองหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคชาติสังคมมี ส.ส. ในสังกัด 202 คน มาจากพรรคสหภูมิที่ยุบไป 44 คน รวมกับ ส.ส. ประเภทที่ 1 จากพรรคต่าง ๆ และ ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่มาเข้าพรรคด้วย เมื่อมีจำนวนเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง พรรคชาติสังคมจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นหัวหน้ารัฐประหาร ได้ประกาศว่าจะไม่ยอมรับตำแหน่งทางการเมือง ขอคุมกำลังทางทหารด้านเดียว ประกอบกับมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 10 ของประเทศไทย คือ พลโทถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร

พลโทถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 การขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยแรกของพลโทถนอม กิตติขจร ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร เพราะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดจากเกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น ซึ่งที่เป็นหลักคือ พรรคประชาธิปัตย์ กับ ส.ส. บางคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ อีกต่อไปแล้ว ซึ่งบางส่วนเป็นอดีต ส.ส. พรรคเสรีมนังคศิลา (มีหัวหน้าพรรค คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ มีรองหัวหน้าพรรคได้แก่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พลตรีประภาส จารุเสถียร เป็นต้น มีที่ทำการพรรคอยู่ที่บ้านมนังคศิลา อันเป็นที่มาของชื่อพรรค) ที่เคยให้การสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในอดีต

ทั้งนี้ สำหรับสมาชิกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่มีความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ (เป็นพรรคการเมืองเกิดขึ้นหลังการสลายตัวของขบวนการเสรีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายทองเปลว ชลภูมิ เป็นเลขาธิการพรรค สมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ในขบวนการเสรีไทยและบุคคลในคณะราษฎรที่สนับสนุน นายปรีดี พนมยงค์) และพรรคสหชีพ (มีแนวทางการก่อตั้งพรรคและอุดมการณ์คล้ายคลึงกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญ คือ เป็นสังคมนิยม แต่มิได้ดำเนินการเกี่ยวข้องกัน พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าพรรค และนายเดือน บุนนาค เป็นเลขาธิการพรรค สมาชิกและผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสาน ที่ให้การสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์) ทั้งสองพรรคถูกยุบพรรคหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 ตามคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2492

นอกจากนั้น สถานภาพของรัฐบาลพลโทถนอมก็ไม่มั่นคงเนื่องจากปัญหาภายในในพรรคฯ ที่เกิดจากการยุบรวมพรรคสหภูมิมาอยู่กับพรรคชาติสังคม แม้จะมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี แต่สถานการณ์ความวุ่นวายก็ยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว ครั้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เดินทางกลับจากการรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกาในช่วงเช้าวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 1 มีใจความว่าช
"ด้วยคณะปฏิวัติ ซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศในนามของปวงชนชาวไทย ตั้งแต่เวลา ๒๑ นาฬิกา วันที่ ๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ นี้เป็นต้นไป และสถานการณ์ทั้งหลายตกอยู่ภายใต้ความควบคุมของคณะปฏิวัติโดยทั่วไปแล้ว ขอให้ประชาชนพลเมืองประกอบกิจการงานอาชีพตามปรกติ ให้ข้าราชการทั้งหลายปฏิบัติงานให้หน้าที่ตามเคย และให้ทุกคนตั้งอยู่ให้ความสงบ มิพึงกระทำการใด ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในประเทศ ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังทหารนอกจากด้วยคำสั่งของหัวหน้าปฏิวัติ และให้ผู้บังคับบัญชากำลังหน่วยต่าง ๆ ของประเทศฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติแต่ผู้เดียว"
จากนั้นจึงตามมาด้วยประกาศฉบับต่างๆ ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง ได้แก่ พรรคการเมือง เป็นต้น และทำการรัฐประหาร (รัฐบาลที่ตนเองสนับสนุนมาตั้งแต่แรก) โดยมีพลโทถนอมดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ให้พลโทถนอมเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงเป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 1

การรัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด และพลเอกถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่เพียง 9 เดือน 20 วัน.
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 31 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8