Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (13)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (1)

ดร.ซุนยัตเซน ผู้ได้รับสมญานามว่า "บิดาของชาติ" ผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยจีน ด้วยการเสนอ"ลัทธิไตรราษฎร์" หรือ "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" ("ซามิ่นจูหงี")

11. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2521 (ต่อ) ในขณะเดียวกัน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างปฏิบัติราชการยังสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เร่งเดินทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 9 กันยายนนั้นเอง และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส โดยทันที นั่นหมายถึงรับบาลบสามารถปราบปรามความพยายามในการยึดอำนาจได้สำเร็จแล้วเข้าควบคุมสถานการณ์ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นให้การยึดอำนาจกลายเป็นเพียง "กบฏ"

เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พันเอกมนูญ รูปขจร และ นาวาโทมนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน

จากความพยายามทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2528 จนถึงปี พ.ศ. 2531 เป็นอันว่า พลเอกเปรมสามารถรักษาอำนาจการปกครองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง กระทั่งประกาศยุบสภาในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531

นอกจากการก่อกบฏถึงสองครั้งในระหว่างการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยนับจากการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือ "การประกาศยุติการลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ซึ่งต้องนับเป็นบริบทสำคัญของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยที่จำเป็นต้องศึกษาไม่มากก็น้อย

(บทคัดแยก)
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห้งประเทศไทย (1)

สังคมการเมืองไทยรับรู้การเกิดขึ้นและมีอยู่ของอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์มาแล้วก่อนการอภิวัฒน์สยาม จากความล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟแห่งจักรวรรดิรัสเซียเก่าโดย "การปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917" โดย "พรรคบอลเชวิค" หรือที่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย" ภายใต้การนำของ วี.ไอ. เลนิน อันส่งผลสะเทือนไปสู่การปกครองทั้งในระบอบราชาธิปไตยและระบอบสาธารณรัฐทุนเสรีนิยมทั้งในทวีปยุโรปและในขอบเขตทั่วโลกรวมทั้งในราชอาณาจักรสยามในเวลานั้นด้วย

เริ่มจากภายหลังหลังการอภิวัฒน์สยามเพียงในเวลาไม่ถึง 1 ปี มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาสู่การเมืองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงทุกวันนี้ คือ มีความเห็นหลายฝ่ายมองว่า "สมุดปกเหลือง" ("เค้าโครงเศรษฐกิจ" ที่มีการปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ประกาศออกมาเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2476 อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.pridi-phoonsuk.org/outline-economic-plan-1932/) นั้นมีลักษณะเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ ถึงกับมีการเผยแพร่ข้อกล่าวหากันอย่างแอพร่หลายว่า "ถ้านายปรีดีไม่ลอกมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดี" (โจเซฟ สตาลิน เป็นผู้รัฐพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียและผู้นำสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ในเวลานั้น) กระทั่งก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเองและบรรดาข้าราชการ พระยาทรงสุรเดช ชักนำพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน สนับสนุนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี แต่ในส่วนของบรรดานายทหารคณะราษฎรส่วนใหญ่รวมทั้ง พระยาพหลพลพยุหเสนา ยังคงให้การสนับสนุนนายปรีดีอยู่

ภาวการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ "การรัฐประหารเงียบ" หรือการรัฐประหารครั้งแรกในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 (ยังถือเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ตามแบบจันทรคติเดิมของไทย) เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งการไม่ระบุว่างดใช้มาตราใดบ้าง ทำให้สามารถกินความไปได้ว่าเป็นการยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีก็เร่งดำเนินการในลักษณะคุกคามผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามในทางการเมือง เริ่มจากการการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 2 เมษายน ตามมาด้วยคำสั่งชนิดสายฟ้าลงวันที่ 10 เมษายนให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ไปดูงานที่ฝรั่งเศส พร้อมค่าใช้จ่ายปีละ 1,000 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นคำสั่งเนรเทศนั่นเอง

