Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (25)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (8)

"ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น" - กุหลาบ "ศรีบูรพา" สายประดิษฐ์ จาก "เล่นกับไฟ" (พิมพ์ครั้งแรก : เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์: สิงหาคม 2471)

การเกิดสื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (8)

ยังมีเรื่องราวของ "กบฏสันติภาพ" ที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลที่มีน้ำหนักพอต่อการขบวนการประชาธิปไตยประชาชนในรอบกว่าครึ่งศตวรรษมานี้อีกบางคน คือ:

ในปี พ.ศ. 2495 นั้นเอง กุหลาบได้รับตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี และได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนภาคอีสาน ที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง และได้ร่วมคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลี ต่อมาวันที่ 10 กุหลาบ สายประดิษฐ์จึงถูกจับกุม พร้อมด้วยมิตรสหายในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือ "ขบถสันติภาพ" เพราะการเรียกร้องสันติภาพ และการแจกสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้าน ถูกตัดสินจำคุกเป็นคณะใหญ่ 13 ปี 4 เดือน และถูกคุมขังไว้ในเรือนจำบางขวาง ฐานนักโทษการเมือง ต่อมาหลังจากถูกคุมขังอยู่สี่ปีเศษ จึงได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในวโรกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

ก่อนหน้านั้น ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชบูรณภาพแห่งดินแดนของประชาชาติ ยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกในขบวนการเสรีไทยสายในประเทศอีกด้วย

(จากบทความ "คือสุภาพบุรุษคนดีศรีบูรพา" จากเว็บไซต์กองทุนศรีบูรพา http://www.sriburapha.net/index.php/2011-08-01-10-53-33/84-2011-08-01-20-49-00):
กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยและสันติภาพตลอดมา โดยได้เขียนบทความ "มนุษยภาพ" ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 เสนอความคิดสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จนทำให้หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ถูกสั่งปิด แท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่ เมื่อได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2475 ก็สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขียนบทความคัดค้านการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เขียนบทความคัดค้านการฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2485 ทำให้การฟื้นฟูบรรดาศักดิ์ต้องระงับไปในที่สุด

ในช่วงแห่งสงครามได้เขียนบทความคัดค้านรัฐบาลร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงคราม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองศรีบูรพาได้เข้าร่วม ขบวนการเสรีไทย เมื่อ พ.ศ. 2494 องค์การสันติภาพสากลประชุมที่กรุงเบอร์ลินเรียกร้องสันติภาพ คัดค้านสงครามเกาหลี และประกาศแต่งตั้ง ศรีบูรพา กับคนไทยอีก 2 คนเป็นกรรมการองค์การสันติภาพสากลแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2495 รับตำแหน่งรองประธานกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพและคัดค้านสงครามเกาหลี และได้รับมอบหมายจากสมาคมหนังสือพิมพ์ให้เป็นประธานนำคณะไปแจกสิ่งของที่มีผู้บริจาคแก่ประชาชนภาคอีสานที่ประสบภัยธรรมชาติอย่างร้ายแรง
*****
ผลจากการกวาดล้าง "กบฏสันติภาพ" นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์ รวมทั้งอดีต พลพรรคเสรีไทย เป็นจำนวนมากถูกจับกุมคุมขัง โดยถูกเพ่งเล็งว่าล้วนแต่ผู้มีความเห็นต่างจากรัฐบาลทหาร ป.พิบูลสงคราม ที่มาจากการรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 และพยายามต่อต้านอำนาจเผด็จการในเวลานั้น ทำให้แวดวงนักคิดนักเขียน และกิจการหนังสือพิมพ์มีอันต้องซบเซา ถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งสภาวการณ์นั้นดำรงอยู่จนช่วงใกล้งานฉลอง 25 ปีพุทธศตวรรษ หรือที่เรียกกันว่า "งานฉลองกึ่งพุทธกาล" ซึ่งเตรียมการล่วงหน้านับแต่ปี พ.ศ. 2495 อาทิ การวางโครงการและระดมทุนเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา ออกประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พระราชบัญญัติล้างมลทิน อันมีผลต่อผู้ต้องขังในคดีกบฏสันติภาพ พ.ศ. 2497 และย้อนหลังไปถึงผู้ต้องขังใน กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 อีกด้วย

