Article  :  Political   :  Forum  :  Facebook  :  Youtube

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย (9)

สังเขปประวัติศาสตร์การเมืองยุคใกล้ของไทย
การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง (9)

พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่  หัวหน้าคณะรัฐประหารคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่เป็นทหารเรือ

9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเลือกตั้งเมือ่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และเป็นผู้แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง ก็ทำ รัฐประหาร (ซ้ำ-ไม่ใช่ซ้อน) อีกครั้งหนึ่ง และแต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 มีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ซึ่งมีผลต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยกรณีแรกเกิดขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 กันยายน ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเยี่ยมราษฎรที่ จังหวัดปัตตานี เมื่อรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่านทางแยกกองร้อยหน่วยปฏิบัติการพิเศษ จังหวัดนราธิวาส รถจักรยานยนต์ที่มีพลตำรวจ อำนวย เพชรสังข์ สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นผู้ขับขี่ ได้แล่นเข้าชนรถพระที่นั่งที่บังโกลนด้านซ้ายเสียหายเล็กน้อย ส่วนรถจักรยานยนต์ล้มลงและเกิดเพลิงไหม้ ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายได้รับบาดเจ็บ และในวันถัดมาคือวันที่ 22 กันยายน มีการวางระเบิดประกอบเอง ในบริเวณสนามโรงพิธีช้างเผือก จังหวัดยะลา ใกล้เคียงกับปะรำพิธีที่ประทับ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้าน

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกระแสโจมตีรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสื่อสารมวลชนและจากประชาชนทั่วไป ว่าไม่สามารถถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง ประกอบกับการดำเนินนโยบาย "ขวาจัด" ของนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ดูเหมือนจะ "ปฏิเสธ" ความเห็นหลายประการของคณะปฏิรูปฯ จนนำไปสู่ความไม่พอใจในการปกครองในรูปเผด็จการของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย" ที่เขียนโดยโดยนายธานินทร์เอง แล้วจัดพิมพ์แจกจ่ายทั่วประเทศ ประกาศโครงการพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปีดังได้กล่าวมาแล้ว อีกทั้งยังกำหนดนโยบายต่างประเทศที่ประกาศตัวไม่สัมพันธ์กับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ อันเป็นการวางตัวโดดเดี่ยวจากเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่เพิ่งปลดแอกจากการยึดครองและแทรกแซงโดยมหานำนาจจักรวรรดินิยมหรือนักล่าอาณานิคมสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

การยึดอำนาจ (ตัวเอง?) โดยคณะนายทหาร หรือ "เปลือกหอย" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นอันสิ้นสุด "รัฐบาลหอย" นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งก่อนอื่น ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2519 และได้ประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 พร้อมกับทูนเกล้าฯถวายชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมนะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 นับจากปี 2475 พร้อมกับรัฐมนตรีร่วมคณะ 31 คน

ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับชั่วคราว กำหนดให้มี

(1) สภานโยบายแห่งชาติ ซึ่งพล.ร.อ.สงัดเป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรรมการประกอบไปด้วยบุคคลในคณะรัฐประหารนั่นเอง มีหน้าที่กำหนดนโยบายแห่งชาติและแนวทางบริหารแผ่นดินให้แก่รัฐบาล โดยที่ธรรมนูญ ฯลฯ กำหนดให้มีรัฐสภาเพียงสภาเดียว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิก 360 คน มาจากการแต่งตั้ง มีหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญและออกกฎหมาย คณะปฏิวัติมีความมุ่งหมายที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2521 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน

(2) สภานโยบายแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลในคณะปฎิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 6 ลงวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เป็นสมาชิก โดยบัญญัติขอบเขตอำนาจหน้าที่และที่มาไว้ ดังนี้
มาตรา 17 ให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ประกอบด้วยบุคคลในคณะปฏิวัติตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 6 ลง วันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 เป็นสมาชิก
ให้หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นประธานสภานโยบายแห่งชาติ รองหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นรองประธานสภานโยบายแห่งชาติ และให้สภานโยบายแห่งชาติแต่งตั้งสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติ เป็นเลขาธิการสภานโยบายแห่งชาติคนหนึ่ง และรองเลขาธิการสภานโยบายแห่งชาติคนหนึ่ง ฯลฯ 
ในกรณีที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานสภานโยบายแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ และในกรณีที่ประธานและรองประธานสภานโยบายแห่งชาติไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้สมาชิกสภานโยบายแห่งชาติเลือกสมาชิกคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานสภานโยบายแห่งชาติ 
มาตรา 18 สภานโยบายแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ และให้ความคิดเห็นแก่คณะรัฐมนตรีเพื่อ ให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครองนี้ 
มาตรา 19 ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับนโยบายสำคัญ หรือเมื่อนายกรัฐมนตรีขอให้พิจารณาปัญหาใด ประธานสภานโยบายแห่งชาติจะเสนอปัญหานั้นให้ที่ประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาวินิจฉัยก็ได้ และเมื่อที่ประชุมร่วมมีมติเป็นประการใดแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น 
ในการประชุมร่วมตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานสภานโยบายแห่งชาติทำหน้าที่ประธาน และให้นำความในวรรคสามของ มาตรา 17 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 
มาตรา 20 ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี ประธานสภานโยบายแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และสภานโยบายแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่คณะรัฐมนตรี
ส่วน "หัวใจ" ของความเป็น "รัฏฐาธิปัตย์" ปรากฏอยู่อย่างเต็มบริบูรณ์ในมาตราสุดท้ายของธรรมนูญการปกครองฯ ยังเขียนไว้มีลักษณะเป็น "แม่แบบ" (แบบฉบับของระบอบเผด็จอำนาจ) ไว้ว่า
มาตรา 32 บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของ หัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติ ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
หัวหน้าคณะปฏิวัติ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า "ตำแหน่ง" ของ "ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" ไม่ใช่ "หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" แต่ใช้ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" เช่นที่ใช้มาแล้วในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพล ถนอม กิตติขจร.

(ยังมีต่อ)

พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข 2-8 สิงหาคม 2557
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ร่วมสนับสนุนการเขียนและเผยแพร่ความคิด และกิจกรรมได้โดยโอนเงินไปที่

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส วังหิน
ชื่อบัญชี วัฒนา สุขวัจน์
บัญชีเลขที่ 986-2-87758-8