Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (10)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (10)

พลเอกเกรียงศักดิ์และคุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์ กับ ประธานาธิบดีจิมมีและโรซาลีนน์ สมิธ คาร์เตอร์

10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ทันทีที่ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2520 ที่มี 32 มาตรา ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 พร้อมกับประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร?) รวมเวลาของการประกาสและมีผลบังคับใช้ปกครองประเทศ 1 ปี 1 เดือน 13 วัน ในสมัยของรัฐบาลเพียงคณะเดียว โดยมี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (สมัยที่ 1 ซึ่งไม่ได้มาตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย) เป็นนายกรัฐมนตรี

ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เตรียมใช้อย่าง "ถาวร" อีกครั้งหนึ่งนี้ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นชุดหนึ่ง มีนายจิตติ ติงศภัทย์ อดีตผู้พิพากษาและศาสตราจารย์ทางกฎหมายคนสำคัญเป็นประธาน มีกรรมาธิการสำคัญหลายคน เช่น จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่อยู่ก่อนการยึดอำนาจการปกครองเมือวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึง 6 คน รวมทั้งสองพี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489 คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังประกอบด้วยนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง อาทิ นายกมล วรรณประภา อดีตอธิบดีกรมอัยการ, นายอมร จันทรสมบูรณ์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทางฝ่ายอาจารย์มหาวิทยาลัยก็มีปรมาจารย์ทางรัฐธรรมนูญอย่าง นายไพโรจน์ ชัยนาม และนายกระมล ทองธรรมชาติ และยังมีอดีตทูต คือ นายกันธีร์ ศุภมงคล และนางแร่ม พรหโมบล หรือคุณหญิง นางแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ เนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทยอีกด้วย

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ซึ่งมีจำนวน 206 มาตรา สิ่งที่สังคมการเมืองไทยจับตามองก็คือ ซึ่งก็คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีเพียง "กลุ่ม (การเมือง)" เท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่มีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองออกมาแทนที่ฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปจากการยึดอำนาจ

ผลของการเลือกตั้ง ปรากฏว่า กลุ่ม (พรรค) ประชากรไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ถอดด้ามที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา โดย นายสมัคร สุนทรเวช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (20 เมษายน พ.ศ. 2519 - 23 กันยายน พ.ศ. 2519) และในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520) ตามลำดับ และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ประสบความสำเร็จชนิดพลิกความคาดหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้รับเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ถึง 29 ที่นั่ง จากทั้งหมด 32 ที่นั่ง โดยเหลือให้แก่ พันเอก ถนัด คอมันตร์ จากกลุ่ม (พรรค) ประชาธิปัตย์, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายเกษม ศิริสัมพันธ์ จากกลุ่ม (พรรค) กิจสังคม เพียง 3 ที่นั่งเท่านั้น ในขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศจากทั้งเสียงหมดในสภาผู้แทนราษฎร 301 เสียง กลุ่ม (พรรค) กิจสังคม ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 88 ที่นั่ง ตามมาผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดกลุ่ม (พรรค) การเมืองใด ได้ทั้งสิ้น 63 ที่นั่ง, กลุ่ม (พรรค) ชาติไทย 52 ที่นั่ง, กลุ่ม (พรรค) ประชาธิปัตย์ 35 ที่นั่ง และกลุ่ม (พรรค) ประชากรไทย 32 ที่นั่ง ฯลฯ

จึงไม่มีกลุ่ม (พรรค) การเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง และโดยที่รัฐธรรมนูญที่ไม่บทบัญญัติว่านายกรัฐมนตรี "ต้อง" มาจากพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ "ใครก็ได้" ที่สามารถหาเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร (ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการรัฐประหาร) จะได้รับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" นั่นคือในการการประชุมรัฐสภาเพื่อหยั่งเสียงสนับสนุนบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ได้มีผู้สนับสนุนให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เดิมชื่อ สมจิตร) เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 311 เสียง ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มาจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 12 พฤษภาคม จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นสมัยที่ 2 ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกันกับครั้งแรก แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบันว่า "นายกฯ คนนอก" นั่นเอง

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยชนะการเลือกตั้งมาก่อนหน้านั้นถึง 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เคยได้รับการเลือกตั้งมาทั้งหมด ก็เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศจากที่เคยได้มากถึง 114 คน ในปี พ.ศ. 2519 แต่ครั้งนี้เหลือเพียง 35 คนเท่านั้น เป็นผลให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคซึ่งไม่ได้ลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ลาออกพร้อมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด เพื่อรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมา ผู้ที่รับได้เลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค คือ พันเอกถนัด คอมันตร์ สมาชิกพรรคผู้ได้รับเลือกตั้งมาเพียงคนเดียวเท่านั้นของกรุงเทพมหานคร และ ม.ร.ว.เสนีย์ ก็ได้ถือโอกาสนี้วางมือจากการเมืองจากนั้นเป็นต้นมา

นอกจากนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ มีฐานเสียงที่สำคัญในรัฐสภาจากสมาชิกวุฒิสภา โดยสมาชิกในคณะรัฐบาลที่เป็นผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้มีที่มาจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองใหญ่ในเวลานั้น (ตามรัฐธรรมนูญ 2521 ไม่มีพรรคการเมืองจดทะเบียน) เท่ากับเป็นรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองในระดับค่อนข้างต่ำ

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงปีเศษ จึงพ้นจากตำแหน่งด้วยการ "ลาออกกลางสภา" ในวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 และผู้ได้รับมติเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรก

อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 นี้ใช้อยู่นานเป็นอันดับที่ 2 ของไทย คือเป็นเวลากว่า 12 ปี จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะทหารประจำการคณะใหม่ที่เรียกตนเองว่า "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ก็ยึดอำนาจล้มรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญที่มี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับรัฐธรรมนูญที่ใช้นานที่สุดคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" และรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ) ฉบับนี้ ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วัน มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด

ส่วนสาเหตุของการยกเลิก เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มาเป็นเวลานานนาน ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ทั้งนี้นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง (โดยอ้อม).

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 9-15 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8