Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (27)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (10)

แสง เหตระกูล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ในปี พ.ศ. 2493 ซึ่งเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (10)

ในวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ฯ พ.ศ. 2554 หัวข้อเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมการเมืองไทย" โดย เอกภพ โสรัตน์ (อ่านฉบับเต็มได้ที่ได้ที่ http://202.29.39.8/thesis/thesisfiles/TH/8571549.pdf) ยังนำเสนอต่อไป ถึงสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล (ทหาร) ที่มาจากการยึดอำนาจ กับบทบทและเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงหนังสือพิมพ์เท่านั้น ที่เป็นสถาบันการสื่อสารมวลชนนอกภาครัฐ:

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในบทนําถึงความไม่เห็นด้วยในการปรับรัฐมนตรีว่าการเอานักกฏหมายไปคุมคลัง ซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นอย่างมาก ต้องรู้เรื่องของการคลัง การเงิน มากกว่ากฏหมาย การเลื่อนรัฐมนตรีช่วยว่าการที่รู้กฏหมาย แต่เก่งทางวิ่งเต้น และคารมลิ้นตลอดกาลไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เหมาะสมแล้วหรือ

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 24 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุในคอลัมน์ภราดร เขียนโดย นายศรัทธา ว่า ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพราะผู้ที่ได้ขึ้นด้วยคือสมาชิกรัฐสภาและการเพิ่มเงินเดือนให้สมาชิกรัฐสภานี้ นับเป็นครั้งที่สองแล้ว หลังจากการเกิดรัฐประหาร การเพิ่มเงินเดือนนี้เป็นการผิดต่อที่เคยปฏิญาณที่ว่าจะลดค่าครองชีพ และทําให้ประชาชนเป็นสุข แต่นี่จะทําให้คน 3 แสนคนที่ได้ขึ้นเงินเดือนอิ่มหมีพีมันซะอีก

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 29 กรกฏาคม พ.ศ. 2493 ระบุเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศการทํางานของสื่อในช่วงนั้นว่า ส.ส.กระทู้ถามรัฐบาลคุกคามเสรีภาพหนังสือพิมพ์ หลังจากการที่หนังสือพิมพ์จํานวน 8 ฉบับ โดนตํารวจสันติบาลบุกเข้าจับกุม โดย 2 ฉบับนั้นถูกกล่าวหาว่า ลงบทความหมิ่น หรือยุยงให้ประชาชนเสื่อมความนับถือรัฐบาล ซึ่งหลวงพรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยอมรับว่า มีการจับจริงแต่ผู้ถูกสอบสวนมีสิทธิอยู่แล้วที่จะไม่ตอบ และในที่สุดก็กล่าวว่ารัฐบาลยอมให้วิพากษ์ วิจารณ์อย่างเต็มที่แต่ก็ต้องอยู่ในกฎหมาย
**********
นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ยังคงพยายามทำหน้าที่สื่อสารมวชนที่เกราะติด วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจและรัฐสภาที่มีที่มาจากรัฐบาลดังกล่าว ที่ดูเหมือนว่าสภาวการณ์หลังการยึอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่าจะไม่สามารถไปพ้นลักษณะ "พายเรือในอ่าง" อำนาจนิยมเลยแม้แต่น้อย ความพยายามในอันที่จะนำเสนอบทความ บทนำ และ/หรือแนวคิดอย่างวิพากษ์หรือกระทั่งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลผลผลิตการทำรัฐประหาร/ยึดอำนาจโดยใช้กำลัง ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง:

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ระบุเนื้อหาว่า ทางตํารวจให้ประกันนักหนังสือพิมพ์วันเดียวนั้น 2 ราย โดยเนื้อหาว่า หลังจากที่ตํารวจสันติบาลได้เรียกตัวนายเทพวิฑูร นุชเกษม ไปทําการสอบสวนและดําเนินคดีเป็นผู้ต้องหาแล้วก็ได้เรียกตัวนายฉัตร บุณยศิริชัย บก.หนังสือพิมพ์เสียงไทยไปสอบสวนอีกคน และดําเนินคดีเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 104 ในข้อหาฐานลง บทความและข่าว ยุยงให้ประชาชนเกลียดชังรัฐบาล อันเป็นโทษฐานกบฏภายในราชอาณาจักร และโชคดีที่ทั้ง 2 คนได้รับการประกันตัวแล้ว