เมื่อฝายประชาธิปไตยหรืออาจกล่าวได้ว่าฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มที่ยึดกุมอำนาจการปกครองประเทศที่นำโดยทหารบก ถูกจำกัดบทบาทและตีกรอบต่อการเคลื่อนไหวใดๆ ในทางเปิดเผย ที่นับเป็นยุคมืดทางปัญญาครั้งหนึ่งในประเทศไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองกระแสหลักจึงมีเพียงการเคลื่อนไหวช่วงชิงอำนาจภายในของกลุ่มรัฐประหารครั้งล่าสุด ที่เปิดหน้าเล่นอย่างชัดเจนว่าผู้นำที่แท้จริงคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีนายทหารที่เป็นคนสนิทรองรับอำนาจ 2 คน

คนแรกคือ พลเอก สฤษดิ์ ธนรัชต์ ซึ่งชีวิตราชการ เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจากพันเอกในปี พ.ศ. 2492 ได้รับพระราชทานยศ พลตรี ดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ 1 และรักษาการผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผลงานที่สร้างชื่อคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวงเมื่อปีเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพลโท ต่อด้วยการก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ได้ครองตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ครองยศพลเอก

และอีกคนหนึ่งคือ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งลาออกจากราชการชั่วคราวในปี พ.ศ. 2487 แล้วกลับเข้ารับราชการในกรมตำรวจในปีพ.ศ. 2490 ชีวิตรับราชการก้าวหน้าขึ้นตามการรับใช้ใกล้ต่อจอมพล ป. เช่นกัน คือ จากยศพันตำรวจเอก ในปี พ.ศ. 2491 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ในอัตรา พลตำรวจโท ในปี พ.ศ. 2494 และในปี พ.ศ. 2495 ได้รับพระราชทานยศเป็น พลโท พลเรือโท และพลอากาศโท กระทั่งวันที่ 21 กรกฎาคมปีเดียวกัน ได้รับพระราชทานยศเป็นพลตำรวจเอก

แต่แล้วในที่สุด "เสือสอง (สาม) ตัวก็อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้"

ในเอกสาร "ประวัติการเมืองการปกครองไทย" โดยสถาบันพระปกเกล้า เขียนถึงรอยต่อการปกครองโดยคณะทหารโดย 2 ผู้นำ หลังปี พ.ศ. 2494 ไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะความสมพันธ์เชิงซ้อนของนายและลูกน้องทั้งสามคนดังกล่าวไว้ดังนี้:
หลังจากชนะการสู้รบ กลุ่มรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จึงตัดสินใจทำการรัฐประหารตัวเองอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2494 กลุ่มรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลและก่อตั้งคณะกรรมการบริหารชั่วคราวซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของคณะรัฐประหาร พร้อมกับล้มสภานิติบัญญัติที่มีสองสภา และแต่งตั้งสภาใหม่โดยประกอบด้วยสมาชิก 123 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกจำนวนเท่ากันเข้ามาภายใน 90 วัน พรรคการเมืองถูกห้ามจัดตั้งหนังสือพิมพ์ก็อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของรัฐบาล จอมพล ป. ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่คณะรัฐประหารซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง อีกทั้งยังแต่งตั้งนายทหารและนายตำรวจมากมายซึ่งล้วนเป็นพวกของตนในสภาที่ตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้น อำนาจทางการเมืองตอนนี้เกือบจะผูกขาดโดยทหาร ทั้งพวกเสรีนิยม พวกเจ้าและพวกอนุรักษ์นิยมต่างก็เสียอำนาจทางการเมืองหมด รัฐประหารปี 2494 ทำให้อำนาจของฝ่ายตรงข้ามสิ้นสุดลงและทหารก็ได้ครองอำนาจอย่างมากมาย
(ยังมีต่อ)



พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 22-28 พฤศจิกายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8