Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (28)

ประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (11)

จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซ็นฮาวร์ (คนยืนกลางผมดำคือ ริชาร์ด นิกสัน) พ.ศ.  2493

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (11)

วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาข่วิชารัฐประศาสนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ฯ พ.ศ. 2554 หัวข้อเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนกับการมีส่วนร่วมการเมืองไทย" โดย เอกภพ โสรัตน์ นำเสนอความเห็นต่อการบริหารงานของรัฐบาล ป.พิบูลสงครามและสภาฯ (?) อันเป็นผลผลิตต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายบน พ.ศ. 2490 สรุปช่วงท้ายปี พ.ศ. 2493 ไว้อีกบางส่วน (อ่านฉบับเต็มได้ที่ได้ที่ http://202.29.39.8/thesis/thesisfiles/TH/8571549.pdf):

บทนําของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาส่วนหนึ่งถึง เรื่องการทําหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาว่า ที่ผ่านมาสมาชิกในรัฐสภามองไม่เห็นประโยชน์สุขของประชาชนที่เลือกเข้าไป จึงขอให้ท่านระลึกในการเปิดสมัยประชุมใหม่ว่า จากพฤติการของท่านที่ผ่านมา เราพบว่าการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่เป็นโล้เป็นพาย และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะ ที่ร้ายที่สุด เงินของแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน ได้ถูกยักยอกฉ้อโกงเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของบุคคลบางคนมากต่อมาก เราหวังว่าในยามวิกฤติจากเหตุการณ์ต่างๆ อย่างนี้ ท่านสมาชิกรัฐสภาก็ดี คณะรัฐบาลก็ดี คงไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเอง หรือพรรคพวกมากกว่าประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

คอลัมน์ "จากหน้าต่างเดลิเมล์" ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหา ที่มีความเห็นต่อสื่อของรัฐว่า สื่อวิทยุแน่นอนที่สุด คือ ได้เป็นเครื่องมือของภาครัฐอย่างสิ้นเชิง เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าถ้าพูดถึงวิทยุกรมโฆษณาการ ทุกคนย่อมนึกถึงแต่เสียงตะโกนปฏิเสธข่าวหนังสือพิมพ์ และเสียงโฆษณาขายสินค้า งานอันขึ้นหน้าขึ้นตาของวิทยุกรมโฆษณาการ มี 2 ประการเท่านั้นในยุคของจอมพล "ท็อปบู๊ต" คนนี้

บทนําหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาการวิจารณ์ว่า การได้มาซึ่งอํานาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก นายควง อภัยวงศ์ ทั้งที่พรรคการเมืองของนายควง มีเสียงในสภามากกว่า แต่ถูกบีบให้สละตําแหน่ง จึงถือว่าไม่เหมาะสม ในระบอบการปกครองที่ดี

และบทนําหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ระบุในเนื้อหาการวิจารณ์การทํางานของรัฐบาลว่า ความเหลวแหลกของนักการเมือง ในสมัยรัฐบาลก่อนรัฐประหารเมื่อปลาย พ.ศ. 2490 (เป็นรัฐบาลของ พลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ก่อนที่จะถูกรัฐประหารโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ) เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะผลของความเหลวแหลกนั้น ส่งผลกระทบกระเทือนไปถึง อาณาประชาชนทั้งหลายอย่างชัดเจน สรุปความเหลวแหลกก็คือ การที่ผู้แทนที่ถูกเลือกมานั้นไม่ได้ทําหน้าที่ของเขาแทนปวงชน เพื่อประโยชน์ปวงชนไม่ แต่กลับไปหลงกับอามิสที่รัฐบาลเอื้ออํานวยให้หลังจากรัฐประหารแล้ว จึงได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ผู้ร่าง และรัฐสภาได้มีความเห็นชอบว่า ห้ามมิให้สมาชิกของรัฐสภา และรัฐมนตรีหาประโยชน์ใดๆ นอกจากที่ควรจะมี ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ทั้งๆ ที่มีบทบัญญัติไว้ แต่ก็ยังมีข่าวการใช้อภิสิทธิ์ของนักการเมืองบางกลุ่มบางคน ในการแสวงหาผลประโยชน์จากองค์กรของรัฐและเอกชน ซึ่งทําให้มองว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฏหมายสูงสุดไม่ได้ถูกเคารพนับถือแล้ว กฏหมายฉบับอื่นๆ จะได้รับการ เคารพนับถือหรือ

และในบทนําของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลหันไปดูแลความยากลําบากของประชาชนมากขึ้น ดังที่ว่าท่ามกลางเหตุการณ์ ที่ประชาชนยังเต็มไปด้วยความยากแค้นรําเค็ญ ความไม่ปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สมบัติ เราและเพื่อนหนังสือพิมพ์ทั้งหลายได้เรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้เอาใจใส่และบําบัดปัดเป่า เพื่อความเป็นอยู่ด้วยดี และสมบูรณ์พูนสุขของประชาชน แทนที่จะไปมัวเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอันมโหฬาร ซึ่งทําให้เห็นว่าการรวมตัวเรียกร้อง และการทักท้วงของประชาชนทั้งหลายที่ต่อเนื่องกันมา หาได้รับความใส่ใจไม่

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 พาดหัวที่หน้า 1 ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อรัฐมนตรีในรัฐบาลจากความไม่พอใจของประชาชนว่า ชาวปักษ์ใต้รับรัฐมนตรีด้วยก้อนอิฐโดยมือมืดพัทลุงเหวี่ยงเข้าใส่โบกี้รัฐมนตรีที่มีหญิงหน้าแฉล้มติดตามตรวจราชการ โดยรัฐมนตรีคนนั้นคือ นายบัญญัติ เทพหัสดิน รมช.มหาดไทยที่ไปตรวจราชการจังหวัดทางปักษ์ใต้

หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ยังพาดหัวข่าวเกี่ยวกับการต่อต้านแนวคิดของรัฐบาล โดยพรรคฝ่ายค้าน ที่ระบุว่าการเลื่อนยศนักการเมืองเป็นเรื่องอับอาย โดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นฝุายค้านจะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เนื่องจากความไม่พอใจหลายด้านรวมทั้งการเตรียมเลื่อนยศให้กับนักการเมืองที่มาจากสายทหารหรือตํารวจของรัฐบาล
**********
อาจเป็นเรื่องน่าแปลก (สำหรับนานาอารยะประเทศ แต่ไม่แปลกสำหรับสยามประเทศ) ในความ "ซ้ำรอย" ของประวัติศาสตร์การเมืองในสองบริบทด้วยกัน
บริบทแรกคือ บริบท "นักการเมือง (ฝ่ายบริหาร)" จะเห็นว่านับจากปี พ.ศ. 2493 ที่บทความ/บทนำในหนังเสือพิมพ์เดลิเมล์เขียนถึงความตะกละ ความเห็นแก่ได้ ความสามารถในการเบีรยดบังทรัพยากรของประเทสผ่านทางงบประมาณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ นั้น ยงคงถูกหยิบยกมาใช้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอมาแม้ในการเองหลังกึ่งพุทธกาล อาจเป็นเครืองบ่งชี้ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว การปกระกาศสร้าง "นักการเมืองน้ำดี" ก็ดี หรือ "การเมือง (การปกครอง) ปลอดคอร์รัปชั่น" ก็ดี เป็นเพียง "วาทกรรมยาหอม" หรือ "วาทกรรมอำพราง" ของการผลัดเปลี่ยนการเข้ามาเสวยอำนาจและสูบกินโภคทรัพย์ของแผ่นดิน ในลักษณะ "เก้าอี้ดนตรี"

บริบทที่สอง "นักการเมือง (ฝ่ายนิติบัญญัติ)" เนื่องจาก ที่ผ่านมาพรรค (หรือกลุ่ม) การเมืองของไทยถูกมองว่าเป็น "ก๊วนการเมือง" หรือ "กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกิจ/เฉพาะกาล" หรือแม้กระทั่ง "กลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นนิยม" ส่งผลให้การต่อรองภายใน ดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้การช่วงชิงชัยชนะในการ "บริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน" ผลรูปธรรมก็คือสิ่งที่เรียกว่า "ก๊วนในก๊วน" หรือ "มุ้งเล็กในมุ้งใหญ่" ของพรรคการเองใหญ่ที่มีแนวโน้มชนะเลือกตั้งและเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งสองบริบทนั้น ทำให้การเมืองไทยก้าวไม่พ้น "การปูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึก" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเมืองก่อนยุคประชาธิปไตย และการเมืองแบบมี "เจ้าของพรรค" ทั้งที่เป็นชนิดที่ "เห็นได้ด้วยตาเปล่า" และชนิด "มือที่มองไม่เห็น"

แล้ววังวนสุดท้ายที่อยู่ในก้นหลุมดำมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือ "การยึดอำนาจ" โดยฝ่ายทหารเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ยุติธรรมชนิด "ห้ามตรวจสอบ" ขึ้นมาจนได้ จนกว่าตอผุดเมื่อน้ำลดเช่นกรณีพินัยกรรมหลายพันล้านของ "จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง - สฤษดิ์ ธนะรัชต์" เมื่อปี พ.ศ. 2507 นั้น.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 13-19 ธันวาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8