Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (19)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยนักคิดนักเขียนและฐานันดรที่สี่ (2)

การประชุมสภาโซเวียตที่นครเปโตรกราด (ปัจจุบันคือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) โดยพรรคบอลเชวิค

สื่อสารมวลชนก่อนและหลังการอภิวัฒน์สยาม (2)

ก่อนจะนำเสนอตอนต่อไปของบทความในเว็บไซต์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง "บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2500" (http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/บทบาทของหนังสือพิมพ์กับการเมืองไทย_พ.ศ.2475-2500) เรียบเรียงโดย สุมาลี พันธุ์ยุรา จำเป็นต้องเท้าความสถานการณ์ที่คาบเกี่ยวกันทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมในสยามนับจากการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน การเกิดขึ้นของการปกครองแบบสมัยใหม่ และการจัดการศึกษาอย่างสมัยใหม่เพื่อสร้าง "ทรัพยากรมนุษย์" เพื่อรับใช้ระบอบการปกครองใหม่นั้น ซึ่งในเวลาต่อมาอีกประมาณครึ่งศตวรรษ "ของใหม่ในสังคมสยาม" เหล่านั้น ก็กลายเป็น "ดาบสองคม" สำหรับระบอบการปกครองไปโดยปริยาย

แม้ว่าในเวลานั้นการศึกษาแบบใหม่เพิ่งจะแพร่หลายลงสู่ราษฎร เริ่มจากในเดือนมกราคม พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "โรงสกูลหลวง (โรงเรียนหลวง)" (โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ) และ โรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ สำหรับบุตรหลานคนชั้นสูงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นโรงเรียนแรกตามรูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบัน กล่าวคือมีสถานที่ซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะ มีฆราวาสเป็นครู จัดการเรียนการสอนตามเวลาที่กำหนด สำหรับความมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนคือ การสร้างคนให้มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการ (ต่อมาได้มีการขยายโรงเรียนหลวงออกไปอีกหลายแห่ง) และจนกระทั่งมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติประถมศึกษา พระพุทธศักราช 2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 อันเป็นการเริ่มตันการศึกษาภาคบังคับในสยาม

แต่กระนั้นก็ตาม "วิชาหนังสือ" แบบสมัยใหม่ก็ยังเป็นคงอยู่ในวิสัยของบุตรหลาน "ชนชั้นนำ" ที่ประกอบด้วยเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ขุนนางอำมาตย์ระดับต่างๆ และคหบดีในเขตเมืองใหญ่หรือท้องถิ่นที่เจริญแล้ว สำหรับบุตรหลานของ "ไพร่/สามัญชน" คงมีโอกาสเป็นส่วน "ติดตาม" หรือ "ตัวฝาก" ในกระบวนการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อ "เจ้านาย" มีโอกาสไปศึกษายังประเทศในทวีปยุโรป เช่นกรณี นายพุ่ม สาคร ผู้ตามเสด็จ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ไปศึกษาต่อวิชาการทหารโรงเรียนเสนาธิการที่ประเทศรัสเซียในปี พ.ศ. 2441 ภายหลังได้รับสัญญาบัตรแล้วเข้าเป็นนายทหารม้าฮุสซาร์ของจักรพรรดิซาร์นิโคลาสที่ 2 จากนั้นได้ศึกษาต่อในโรงเรียนเสนาธิการ 2 ปี หลังจบการศึกษาแล้ว นายพุ่มตัดสินใจไม่กลับประเทศ โดยได้โอนสัญชาติเป็นรัสเซียและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ลัทธิโอโธดอกซ์ (นิกายออร์โธด็อกซ์รัสเซีย) โดยมีนามในศาสนาว่า นิโคลาส พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น นายนิโคลัย พุ่มสกี้ (Nikolai Pumsky) และเข้ารับราชการในกองทัพบกรัสเซียจนมียศเป็นพันเอก

