Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (20)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (3)

หนังสือพิมพ์ "จีนโนสยามวารศัพท์" มีนายเซียวฮุดเสง สีบุญเรือง เป็นทั้ง เจ้าของ ผู้จัดการ และบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (3)

ในบทความ การควบคุมหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ให้ภาพพัฒนาการของการทำหนังสือพิมพ์ในช่วงรอยต่อการอภิวัฒน์สยามไว้อย่างน่าสนใจ (ดูรายละเอียดที่ จาก http://yenchalisa.blogspot.com):
หนังสือพิมพ์ในประเทศไทยเริ่มมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีกลุ่มมิชชันนารีชาวอเมริกันเป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ซึ่งหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันชื่อ แดน บี บรัดเลย์ (Dan B. Bradley) หรือที่ชาวสยามในเวลานั้นเรียกกันในชื่อ "หมอปลัดเล" เป็นผู้ริเริ่มออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกชื่อ Bangkok Recorder (จดหมายเหตุบางกอก) มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย แต่ได้ออกเผยแพร่เพียง 2 ปีก็หยุดพิมพ์ไป กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงออกในชื่อเดิม คือ Bangkok Recorder อีกครั้งหนึ่ง
ในยุคเริ่มแรก หนังสือพิมพ์ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากในสังคมไทย คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการเสนอข่าวสารความคิดเห็นที่ค่อนข้างเป็นอิสระและเปิดเผยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมประเพณีของไทยในยุคสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 5 ยังยังคงนิยมอย่างจำกัดในแวดวงเจ้านายชั้นสูง กลุ่มผู้บริหารประเทศ และผู้ได้รับการศึกษาจากตะวันตกเท่านั้น 
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเริ่มมีหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท เป็นภาษาไทยเผยแพร่สู่ประชาชนเป็นฉบับแรก ความสนใจก็ได้ขยายไปในหมู่สามัญชนที่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองมากขึ้น จากนั้นจึงตามมาด้วยการออกหนังสือพิมพ์มากถึง 59 ฉบับ
*****
จนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการออกหนังสือพิมพ์ โดยสามัญชนเป็นครั้งแรกชื่อ สยามประเภท โดย ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือ กุหลาบ ตฤษณานนท์ หรือบางแห่งใช้ว่าว่า ตรุษ ตฤษณานนท์ (พ.ศ. 2377 - พ.ศ. 2464) และ เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ อันเป็นนามปากกาของ เทียน วัณณาโภ (พ.ศ. 2385 - พ.ศ. 2458) ทนายความ และนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ที่มีบทความวิพากษ์ด้านนโยบายการต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา มีเนื้อหาเชิงเยาะเย้ยถากถางสังคมและล้อเลียนการเมืองซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

จนถึงในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 กิจการหนังสือพิมพ์เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว หนังสือพิมพ์สามารถวิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลและเสนอความคิดเห็นได้อย่างเสรี ประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับเหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น มีทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทย เช่น จีนโนสยามวารศัพท์ หนังสือพิมพ์ไทย กรุงเทพเดลิเมล์ และหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เช่น The Bangkok Times

แต่แล้วการใช้ "เสรีภาพ" ของหนังสือพิมพ์ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หาได้ "ราบรื่น" ไม่ การเสนอความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัว
ทำให้รัฐบาลเห็นความจำเป็นในการกำหนดบทควบคุมขอบเขตของหนังสือพิมพ์ขึ้น จึงมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมหนังสือพิมพ์โดยตรงขึ้นเป็นครั้งแรก คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2465 กำหนดให้ผู้มีเครื่องพิมพ์ต้องขออนุญาตจากสมุหเทศาภิบาลแห่งมณฑลก่อนพิมพ์เผยแพร่ 
ในช่วงรอยต่อรัชกาลที่ 6 ถึงตอนต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ระหว่าง พ.ศ. 2468-2472 จำนวนสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ต่างๆมากถึง 121 ฉบับ
*****
หลังการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สิ่งที่ไม่เคยเกิดหรือเคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมสยาม อันเป็นดอกผลของ "เสรีภาพ" ในระบอบรัฐธรรมนูญสยามที่ส่วนหนึ่งเป็นผลิตผลของการศึกษาและการรับเอาแบบแผนวิธีคิดและประยุกต์วิทยาของตะวันตกเข้ามาในสังคมสยามเวลานั้นคือ "กิจการหนังสือพิมพ์" ที่โหมกระหน่ำเข้าใส่รากฐานของระบอบและระบบสงคมราวพายุ

"หลักประกันในสิทธิ" ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ปรากฏขึ้นในสังคมสยามเป็นครั้งแรก นั่นคือ มาตรา 14 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ที่บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งบทกฎหมายบุคคลย่อมมี เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ

เสรีภาพดังกล่าวเปิดโอกาสให้เกิด "สื่อเลือกข้าง" ขึ้น คือ ฝ่ายอิสระ ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนิยมกษัตริย์ รัฐบาลคณะราษฎรจึงตรา พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2475 เพื่อควบคุมหนังสือพิมพ์ มีการตรวจข่าวหรือเซ็นเซอร์ข่าวก่อนตีพิมพ์ มีหนังสือพิมพ์ถูกสั่งให้ปิดกิจการลง
ในปี พ.ศ. 2476 จึงมีการตรา พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 และมีผลให้ยกเลิก พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือ พุทธศักราช 2470 และ พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2475 เนื้อหาสำคัญประการหนึ่งในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2476 นี้ได้กำหนดมาตรฐานของหนังสือพิมพ์และกำหนดบทบัญญัติควบคุมหนังสื่อพิมพ์โดยกำหนดวุฒิการศึกษาของบรรณาธิการ
*****
ส่วนบทความในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) โดย สุมาลี พันธุ์ยุรา บรรยายต่อไปว่า:
ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ในช่วงพ.ศ.2475 เช่น หนังสือพิมพ์ 10 ธันวา ก่อตั้งโดยนายหรุ่น อินทุวงศ์ ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงความเป็นเอกราชและเสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ "10 ธันวาคม" มีจุดประสงค์คือ เพื่อ "อ้าปากออกเสียงสนับสนุนในวงการเมืองตามสติกำลังเท่าที่จะทำได้ และช่วยปราบอธรรมอันเป็นปฎิปักษ์ต่อประเทศด้วย" หนังสือพิมพ์ เฉลิมรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อตั้งโดยสมาคมคณะราษฎร ในระยะแรกมี นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ (ต่อมาได้เปลี่ยนคณะผู้จัดทำไปบ้าง) เริ่มเผยแพร่ออกครั้งแรกในช่วงงานเฉลิมรัฐธรรมนูญในพ.ศ.2475 เพื่อออกข่าวเกี่ยวกับงานและตีพิมพ์บทความทางการเมือง การปกครอง ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ฉบับนี้พยายามจะอธิบายถึงความหมายของการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและความหมายของรัฐธรรมนูญ บทความส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้และอธิบายถึงสิทธิการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่ในขณะเดียวกันก็ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์ เสรีภาพ ที่ตีพิมพ์ข่าวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และเสนอบทบรรณาธิการที่แสงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและการเมืองปกครอง เช่น "เงินเดือนของรัฐมนตรี" "งบประมาณที่ขาด" และ "สิทธิออกเสียง" เป็นต้น
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 18-24 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8