Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (16)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
ว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (4)

ผู้นำคอมมิวนิสต์ไทย-จีน จากซ้ายไปขวา สวมแว่นตา ประเสริฐ เอี้ยวฉาย, ถัดมา เจริญ วรรณงาม หรือ มิตร สมานันท์, เติ้งเสี่ยวผิง ยืนกลาง, ทรง นพคุณ หรือ ประสงค์ วงศ์วิวัฒน์, ขวาสุดคือ เผิงเจิน ผู้นำอาวุโสพรรคฯจีน

การเกิดขึ้นและพัฒนาการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อนกึ่งพุทธกาล (ต่อ)

ผลจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย คือ ท่าทีของคณะรัฐประหารและกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีต่อฐานะการดำรงอยู่ในทางการเมืองของขบวนการเสรีไทยก็เต็มไปด้วยความระแวงอย่างเห็นได้ชัด แต่เนื่องจากในช่วงแรกของการยึดอำนาจ กลุ่มอดีตเสรีไทยที่สนับสนุนนายปรีดียังไม่ถูกปราบปรามลงในทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารจำเป็นต้องจัดการปัญหาอำนาจทับซ้อนในกองทัพให้เป็นเอกภาพและอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งต้องการฟื้นบทบาทของฝ่ายที่นิยม จอมพล ป. พิบูลสงคราม อันเนื่องมาจากถูกลดความสำคัญภายหลังสงครามกลับคืนมา

การดำเนินการขั้นแรกที่ต้องนับว่าเป็นการเพิกเฉยต่อปฏิกิริยาจากมหาอำนาจตะวันตกที่ร่วมอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงคราม คือการแต่งตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งการ "ปูนบำเหน็จ" คณะรัฐประหาร ที่ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทณฑลทหารบกที่ 1 พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ โอนย้ายไปเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ แม้ว่า พล.ท.ชิด มั่นศิลปสินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะไม่เห็นชอบ และด้วยสถานภาพนี้เองที่ในเวลาต่อมา พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ใช้เป็นฐานเริ่มต้นในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามตลอดระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่รัฐประหาร 2490

เมื่อคณะรัฐประหารสามารถรวบอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การกวาดล้างพลพรรคเสรีไทยสายนายปรีดี พนมยงค์ ก็เปิดฉากขึ้น โดยอาศัยอำนาจตาม "พระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุขเพื่อให้การดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490" (โดยให้อำนาจแก่คณะรัฐประหารเพื่อกวาดล้างจับกุมคุมขัง "บุคคลอันมีเหตุผลสมควรสงสัยว่าจะขัดขวางการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน") อาทิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกจับกุมพร้อมพรรคพวกรวม 21 คนในข้อหาครอบครองอาวุธโดยมิชอบ จับกุมนายจำลอง ดาวเรือง และนายทอง กันฑาธรรม ในข้อหาฆ่าคนตาย จับกุมนายวิจิตร ลุลิตานนท์ และนายทองเปลว ชลภูมิ ในข้อหาฉ้อราษฎร์บังหลวง ทว่าก็ต้องปล่อยตัวไปทั้งหมดในเวลาต่อมาเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีการติดตามพฤติการณ์ของอดีตนักการเมือง-เสรีไทย เช่น นายอ้วน นาครทรรพ, นายพึ่ง ศรีจันทร์, ร.ท.กระจ่าง ตุลารักษ์, นายทิม ภูริพัฒน์, และนายเยื้อน พานิชย์วิทย์ ฯลฯ

ส่วนผู้ที่ยังไม่ถูกจับกุม นั้น ก็พยายามแสวงหาหนทางที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ ได้รวบรวมกำลังอาวุธและพลพรรคหลบหนี ไปซุ่มซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาภูพานเป็นผลสำเร็จ ซึ่งจะโดยมีการวางแผนไว้ห่อนหรือไม่อย่างไร ในที่สุดกลุ่มที่รอดผลจากการกวาดล้าง ปราบปราม จับกุม ภายใต้นโยบาย "สลายและทำลาย" ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก็เข้าร่วมกับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