อันที่จริง มีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล หรือขบวนการคอมมิวนิสต์เอเชียสองประเทศที่เป็นหลักในการเผยแต่อุดมการณ์ (ลัทธิ) ภายหลังการปฏิวัติรัสเซียและช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งแล้ว โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการขบวนการเอกราชหรือปลดปล่อยตนเองจากการยึดครองและอิทธิพลของชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมเก่าซึ่งมีอิทธิต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกมานานหลายร้อยปี ได้แก่ อังกฤษ (ในอินเดีย, พม่าและมลายู) และฝรั่งเศส (ในกลุ่มประเทศอินโดจีน คือ เวียดนาม, ลาว และกัมพูชา) ซึ่งอาจรวมไปถึงฮอลันดา (ในอินโดนีเซีย) และสเปน (ในฟิลิปปินส์)

สำหรับการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์สยาม-ไทย มีที่มาจากการเคลื่อนไหวและนำไปสู่การจัดตั้งพรรคขั้นพื้นฐานของคน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นชาวเวียดนามชาตินิยมที่เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยและได้อาศัยประเทศไทยเป็นฐานในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเอกราช ผู้นำที่สำคัญคือ ดังทักหัว และ หวอตุง โดยมีจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงาน นับจากปี พ.ศ. 2472 โฮจิมินห์ ในฐานะตัวแทนองค์กรคอมมิวนิสต์สากลได้เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 โฮจิมินห์ได้กลายเป็นตัวแทนในการประสานกลุ่มคอมมิวนิสต์จีนและคอมมิวนิสต์เวียดนามในสยามเพื่อร่วมกันจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้น

กลุ่มที่สองคือชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำงานในสยามตั้งแต่หลังสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. 2398 ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2450 เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนจีนในสาธารณรัฐจีนในการต่อต้านการปกครองของรางวงศ์ชิงและการเข้ามาถือครองผลประโยชน์ของมหาอำนาจตะวันตกทั้งเก่าและใหม่ กระทั่งความตื่นตัวนั้นส่งผลสะเทือนมาถึงชาวจีนในสยาม ความคิดที่ว่ามี 2 สาย สายแรกคือ "ลัทธิไตรราษฎร์" หรือ "หลัก 3 ประการแห่งประชาชน" ("ซามิ่นจูหงี") ที่เสนอโดน ดร.ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัติประชาธิปไตยจีน ซึ่งประกอบด้วย
1. หลักประชาชาติ คือการให้ความเสมอภาคและยกเลิกการแบ่งแยกกีดกันทางเชื้อชาติ ซึ่งเดิมราชวงศ์ชิงให้อภิสิทธิแก่คนแมนจู ในขณะที่กดสิทธิของชาวฮั่นไว้ต่ำที่สุด โดยวางชนชาติอื่นไว้ระหว่างกลางลดหลั่นกันไปตามระดับความสัมพันธ์กับราชสำนัก 
2.หลักประชาสิทธิ คือการทำตามหลักการปกครองโดยประชาชน โดยผ่านกลไกทางรัฐธรรมนูญแบบตะวันตก ที่กำหนดให้เสียงข้างมากของตัวแทนประชาชนในสภาเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเริ่มต้นจากสมัชชาแห่งชาติ โดยต้องประกันสิทธิพลเมืองให้แก่ประชาชน สิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิในการลงประชามติ สิทธิในการเสนอกฎหมาย สิทธิในการยับยั้งกฎหมาย เป็นต้ 
3.หลักประชาชีพ คือการที่มุ่งให้ประชาชนได้กินดีอยู่ดีมีสวัสดิการ มีความมั่นคงในชีวิต และมีปัจจัยในการดำรงชีวิตอย่างไม่บกพร่อง ซึ่งมีสี่ประการ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม แต่แล้ว ดร.ซุนยัตเซ็น เสียชีวิตลงก่อนที่จะถ่ายทอดแนวคิดตามหลักการข้อนี้อย่างเป็นรูปธรรม
(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 30 สิงหาคม-5 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8