เหล่านั้นเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึง "ความลักลั่น" ในกระบวนการเรียนรู้และรับรู้สรรพวิทยาการสมัยใหม่ในหมู่ราษฎร ซึ่งรวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และการปกครองระบอบใหม่ที่ก่อรูปขึ้นแล้วในซีกโลกตะวันตก เริ่มจาก สงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา (พ.ศ. 2318-2326) อันเป็นสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ฝ่ายหนึ่ง กับสิบสามอาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง เปิดฉากเป็นสงครามระหว่างสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ที่เรียกว่า "กองทัพจักรวรรดิ" ฝ่ายหนึ่ง กับสิบสามอาณานิคมอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือที่เรียกรวมกันว่า "กองทัพภาคภาคพื้นทวีป" อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนลับๆ จาก ฝรั่งเศส, สเปน และสาธารณรัฐดัตช์ (พ.ศ. 2124-2338: เป็นการรวมหนึ่งในส่วนรัฐทั้ง 7 ของเนเธอร์แลนด์ของสเปน อันเป็นกบฏโปรแตสแตนท์ในกลุ่มขุนนางทำให้เกิดสงคราม 80 ปีจนสงบศึกในปี พ.ศ. 2191) ที่มีส่วนจัดหาเสบียง และอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างลับๆ ให้แก่กองทัพปฏิวัติ อันนำไปสู่ประเทศและระบอบการปกครองใหม่ที่ "ประมุขแห่งรัฐ" และ "ประมุขฝ่ายบริหาร" เป็นคนๆเดียวกัน โดยมาจากการเลือกตั้งของพลเมืองผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ตามมาด้วย การปฏิวัติฝรั่งเศส (พ.ศ. 2332-2342) ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญถึงรากฐานในฝรั่งเศสซึ่งมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อฝรั่งเศสและยุโรปที่เหลือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองฝรั่งเศสมาหลายศตวรรษล่มสลายลงใน 3 ปี สังคมฝรั่งเศสผ่านการปฏิรูปขนานใหญ่ โดยเอกสิทธิ์ในระบบเจ้าขุนมูลนาย ของอภิชนและทางศาสนาหมดสิ้นไปภายใต้การพลังทางการเมืองฝ่ายสาธารณรัฐ ซึ่งสนับสนุนและเข้าร่วมโดยคนชั้นกลางและคนชั้นล่างในเมือง และชาวนาในชนบท ความคิดเก่าเกี่ยวกับประเพณีการสืบทอดอำนาจแบบสันตติวงศ์ และลำดับชั้นบังคับบัญชาของอำนาจพระมหากษัตริย์ อภิชนและศาสนา ถูกโค่นล้มอย่างฉับพลันโดยเป้าหมายหลักทางอุดมการณ์ความเสมอภาค ความเป็นพลเมือง และสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้กันได้

และที่ส่งผลสะเทือนต่อระบอบการปกครองของทั้งโลกคือ การปฏิวัติรัสเซีย (พ.ศ. 2460) ซึ่งทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ และนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต พระเจ้าซาร์ถูกถอดพระอิสริยยศและแทนที่ด้วยรัฐบาลเฉพาะกาลในการปฏิวัติครั้งแรกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460 (ตามปฏิทินจูเลียนซึ่งรัสเซียยังคงใช้อยู่ในขณะนั้น แต่ตรงกับเดือนมีนาคมตามปฏิทินเกรโกเรียน) ในการปฏิวัติครั้งที่สองในเดือนตุลาคม รัฐบาลเฉพาะกาลถูกโค้นล้มและแทนที่ด้วยรัฐบาล พรรคบอลเชวิก (คอมมิวนิสต์) ภายใต้การนำของ วลาดีมีร์ เลนิน ด้วยกองกำลังปฏิวัติ ที่ประกอบด้วยกรรมกร ชาวนา และทหาร

จะเห็นว่า การส่งบุตรหลานของเจ้านายและขุนนางอำมาตย์ไปรับการศึกษาแบบตะวันตก และรวมทั้งการจัดการเรียนการสอนภายในประเทศทั้งโรงเรียนรัฐบาล และที่สำคัญคือโรงเรียนราษฎร์ซึ่งก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารีจากทวีปยุโรป นั้น สิ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ การรับแนวคิดใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมใหม่จากตะวันตก (เริ่มจากทวีปยุโรปเป็นสำคัญ) นั่นคือ หน่อความคิดในการปกครองตนเองของราษฎรเริ่มก่อรูปและซึมลึกในหมู่ "คนรุ่นใหม่" ทีละน้อย

และ "คนรุ่นใหม่" ที่ว่าก็เริ่มการเคลื่อนไหวอันนำไปสู่ "การอภิวัฒน์สยาม" ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 บุคคล 7 คน อันได้แก่ 1. ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 6) 2. ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส) 3. ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส) 4. นายตั้ว ลพานุกรม (นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์) 5. หลวงสิริราชไมตรี (ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส) 6. นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ) 7. นายปรีดี พนมยงค์ (ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส) จัดให้มีการประชุม ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ข้อสรุปสำคัญของการประชุมคือการตกลงที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" หลีกเลี่ยงการนองเลือด ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้มหาอำนาจนักล่าอาณานิคม คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 11-17 ตุลาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8