นอกจากนั้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  นายทรง นพคุณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคฯ คนสำคัญและมีส่วนบุกเบิกก่อตั้งกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ร่วมกับ นายวิรัช อังคถาวร (จางเยวี่ยน)ได้ชักชวนให้อัยการหนุ่ม 2 คนในกรุงเทพฯ คือ นายอัสนี พลจันทร์ (นายผี) และ นายมาโนช เมธางกูร (ประโยชน์) อดีตอัยการ ให้เข้าร่วมขบวนการด้วย รวมถึง พ.ท.พโยม จุลานนท์ (บิดา พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์) ซึ่งในช่วงแรกรับคำสั่งจากรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ให้นำทหารไปร่วมรบร่วมกับทหารญี่ปุ่นที่เชียงตุง ประเทศพม่า และพาทหารรอดชีวิตกลับมาบางส่วน ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่จังหวัดสงขลา ต่อมาพรรคฯ ส่ง พ.ท.พโยมไปศึกษาการเมืองการทหารที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน แล้วเมื่อเดินทางกลับมาอย่างลับๆ กลายเป็นแกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งดำรงตำแหน่งในฐานะเสนาธิการหรือผู้บัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)

ต่อมาวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งคณะทหารแห่งชาติ "แต่งตั้ง" ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490  โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน พร้อมกับคณะทหารแห่งชาติได้ตั้ง "คณะรัฐมนตรีสภา" และจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน) ถูกคณะทหารแห่งชาติ "จี้" ให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า "การรัฐประหารเงียบ" นำไปสู่การกลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และอยู่ในตำแหน่งยาวถึง 9 ปี นับเป็น "นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด" ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเอง จึงได้รับฉายาในช่วงที่ยังไม่หลุดจากอำนาจว่า "นายกฯตลอดกาล"

การรัฐประหารครั้งนี้มีผลต่อการขจัดกลุ่มพลังทางการเมือง ทั้งในคณะราษฎร (ทั้งพลเรือนและทหารบางส่วน) และในขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ ที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ให้หมดบทบาทจากเวทีการเมือง เป็นเหตุให้นายปรีดีต้องขอลี้ภัยการเมืองยังต่างประเทศไม่อาจกลับมาประเทศไทยได้อีกเลยตราบจนสิ้นชีวิต แม้ผู้สนับสุนนายปรีดีที่เรียกตนเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492" จะพยายามก่อการยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2492 ก็ไม่สำเร็จจนตกเป็นผู้ต้องหาในคดี "กบฏวังหลวง" รวมทั้งตัวนายปรีดีเอง ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ด้วย ซึ่งต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เลิกเล่นการเมืองไปแล้วได้หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง และอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานถึง 9 ปี ด้วยกัน

หลังจากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ถูกรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการกวาดล้าง ปราบปรามจับกุมเป็นการใหญ่ จึงเคลื่อนไหวออกจากเมืองเข้าสู่ป่า จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ และดำเนินการต่อต้านอำนาจรัฐรุนแรงขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลต้องประกาศใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 ซึ่งมีนิยามที่กว้างขวางมากขึ้น จนแทบจะเป็น "กฎหมายครอบจักรวาล" สำหรับใช้จัดการกับผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ โดยเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงกว่าเดิม เช่น โทษจำคุกเป็น 10 ปีจนถึงตลอดชีวิต จากเดิมที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 กฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขมาเป็นระยะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปกครองเผด็จการทหาร ให้อำนาจในการปราบปราม กักขังโดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาได้นานกว่าปรกติ อาจกล่าวได้ว่านอกจากจะใช้เพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขต และปิดกั้นไม่ให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพโดยเฉพาะในการเขียนและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน (รู้จักกันในนาม "กฎหมายปราบประชาธิปไตย").

(ยังมีต่อ)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 20-26 กันยายน 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8