Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (32)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย:
"ระบอบสฤษดิ์/ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์"(1)

จอมพลสฤษดิ์เจรจากับนิสิตจุฬาฯ ที่สะพานมัฆวาน - The LIFE Picture Collection

อารัมภบท

การสิ้นสุดความพยายามสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของสยาม/ไทยมาถึงแทบจะในทันทีทันใด ที่อำนาจทางการเมืองของประเทศไทยถูกครอบครองและครอบงำโดยกองทัพบกโดยสิ้นเชิง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำทหารกองทัพภาคที่ 1 ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2500 โดยอาศัยความไม่พอใจของประชาชนผสมโรงกับการแพร่ข่าวลือและการปลุกระดมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก "การเลือกตั้งสกปรก" ภายหลังการเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี หนีไปราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะที่สมุนมือขวา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์ จอมพลสฤษดิ์ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นผู้รักษาพระนคร มีการประกาศยุบสภาและนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 (ฉบับแก้ไขใหม่ 2495) มาปรับใช้เป็นการชั่วคราว

การรัฐประหารครั้งนี้ มีลักษณะพิเศษยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือเป็นการเข้ายึดอำนาจรัฐโดยมีผู้นำเป็นนายทหารที่ "ไม่มี" ส่วนร่วมแต่อย่างใดในฐานะผู้นำในคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์/ราชาธิปไตยสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ (เรียกกันในเวลานั้น)

เส้นทางสู่อำนาจเด็ดขาด

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด จังหวัดพระนคร (ในเวลานั้น) เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ (สกุลเดิม วงษ์หอม) เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร และศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพารามในปี พ.ศ. 2462 จากนั้นจึงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2471 เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2472

ในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่ติดยศร้อยตรี เกิดกบฏนำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และ ร้อยตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหนึ่งในผู้บังคับหมวดปราบปรามกบฏของฝ่ายรัฐบาล มีพันเอกหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับบัญชา จนได้รับชัยชนะ ได้รับพระราชทานยศร้อยโท จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก

ในปี พ.ศ. 2484 ร้อยเอกสฤษดิ์เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี จนช่วงปลายสงครามจึงได้เลื่อนยศเป็นพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488

หลังสงครามโลกสงบ แม้ว่าอำนาจทางการเมืองจะถูกเปลี่ยนมือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยเคลื่อนไหวเพื่อให้พ้นจากการเป็นประเทศร่วมรบกับฝ่ายอักษะในทวีปเอเชียที่นำโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่สำคัญคือไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น คือ "ขบวนการเสรีไทย" ที่เคลื่อนไหวอย่างจริงจังในช่วงที่ถูกยึดครองและถูกบังคับให้เซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านั้น ในปี พ.ศ. 2487 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกบีบด้วยข้อเสนอให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้อำนาจอำนาจทางการเมืองเสื่อมถอยลง แต่พันเอกสฤษดิ์กลับเติบโตขึ้นในอาชีพรับราชการทหารโดยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2490 คณะนายทหารนำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน และด้วยความเคารพเลื่อมใสที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้อยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ พันเอกสฤษดิ์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมคณะรัฐประหาร ผลจากการรัฐประหารครั้งนั้น เป็นการกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นกำลังสำคัญที่แทบจะมีลักษณะส่วนตัวยิ่งกว่าผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา

จากการเป็น "ผู้ใกล้ชิด" หรือ "ลูกน้องคนสนิท" นี้เอง ชีวิตราชการของพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศพลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงในปีเดียวกันนั้น หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท ตามมาด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ในปี พ.ศ. 2493 และเพียงในปี พ.ศ. 2495 ก็สามารถขึ้นครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกพร้อมได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นพลเอก

สำหรับตำแหน่งในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น พลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศจอมพล โดยที่คงไม่มีใครคาดคิดว่าในเวลาอีกเพียง 3 ปี ลูกน้องคนสนิทหนึ่งในสองคนนี้ จะกล้าลุกขึ้นยึดอำนาจขากลูกพี่ที่ติดสอยห้อยตามกันมาหลายปี

วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก จากสาเหตุการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ซึ่งจัดว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรกมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในจังหวัดพระนคร มีการจัดตั้งกลุ่มอันธพาลหรือที่เรียกว่า "ผู้กว้างขวาง" เข้าร่วม เกิดบัตรผีที่เรียกว่า "ไพ่ไฟ" และการย้ายเข้าเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิที่เรียกว่า "พลร่ม" รวมทั้งการสวมใช้สิทธิซ้ำหลายครั้งที่เรียกว่า "เวียนเทียน" ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมากในจังหวัดพระนคร จอมพล ป. จึงแต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เข้าควบคุมสถานการณ์

ในวันที่ 1 มีนาคม กลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมตัวกันประมาณ 2,000 คน เดินขบวนไปที่กระทรวงมหาดไทย มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยให้มีคณะกรรมการประกอบด้วยนิสิตในการควบคุมการลงคะแนน จอมพลสฤษดิ์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง ทั้งยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีซึ่งกล่าวแก่นิสิตและผู้ชุมนุมว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อศาลสั่ง นิสิตสลายตัวตามที่จอมพลสฤษดิ์ เสนอ และได้กล่าวคำคมในประวัติศาสตร์ไว้ที่สะพานมัฆวานว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ" ซึ่งทำให้จอมพลสฤดิ์กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวาน"

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 17-23 มกราคม 2558
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8