Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (29)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (12)

จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชด์ (ได้รับพระราชทานยศเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2499) นำคณะนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (12)

มีบางส่วนจากบทความน่าสนใจว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ทางเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า ในหัวข้อ "รัฐประหาร พ.ศ. 2500" เรียบเรียงโดย ณัฐพล ใจจริง และมี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร_พ.ศ._2500):
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ยังคงไม่ราบรื่น นับแต่ การรัฐประหาร 2494 และการร่างรัฐธรรมนูญ 2495 ที่ไม่ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์เข้ามามีบทบาทการเมืองตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในปี 2496 พระมหากษัตริย์และรัฐบาลยังขัดแย้งกันเรื่องกฎหมายการปฏิรูปที่ดิน โดยรัฐบาลมุ่งจำกัดการถือครองที่ดินขนาดใหญ่และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย แต่ทว่าการปฏิรูปที่ดินนี้ องคมนตรีไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่าไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินถึงขนาดต้องปฏิรูปที่ดิน พระมหากษัตริย์ทรงเห็นด้วยกับองคมนตรีและทรงชะลอการการลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงยืนยันความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ ท้ายสุดพระองค์ก็ยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมาย [RG 59 : 972.00 / 9-253 , Memo of Conversation : Phraya Siwisan , George M. Widney , Second Secretary of American Embassy , 1 September 1953 อ้างใน Kobkua , Ibid., p.152. พระยาศรีวิศาลวาจา องคมนตรี คัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างหัวชนฝา(absolutely against) ด้วยการให้เห็นผลว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนที่ดินจนต้องปฏิรูปที่ดิน , ภายหลังพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยกเลิกหลังการรัฐประหาร 2500 และต่อมาพระยาศรีวิศาลวาจา ได้ลาออกจากองคมนตรีเข้าทำงานร่วมกับรัฐบาลในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาราชการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2505-06) ตามคำขอพระบรมราชานุญาตจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ "ชีวประวัติ พันเอกพระยาศรีวิสารวาจา" ,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิศาลวาจา (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพันเอกพระยาศรีวิสารวาจา ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์วัดเทพศิรินทร์ 8 มิถุนายน, 2511, พระนคร: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี)] อีกทั้ง ในปี 2500 ทรงไม่เสด็จเข้าร่วมงานการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ [อ้างใน Kobkua , Ibid., p.150-155] เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระทัยการจัดการที่ทำให้รัฐบาลกลายเป็นศูนย์กลางของงานแทนที่จะเป็นพระองค์ ทรงเห็นว่า จอมพล ป. "เมาอำนาจ" และมีความประสงค์จะเป็น "พระมหากษัตริย์องค์ที่สอง" [Kobkua Suwannathat-Pian , Thailand’s Durable Premier : Phibun through Three Decades 1932 – 1957 , (Kuala Lumpur : Oxford University Press,1995) , p.100]
**********
วกกลับไปที่เอกสาร ประวัติการเมืองการปกครองไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า บรรยายถึงความเข้มข้นของความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจทางทหารในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยนายทหารที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน "สมุนซ้าย/ขวา" ที่ปั้นมามากับมือหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และ พ.ศ. 2494 (www.senate.go.th/km/data/political.doc):

ระหว่างปี พ.ศ.2495 ถึง พ.ศ.2498 การเมืองไทยเป็นช่วงที่ไม่มีผู้นำเด่นในการปกครอง การถ่วงดุลของอำนาจเกิดจากการแข่งขันอย่างมากระหว่างพลตำรวจเอกเผ่าและจอมพลสฤษดิ์ คนแรกมีอำนาจในการคุมกำลังตำรวจ ส่วนคนที่สองได้คุมกองทัพบก จอมพล ป. ได้แต่เล่นเกมถ่วงดุลของทั้งสองฝ่ายและอาศัยสถานภาพในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศและที่สำคัญที่สุด คือการสนับสนุนของอเมริกาเพื่อการอยู่รอด ในการรวบอำนาจให้อยู่ในมือนั้น ปกติจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีที่สำคัญที่สุดก็คือรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเหตุการณ์ตึงเครียด จอมพล ป. มักจะขอร้องให้มีความร่วมมือ และจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยในเวลาเกิดการโต้แย้งกันระหว่างเผ่ากับสฤษดิ์

