Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (33)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(2)

คณะรัฐมนตรี นายพจน์ สารสิน (แถวหน้า ยืนกลาง) ขวามือคือ พลโทถนอม กิตติขจร ซ้ายมือคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ส่วนคนยืนแถวที่สามด้านหลังคือ พลตรีประภาส จารุเสถียร ซึ่งต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 และได้รับพระราชทานยศเป็นพลโท

เส้นทางสู่อำนาจเด็ดขาด (ต่อ)

ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว

เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการจะรักษาอำนาจต่อไป จึงทำให้มีทั้งนายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนลาออก บางส่วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วยอีกต่อไป ต่างก็พากันไปร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเป้าหมายคือให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลงจากอำนาจ

ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"

จนเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่ยังไม่ทันที่ดำเนินการใดๆ

ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่ง ในคืนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้สิ้นสุดอย่างสิ้นเชิงนับแต่นั้น

(ขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/สฤษดิ์_ธนะรัชต์)

รัฐบาลพลเรือนพจน์ สารสิน

หลังการยึดอำนาจของคณะทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารได้ล้มสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจะจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยไปเชิญ นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500

นายพจน์ สารสิน (เริ่มบทบาททางการเมืองด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี พ.ศ. 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2491 และต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ภายหลังได้ลาออกเนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋แห่งเวียดนามใต้) ซึ่งลาพักงานจากตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) หรือ Southeast Asia Treaty Organization (SEATO) และจัดตั้งโดยสหรัฐอเมริการซึ่งในเวลานั้น หลังจากเป็นมหาอำนาจหลักที่ชนะสงครามในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในภูมิภาคสรภูมิเอเชียแปซิฟิก เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยรู้กันทั่วไปว่าจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราววันเดียวกันกับที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้รัฐบาลเลย มีรัฐมนตรีจำนวน 20 คน โดยที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกตำแหน่งหนึ่ง

อีก 3 วันต่อมานายกรัฐมนตรีก็นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบาย เป็นการแถลงนโยบายที่เรียบง่าย นายกรัฐมนตรีกล่าวไปหลายอย่าง แต่ที่สำคัญก็คือการจัดให้มีการเลือกตั้ง
"รัฐบาลนี้จะจัดให้การเลือกตั้งที่จะต้องกระทำภายใน 90 วันตามประกาศพระบรมราชโองการ เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2500 เป็นไปตามกฎหมายโดยสุจริต เที่ยงธรรม จึงขอแถลงยืนยันถึงเจตจำนงข้อนี้ให้ปรากฏเสมือนเป็นคำสัตย์ปฏิญาณให้ไว้ในสภาผู้แทนราษฎรนี้ด้วย"
รัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งคือ รัฐมนตรีมหาดไทย พลตรีประภาส จารุเสถียร

ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 นั้นนายกรัฐมนตรีพจน์ สารสิน ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย รัฐมนตรีมหาดไทยก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิ กับนายสงวน จันทรสาขา น้องชายร่วมมารดากับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นเลขาธิการพรรคสหภูมิและเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงเลือกตั้งด้วย

ส่วนพรรคฝ่ายค้านก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคสหภูมิ

การเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 นี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 40.10 จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิมากที่สุดคือจังหวัดระนอง และจังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุดคือจังหวัดอุบลราชธานี

ผลของการเลือกตั้งครั้งนั้น ได้ผู้ชนะเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรกระจายกันออกไปไม่มีพรรคใดครองเสียงได้โดยเด็ดขาด โดยพรรคสหภูมิได้ที่นั่งมากเป็นลำดับหนึ่งได้ 44 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งลำดับรองลงมาได้ 39 ที่นั่ง และมี ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคอีก 59 คน ที่เหลืออีก 18 ที่นั่ง แบ่งไปตามพรรคเล็ก ๆ อีก 6 พรรค (เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 9; 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 รวมสมาชิกทั้งสิ้น 283 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบประเภทที่ 1 ซึ่งแบ่งเขตทั้งหมด 160 คน และแบบประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นการแต่งตั้ง 123 คน)

สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ได้แก่ พลเอกพระประจนปัจจนึก (พุก มหาดิลก)

นายพจน์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2500 หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว

และในวันที่ 1 มกราคม 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ก็เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของราชอาณาจักรไทย นับจากการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 24-30 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8