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ระบุเนื้อหาบทนําประจําวันว่า การที่รัฐบาลสั่งห้ามหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่างประเทศ เป็นการห้ามที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย และเป็นการจํากัดเสรีภาพ เพราะบทบัญญัติเช่นนี้ จะกระทําได้กรณี เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของผู้อื่น หรือหลีกเลี่ยงภาวะคับขัน หรือเพื่อรักษาความเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือเพื่อปกปูองความเสื่อมทรามทางจิตของเยาวชนเท่านั้น การนําเสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนําเสนอ ก็จะกระทํามิได้เว้นแต่อยู่ในภาวะสงคราม หรือระหว่างที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างการใช้กฏอัยการศึก ฉะนั้นการรบกันของเกาหลี เป็นเรื่องการเมืองต่างประเทศ หรือว่าเราเข้าสู่สงครามกับเขาแล้วจึงได้ประกาศห้าม

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2493 ได้พาดหัวข่าว "สั่งจดรายชื่อผู้ฝักไฝ่คอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ" ระบุเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า ได้มีคําสั่งของกระทรวงมหาดไทย ไดยพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งผ่านสื่อต่อประชาชนว่า เพื่อเป็นการป้องกันการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย จึงขอให้ตํารวจคอยสืบดูว่าใครที่มีหัวนิยมคอมมิวนิสต์ และเมื่อทราบก็ขอให้จดชื่อ ที่อยู่ อาชีพ ส่งมายังกระทรวง เพื่อพิจารณาว่าจะลงโทษอย่างไร

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาข่าวว่า ส.ส.ประท้วงรัฐบาลที่ทําสัญญาร่วมกับรัฐบาลอเมริกา โดยระบุว่าถ้ารัฐบาลไทยให้ตั้งกองบัญชาการของอเมริกาในประเทศไทย ที่มีข้ออ้างว่าเป็นการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็เท่ากับว่าเราได้สิ้นอธิปไตย และหากรัฐบาลไม่ทบทวนฝ่ายค้านก็จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
**********
มีข้อน่าสังเกตถึงความคล้ายคลึงกันในหลายประเด็นหรือหลายบริบท หรืออาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะการสืบทอดเจตนารมณ์ของเผด็จการทหารก็ว่าได้ ในการใช้ดำเนินการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในระบอบเผด็จการอันเกิดจากการรัฐประหาร ที่สำคัญคือ:
ประการแรกคือข้อกล่าวหา "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" ซึ่งมีต้นกำเนิดกภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ2 2475 ทั้งนี้ผู้ตกเป็นเหยื่อข้อกล่าวหานี้เป็นคนแรกคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศ ทั้งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ก่อตั้งและเป็นผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ประการถัดมาคือการ "ปิดปากสื่อสารมวลชน" ในที่นี้เมื่อพิจารณาขั้นพัฒนาการทางสังคมของไทยช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล สื่อสารมวลชนโดยทั่วไปคือหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และ/หรือรายสะดวก ฯลฯ โดยที่ในระยะนั้นสถานีวิทยุยังคงอยู่ในการควบคุมของ "ทางการ" เสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะมี่การถือกำเนิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย "ไม่ขึ้นต่อ" หรือกระทั่งในสมัยแรกนั้น "ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ" ส่วนการปิดปากสื่อที่ว่านี้มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ 1.ปิดสื่อ(ปิดหนังสือพิมพ์) 2.กำจัดคนทำสื่อ (ซื้อตัวหรือสังหารทิ้ง)
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 6-12 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8