Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (24)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (7)

นายเตียง ศิริขันธ์ "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน" ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร ยิงทิ้งที่ทุ่งบางเขนในปี พ.ศ. 2492

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (7)

ยังมีเรื่องราวของ "กบฏสันติภาพ" ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลที่มีน้ำหนักพอต่อการขบวนการประชาธิปไตยประชาชนในรอบกว่าครึ่งศตวรรษมานี้อีกบางคน คือ:
*****
หลังการกวาดล้างจับกุมบุคคลวงการต่างๆ จำนวน 104 คน ด้วยข้อหากบฏในราชอาณาจักร วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 รัฐบาลจากการรัฐประหาร (ซ้ำซ้อน) ป.พิบูลสงคราม ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ผ่านรัฐสภา (ประชาธิปไตย?) 3 วาระรวด โดยมีจุดมุ่งหมายให้บังคับใช้สำหรับนำมาลงโทษผู้ต้องหากลุ่มนี้โดยเฉพาะ

มีหลักฐานในเวลาต่อมาว่า วันที่ 14 ธันวาคม อันเป็นวันที่ 2 หลังจากถูกตำรวจเรียกตัวออกจากรัฐสภาแล้วควบคุมตัวหายสาบสูญไป ไม่อาจติดต่อได้ด้วยวิธีการใดๆ ในที่สุดมีผู้พบศพนายเตียง ศิริขันธ์ (ขณะนั้น เป็น ส.ส. ในคณะกรรมการนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐบาล) นักการเมืองฉายา "ขุนพลภูพาน" หนึ่งใน "สี่เสืออีสาน" ซึ่งประกอบด้วย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อุดล และนายจำลอง ดาวเรือง ซึ่งนอกจากนายเตียงแล้ว อีก 3 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยรัฐบาลรัฐประหาร ป.พิบูลสงครามยิงทิ้งที่ทุ่งบางเขนในปี พ.ศ. 2492

สำหรับประวัติชีวิตทางการเมืองของนายเตียงนั้น ในปี พ.ศ. 2477 ขณะที่รับราชการเป็นครู นายเตียงเคยถูกจับในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน คือ ครูปั่น แก้วมาตย์, ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ถูกส่งตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ต่อมาศาลยกฟ้องให้พ้นข้อหาไป ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.สกลนคร 5 สมัย ตั้งแต่อายุ 28 ปี สมัยแรกได้ในปี พ.ศ. 2478 จากการลงสมัครครั้งแรกนั้นเช่นกัน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นหัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคอีสานและสกลนครโดยมีศูนย์บัญชาการอยู่บนเทือกเขาภูพาน แนวคิดทางการเมืองที่สำคัญ คือ
    "ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง"
    หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นายเตียงหรือ "ครูเตียง" หลบหนีขึ้นไปซ่องสุมกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยบนเทือกเขาภูพาน โดยรัฐบาลสั่งการให้ พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ ตามล่าตัว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนหนังสือพิมพ์ยุคนั้นพร้อมใจกันตั้งสมญานามให้ว่า "ขุนพลภูพาน" ต่อมาหลวงพิชิตธุรการจึงใช้วิธีข่มขู่ให้ชาวบ้านบอกที่ซ่อนของขุนพลภูพาน โดยจับครูครอง จันดาวงศ์ และสหายร่วมอุดมการณ์ของครูเตียงอีก 15 คน สร้างแรงกดดันจนในที่สุดตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2491 ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน แต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ฯลฯ

    นอกจากนั้น ยังมีเหยื่อจากฝืมืออำมหิตของตำรวจ (?) ในยุค "เผด็จการครองเมือง" อีก 4 คน คือ นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร, นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค พลพรรคเสรีไทยคนสำคัญคนหนึ่ง ถูกสังหารต่อมาวันที่ 15 ธันวาคมจึงมีคนไปพบศพของคนทั้ง 4 ถูกนำไปเผาทิ้งที่ ตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

    ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถูกจับกุมต่อเนื่องในปลายปี พ.ศ. 2495 ถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหากบฏ เนื่องจากไม่สามารถนำข้อหาคอมมิวนิสต์มากล่าวโทษย้อนหลังได้ กระบวนการยุติธรรม (?) ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยทุกคน เว้นนายมงคล ณ นคร, นายเปลื้อง วรรณศรี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ปิตุภูมิรายปักษ์ เป็นหนึ่งใน "กวีการเมือง" เจ้าของนามปากกา "นายสาง" (คู่กับ นายอัศนี พลจันทร์ ที่ใช้นามปกกา "นายผี") ทั้งยังเคยได้รับเลือกจากประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์เป็นผู้แทนราษฎรมาแล้ว, นายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, นายสิงห์ชัย บังคดานรา และนายฮางเฮ้า แซ่โง้ว เป็นผู้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ให้จำคุกเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ยกเว้นนายณรงค์ ชัยชาญ ถูกจำคุก 20 ปี เพราะไม่ยอมให้ปากคำ

    สำหรับ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" หนึ่งในนักเขียน (สยาม) ไทยสัจนิยมรุ่นบุกเบิก ทั้งเป็นนักประชาธิปไตยตัวยคนหนึ่ง ขณะที่ถูกจับกุมในคดีกบฏสันติภาพนั้น เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดของฝ่ายอำนาจรัฐตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์สยาม ทว่ากลับเป็น "ผงในดวงตา" ของ "ฝ่ายเผด็จการทหาร" ยิ่งกว่า "ฝ่ายเจ้า" ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีบทบาทสำคัญในการเขียนและการทำหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา ในขณะที่การเมืองในช่วงวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยกำลังเข้าไคลด้วยความขัดแย้งที่ก่อรูปและกำลังพัฒนาขยายตัวทั้งความพยายามในการ "ฟื้นระบอบ" การปกครองแบบราชาธิปไตย/สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทั้งการเริ่มรอยร้าวที่เป็นความขัดแย้งในหมู่ "ผู้ก่อการฯ" ด้วยกัน ตั้งแต่กรณี "กบฏพระยาทรงสุรเดช" ซึ่งในฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย เห็นว่า "เสรีภาพ" ของหนังสือพิมพ์กำลังเป็นภัยคุกคามอย่างสำคัญต่อการดำรงอยู่ของตน

    พ.ศ. 2481 นายกุหลาบเข้ารับตำแหน่งกรรมการอำนวยการหนังสือพิมพ์ ประชามิตร เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ และรวมประชามิตร-สุภาพบุรุษ เป็นฉบับเดียวกัน โดยร่วมเป็นผู้รับผิดชอบ ในปี พ.ศ. 2484 ได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

    พ.ศ. 2485 นายกุหลาบเขียนบทความติดต่อกันคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนเป็นผลสำเร็จ ตามมาด้วยการเขียนบทความคัดค้านการที่รัฐบาลไทยร่วมมือกับกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานและเป็นทางผ่านเข้าโจมตีประเทศเพื่อนบ้านที่ในเวลานั้นเป็นเมืองขึ้นที่อยู่ในอาณัติของจักรวรรดินิยมนักล่าอาณานิคมตะวันตก คือ อังกฤษในพม่าและมลายู กับฝรั่งเศสในกลุ่มประเทศอินโดจีนกรีธาทัพ เป็นเหตุให้ นายกุหลาบถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏภายในประเทศ ถูกคุมขังอยู่ราวสามเดือน จึงได้รับอิสรภาพ เพราะคดีไม่มีมูล

    ระหว่างปี พ.ศ. 2488-2489 นายกุหลาบ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2490-2492 ไปศึกษาวิชาการเมืองในประเทศออสเตรเลีย (ที่ซึ่งได้ศึกษาเรื่องราวของชาวไร่ชาวออสเตรเลียที่ได้ความอยุติธรรมจากผู้มีอิทธิพลกับฝ่ายบ้านเมือง ถูกตั้งข้อหาและมีสินบนนำจับ และนายกุหลาบเขียนเรื่องราวของ เนด เคลลี่ ไว้เป็นนวนิยายในชื่อ "เขาถูกบังคับให้เป็นขุนโจร") และกลับมาเมืองไทย ปี พ.ศ. 2492 เขียนหนังสืออยู่บ้านกับภรรยา ชนิษฐ์ สายประดิษฐ์ และตั้งสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พิมพ์-จำหน่ายหนังสือภายใต้นามปากกา "ศรีบูรพา" และ "จูเลียต"

    พ.ศ. 2495 นายกุหลาบปราศรัยในที่ประชุมใหญ่ สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเขียน บทความเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และยกเลิก พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484

    *****
    (ยังมีต่อ)


    พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 15-21 พฤศจิกายน 2557
    คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
    ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

    บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
    ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
    บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8