Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (7)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (7)

ภายใต้การปลุกปั่นสร้างสถานการณ์โดยขบวนการขวาจัด ที่ (ดูเหมือนว่า) มีส่วนในการนำโดยหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ทั้งหลาย นำไปสู่ชนวนเหตุในเหตุการณ์ 6 ตุลา อันเป็นการก่อจลาจลและใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนักศึกษา

ภายหลังจากการรัฐประหารอัปยศ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในขบวนเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย ที่รวมศูนย์การนำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อและขยายองค์การแนวร่วมที่มีลักษณะเปิดยิ่งขึ้น (?) เป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งองค์การจัดตั้งภาคประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญต่อ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2517 และ รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 ว่า มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับใดๆ ที่ผ่านมาในอดีต แต่โดยเหตุที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทั้งสองบับดังกล่าว ยังมีหมวดว่าด้วย องคมนตรีและอำนาจหน้าที่ขององคมนตรี แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับ พุทธศักราช 2540 จะบัญญัติให้ สมาชิกวุฒิสภาพมาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่เท่ากับไม่ครบองค์ประกอบความเป็นรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามที่ผู้เขียนเคยให้เหตุผลไว้แล้ว

กล่าวสำหรับรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2517 นั้นเอง ก็ยังคงมีเงื่อนไขที่เป็นเครื่อง "กางกั้น" ต่อการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็ตาม หากแต่ในช่วงเวลา 3 ปีเศษแห่งการประกาศและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่มีประชาชนวงการต่างๆ เข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ที่ก่อรูปจากจุดเริ่มต้นเรียกร้องให้มากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประกอบกับความไม่อาจ "อดทน/อดกลั้น" อีกต่อไปต่อการปกครองในระบอบ "เผด็จการทหาร" ที่มาจากการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง แม้ว่าจะสลับฉากด้วยห้วงเวลา 2 ปีเศษ ด้วยรัฐบาลกึ่งทหารที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดย "ร่างทรงเผด็จการ"

ย้อนไปในท่ามกลางสถานการณ์ "ประชาธิปไตยเบ่งบาน" ระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับพุทธศักราช 2517 การเคลื่อนไหวรณรงค์ที่มีลักษณะทั่วไปทางการเมือง รวมทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและวัฒนธรรม ที่จุดประกายโดยขบวนนิสิต นักศึกษา ซึ่งฉีกทำลายกำแพงอภิสิทธิชนในรรั้วสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกกันว่า "ยุคสายลมแสงแดด" นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มกรรมกรและชาวนา เพื่อเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรมในกระบวนการผลิต เพียงเฉพาะในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2516 มีรายงานว่ามีการนัดหยุดงานถึง 353 ครั้ง แม้ว่าในระยะแรกๆจนถึงกลางปี 2517 ยังไม่มีการรวมกลุ่มกันเข้าเป็นเครือข่ายหรือมีลักษณะที่เป็นองค์กรอย่างชัดเจน

ในที่สุด การก่อรูปขององค์กรมวลชนชั้นล่างทั้งสองที่มีลักษณะเป็น "ศูนย์กลาง" การเคลื่อนไหวก็ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น ก่อนจะพัฒนาเป็น "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ในเดือนพฤศจิกายน 2517 และเกิดผู้นำชาวนาขึ้นจำนวนหนึ่ง เช่น นายลำยวง ซ่องสกุล, นายอินถา ศรีบุญเรือง, นายใช่ วังตะกู และนายวิชัย พิกุลขาว ขณะเดียวกับที่ทางฝ่ายแรงงานก็มีการก่อตั้ง "ศูนย์ประสานงานกรรมกร" ซึ่งพัฒนามาจากกรณีประท้วงอย่างยืดเยื้อของคนงานทอผ้า เมื่อเดือนมิถุนายน 2517 เกิดผู้นำ "เป็นไปเอง" ของมวลผู้ใช้แรงงานอย่าง นายเทิดภูมิ ใจดีและนายประสิทธิ์ ไชโย ขึ้นตามมา