พลตำรวจเอกเผ่านั้นเป็นนายตำรวจหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลวัต ซึ่งได้เป็นนายพลเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2495 ในสมัยเผ่า กรมตำรวจได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา โดยผ่านบริษัทอเมริกันชื่อ Sea Supply Corporation เผ่าได้สร้างตำรวจให้เป็นกองทัพเทียบเท่ากับหน่วยของทหาร นอกจากนั้น เผ่ายังอาศัยการค้าขายอื่น ๆ ในการหารายได้ บุตรเขยของจอมพลผินผู้นี้ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจอย่างรวดเร็ว พอถึงปี พ.ศ.2496 ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง บุรุษผู้เข้มแข็งผู้นี้มีคำขวัญว่า "ไม่มีอะไรภายใต้พระอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" และก็ได้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐตำรวจ เผ่าใช้กำลังตำรวจในการกำจัดศัตรูของรัฐบาล

สฤษดิ์ได้เป็นนายพลเมื่ออายุได้ 42 ปี มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 และมีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏ "แมนฮัตตัน" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 หลังการรัฐประหาร 2494 สฤษดิ์ก็ได้กลายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของจอมพล ป. ในปี 2497 ก็ได้ตำแหน่งแทนจอมพลผิน ผู้ซึ่งเป็นพ่อตาของพลตำรวจเอกเผ่า โดยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อเดือนมีนาคม 2498 และดำรงตำแหน่งเป็นพลเรือเอกแห่งกองทัพเรือ และเป็นพลอากาศเอกแห่งกองทัพอากาศอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2499 สฤษดิ์ก็ได้เป็นจอมพล

ส่วนจอมพล ป. ได้ฉวยโอกาสจากการแข่งกันโดยทำหน้าที่เป็นตัวไกล่เกลี่ยและอาศัยความอาวุโส และสถานภาพในต่างประเทศและการสนับสนุนของอเมริกา แต่จอมพล ป. ก็พบว่า เส้นใยที่ขึงไว้ในการถ่วงดุลอำนาจนั้นยิ่งบางขึ้นทุกที และตัวเองกำลังจะเสียอำนาจเพราะเริ่มไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำที่เกินเหตุของเผ่า และการแข่งกันระหว่างฝ่ายตำรวจกับฝ่ายทหาร ดังนั้นจอมพล ป. จึงได้เดินทางรอบโลกจากเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการเดินทางของจอมพล ป. ได้เสริมฐานะทางการเมืองที่กำลังเสื่อมลง ผลพลอยได้จากการเดินทางก็คือ ความรู้สึกประทับใจที่ชาวอังกฤษแสดงความคิดเห็นที่ไฮด์ปาร์ค ซึ่งต่อมาก็มีการอนุญาตให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้าย ๆ ไฮด์ปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด

จอมพล ป. ประทับใจในการที่มีการถกเถียงกันในที่สาธารณะของชาวอเมริกันและชาวยุโรป จึงคิดส่งเสริมให้มีการสร้าง Town Hall เหมือนกับของอเมริกาและยุโรปตะวันตก โดยให้สร้างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

หลังจากการเดินทางครั้งนั้น จอมพล ป. เริ่มทำสิ่งที่คิดว่าสำคัญต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย เมื่อเดือนกันยายน 2498 จอมพล ป. ได้กล่าวขอให้รัฐสภาสนับสนุนให้ผ่านกฎหมายเพื่อให้มีพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ 20 ปี และยกเลิกเงื่อนไขหรือคุณสมบัติเกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด เพื่อจะได้มีคนมาลงคะแนนเสียงมาก ๆ จอมพล ป. ได้ประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จอมพล ป. เริ่มพูดคัดค้านการทำรัฐประหารและการใช้อำนาจตำรวจหรือทหารเพื่อผลทางการเมือง.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8