แต่แล้วขณะที่กระแสการเคลื่อนไหวทั่วไปทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเรียกร้องนโยบายที่เป็นอิสระของรัฐไทยที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างค่ายสังคมนิยมที่นำโดยจีน และต่อมาเป็นเวียดนามและกลุ่มประเทศอินโดจีน และค่ายทุน/จักรวรรดินิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเรียกร้องให้ "ถอนฐานทัพอเมริกัน" ออกจากแผ่นดินไทยในช่วงปี พ.ศ. 2517-2519 ก่อให้เกิด "ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย" ขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ

เหยื่อจากการลอบสังหารในห้วงระยะเวลาดังกล่าวมีลักษณะเป็นขบวนการ และไม่มีการคลี่คลายคดีแต่อย่างใด เกือบทั้งหมดเป็นผู้นำชาวนาในสังกัดสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เฉพาะใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2518 มีผู้นำชาวนาชาวไร่ระดับต่างๆ ถูกลอบสังหารถึง 13 คน ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย นายโง่น ลาววงศ์ ผู้นำชาวนาหมู่บ้านหนองบัวบาน จ.อุดรธานี, นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง, นายจา จักรวาล รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่บ้านดง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ นายอินถา ศรีบุญเรือง ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ

สภาวการณ์ในเวลานั้น เมื่อมาวิเคราะห์พิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว สะท้อนให้เห็นเส้นทางโดยสังเขป ไปสู่การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2517 และการเมืองในระบบรัฐสภา ด้วยการการก่อเหตุความรุนแรงต่อขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีการสร้างองค์การจัดตั้งฝ่ายขวาจัดขึ้นหลานกลุ่มเริ่มจาก กลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษาสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งร่วมอยู่ใน "ขบวนการ 14 ตุลาฯ" ในปี พ.ศ. 2516 แต่กลับเป็นเหยื่อนของนโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ของ ฝ่ายปฏิกิริยา/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในเวลานั้น กลายมาเป็น "กลุ่มปฏิบัติการติดอาวุธนอกกฎหมาย" ที่มีเป้าหมายมาที่ขบวนการประชาธิปไตยโดยเฉพาะ นอกจากนั้นก็มี "กลุ่มนวพล" อันเป็นองค์การจัดตั้งที่ว่ากันว่ามีเส้นสายโยงใยกับหน่วยงานจารกรรมของประเทศจักรวรรดินิยมใหญ่ฝ่ายตะวันตก สำหรับองค์การจัดตั้งฝ่ายขวาที่มีลักษณะกว้างขวางมากที่สุดคือ "กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน" ที่จัดตั้งและดำเนินงานโดยหน่วยงานทางราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งเน้นการโฆษณาชวนเชื่อว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาเป็น "คอมมิวนิสต์" และมีเป้าหมาย "ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์"

และภายใต้การปลุกปั่นสร้างสถานการณ์โดยขบวนการขวาจัด ที่ (ดูเหมือนว่า) มีส่วนในการนำโดยหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ (?) ทั้งหลาย นำไปสู่ชนวนเหตุในเหตุการณ์ 6 ตุลา อันเป็นการก่อจลาจลและใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงการลอบเดินทางกลับเข้ามาของสามเณร ถนอม กิตติขจร (อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวโจก "สามทรราช" ที่ถูกบังคับให้ลาออกและเดินทางออกนอกประเทศไปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเข้าอุปสมบทท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร) บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ตัวเลขที่เป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต เป็นศพถูกเผา ระบุเพศไม่ได้ 4 คน, เป็นศพชายไทยไม่ทราบชื่อ 6 คน, ผูกคอตายขณะเป็นผู้ต้องหา 1 คนคือ นายวันชาติ ศรีจันทร์สุข คงเหลือเป็นศพที่ระบุชื่อได้ จำนวน 30 คน และมีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคมนั่นเอง คณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น.

วันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

เป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร.

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 19-25 กรกฎาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8